xs
xsm
sm
md
lg

‘อัล กอร์’ เตือนวิกฤตโลกร้อนจะรุนแรงและถี่มากขึ้น! ย้ำผู้นำธุรกิจ-นักลงทุน คือกลไกยับยั้งสู่การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คำต่อคำ ปาฐกถาโดย มร.อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 ผ่านวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ งาน สัมมนาออนไลน์ Sustainability Revolution: A Call for Action โดย KBank Private Banking เมื่อ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ตอกย้ำถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอันเกิดจากมนุษย์ที่จะต้องได้รับความร่วมมือโดยด่วน มิเช่นนั้นหายนะของโลกคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก

ขอขอบคุณผู้ร่วมจัดงานในวันนี้ อย่างคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และมร. ฮูเบิร์ต เฮลเลอร์ Managing Partner ของ Lombard Oldier Group รวมถึงแขกผู้มีเกียรติทุกท่านด้วยครับ

นับเป็นความยินดีเหลือเกินที่ได้มาพบกับทุกท่านในวันนี้ครับ ขณะนี้เป็นช่วงเช้าของรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา แต่เป็นวันที่มีความผิดปกติในหลายด้าน เพราะพายุเฮอร์ริเคนขนาดใหญ่กำลังมุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งระหว่างเท็กซัสกับหลุยเซียน่า และในขณะนี้ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ มีพื้นที่กว่า 360 จุดที่กำลังเกิดไฟป่าอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และเนวาด้า

ที่อื่นในโลกก็มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันที่เป็นผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผมก็คงจะไม่ใช้เวลาจะเล่าให้ทุกท่านฟัง เว้นแต่จะบอกว่า เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายขึ้นเรื่อยๆ เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องตระหนักแล้วครับว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างวิถีที่เราใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันและระบบนิเวศของโลก

สิ่งที่เปราะบางที่สุดของระบบนิเวศวิทยาก็คือชั้นบรรยากาศโลกครับ เพราะว่ามันบางมาก หากเรามองท้องฟ้าในวันที่ไม่มีเมฆ จะเหมือนว่าท้องฟ้านั้นไม่มีที่สิ้นสุด แต่ภาพถ่ายจากนักบินอวกาศที่มองเห็นโลกจากอวกาศชี้ให้เห็นว่า ชั้นบรรยากาศของโลกจริงๆ เป็นอย่างไร มันเป็นเพียงแผ่นบางๆ เหลืออยู่ไม่มากเลยนะครับที่ล้อมโลกไว้ 

และเรากำลังใช้แผ่นบางๆ ของชั้นบรรยากาศโลกเป็นที่ทิ้งขยะขนาดใหญ่ สำหรับของเสียกว่า 150 ล้านตันจากมลพิษซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เราสร้างขึ้นทุกวัน ทั้งโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์เหล่านี้ รวมถึงก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ แต่หลักๆ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ สามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศโลกเป็นร้อยปีโดยเฉลี่ย โมเลกุลเหล่านี้ก็สะสมมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว และปริมาณโดยรวมของก๊าซกักเก็บความร้อนที่เราปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ตอนนี้ได้กักเก็บความร้อนส่วนเกินเทียบเท่ากับความร้อนที่ปล่อยออกจากการที่มีระเบิดปรมาณู 500,000 ลูกแบบเดียวกับที่ฮิโรชิมาระเบิดในชั้นบรรยากาศทุกๆ วัน

นั่นหมายถึง อุณหภูมิของโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็นอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์มาหลายครั้งแล้ว ปี 2019 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา 5 ปี ที่ร้อนที่สุดก็คือ 5 ปีที่ผ่านมา 19 ใน 20 ปีที่ร้อนที่สุดที่เคยวัดมาก็คือปี 2001 เป็นต้นมา และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้บอกเรา เมื่อตอนปลายเดือนสิงหาคมนี้ว่า มีโอกาส 70% ที่ปีนี้จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดที่เคยเก็บข้อมูลมา และมีโอกาสว่า ปีถัดไปก็จะเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ต่อไปเรื่อยๆ

ประมาณ 93% ของปริมาณความร้อนส่วนเกินนี้ได้ถูกมหาสมุทรกักเก็บเอาไว้ และได้ทำให้วัฏจักรของน้ำเกิดความแปรปรวน เพราะน้ำในมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นก่อให้เกิดการระเหยของน้ำเพิ่มขึ้น เสมือนมีแม่น้ำอยู่บนชั้นบรรยากาศและได้พัดความชื้นเข้าไปในภาคพื้นดิน ก่อให้เกิดพายุและฝนตกอย่างหนัก นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับเรียกว่า ระเบิดฝน เลยทีเดียว 

มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นยังก่อให้เกิดพายุไต้ฝุ่น ไซโคลน และเฮอร์ริเคนที่รุนแรงขึ้น และยังส่งผลให้เกิดพายุขนาดใหญ่และรุนแรงจำนวนมากขึ้น แบบที่กำลังจะเข้าสู่ชายฝั่งของเท็กซัสภายในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้

ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่พายุที่รุนแรง และฝนที่ตกหนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงมากกว่าเดิมเท่านั้น แต่ความร้อนส่วนเกินนี้ยังส่งผลกระทบต่อการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ที่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกด้วย และแน่นอน พื้นที่ที่มีความสำคัญที่สุด ก็คือ กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกา

เมื่อพื้นที่ที่มีน้ำแข็งปกคลุมละลาย ก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ก็มีภูมิภาคอื่นที่เสี่ยงไม่แพ้กัน เช่น มหานครนิวยอร์ค ในประเทศของผม และเมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา เราจะพบว่า ประเทศที่เป็นเกาะและมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมีความเปราะบางมาก แต่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ อย่างเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น บริเวณตอนเหนือของอ่าวเบงกอล และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ พื้นที่เหล่านี้ต้องรับมือกับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศซึ่งจำต้องย้ายถิ่นฐานออกจากภูมิลำเนาของตน


อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ยังทำให้เกิดภัยแล้งเพิ่มขึ้น และก็ได้เกิดขึ้นแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ รวมถึงทั่วโลก อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และการขาดแคลนน้ำสะอาดในหลายๆ พื้นที่ของโลก

ผมสามารถเล่ารายละเอียดของผลกระทบที่ร้ายแรงให้ทุกท่านฟังได้ แต่ผมอยากจะขอเล่าถึงข่าวดีบ้าง เพราะว่าเรามีโซลูชันในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในมือเราแล้ว สิ่งที่เราต้องการก็คือ เจตจำนงที่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่จำเป็น เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และนี่คือสิ่งที่นักลงทุนและผู้นำธุรกิจสามารถมีบทบาทสำคัญได้

ข้อตกลงปารีสซึ่งได้มีการลงนามในปี 2015 โดย 195 ประเทศทั่วโลกถือเป็นก้าวที่สำคัญมาก แม้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันนั้นได้ถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงแล้ว แต่จริงๆแล้ว ทำไม่ได้ในเชิงกฎหมาย จนกว่าจะผ่านไป 1 วันหลังจากการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนปีนี้ ในอีกไม่นาน และถ้ามีประธานาธิบดีคนใหม่ เขาก็สามารถแจ้งความจำนงและภายใน 30 วัน สหรัฐฯ ก็จะสามารถกลับเข้าไปอยู่ในข้อตกลงได้

แต่ในระหว่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงทำหน้าที่อยู่ ผู้นำของรัฐขนาดใหญ่ และอีกหลายร้อยเมืองใหญ่ ก็ยังคงมุ่งสู่เป้าหมายของข้อตกลงปารีส และบทบาทของภาคธุรกิจและนักลงทุนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะลูกค้าจำนวนมากของผู้จัดการสินทรัพย์มีความกังวลเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรต้องกังวลนะครับ คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรลดการลงทุนในบริษัทที่ก่อให้เกิดปัญหา ด้วยการขุดเจาะน้ำมันและเผาผลาญเชื้อเพลิงสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสดีๆ อื่นอีกไหมในการแสวงหาผลตอบแทน ด้วยการเร่งการเปลี่ยนผ่านตรงนี้


ตามที่ผมได้เรียนไปว่า เรามีวิธีครับ และผู้นำธุรกิจก็เป็นผู้พัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ และนักลงทุนก็เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนด้วย พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างหนึ่งนะครับ รวมถึงพลังงานลมด้วย

บางคนอาจจะไม่ทราบว่าในปี 2019 ถ้าลองดูแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีที่แล้ว มีถึง 80% ที่เป็นการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เราอาจเคยได้เห็นราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุด เราได้เห็นการล่มสลายของตลาดถ่านหินในหลายประเทศทั่วโลก และเราก็ได้เห็นการลดลงของการใช้งานก๊าซธรรมชาติเช่นกัน นั่นเป็นเพราะการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมนั้นมีราคาถูกลงอย่างต่อเนื่อง และอย่างรวดเร็วด้วยครับ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา มีไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ถูกกว่าน้ำมันและถ่านหิน คิดเป็นแค่ 1% ของโลกเท่านั้น 

แต่ในปีนี้ ถือว่ามีราคาถูกกว่าในเกือบ 80% ของโลก และเชื่อว่า อีก 5 ปีข้างหน้า ก็จะถูกกว่าในพื้นที่ 100% ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน รถพลังงานไฟฟ้าก็ได้รับความสนใจมากขึ้น และด้วยราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ลดลงต่อเนื่อง เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า มันจะต้องมาแทนที่รถยนต์แบบสันดาปภายในแน่นอน

มีอีกหลายตัวอย่างของเทคโนโลยีที่โดดเด่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน ที่บริษัท Generation IM และ Lombard Odier เราเชื่อว่าโลกอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะมีความสำคัญไม่แพ้การปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีความรวดเร็วเทียบกับการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

การปฏิวัติครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ แมชชีน เลิร์นนิง และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถที่จะจัดการอิเล็กตรอน อะตอม และโมเลกุล ด้วยประสิทธิภาพแบบเดียวกับที่ธุรกิจไอทีสามารถจัดการข้อมูลต่างๆ ได้


ปัจจุบัน เราสามารถใช้โอกาสจากการปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน ในการลดมลพิษจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม และลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ รวมถึงเริ่มสร้างสมดุลระหว่างอารยธรรมของมนุษย์ และระบบนิเวศของโลกอย่างแท้จริง

ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนี้ได้สำเร็จ เราต้องลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิง เราต้องหันมาพลังงานไฟฟ้าในการเดินทาง เราต้องมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิตเพื่อลดการเกิดของเสีย และเพิ่มการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ใหม่ เรายังต้องเริ่มปฏิวัติภาคเกษตรกรรม ด้วยระบบเกษตรกรรมฟื้นฟู เราสามารถดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศและจัดเก็บไว้ในดิน โดยเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยให้พื้นดินมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศเข้ามาในดินนั้น

ผมเติบโตในไร่ ตอนเด็กๆ ผมได้เรียนรู้ว่า ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดมีสีดำและชุ่มชื้น สีดำนั้นคือคาร์บอนครับ แต่พอเราขุดหน้าดินไปเรื่อยๆ และทำให้ดินสามารถโดนลมและน้ำกัดเซาะได้โดยง่าย ดินจะมีประสิทธิภาพลดลง และทำให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นอีก เราต้องจัดการป่าอย่างยั่งยืนขึ้น และปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เรายังต้องรับฟังคนรุ่นใหม่ คนรุ่น เกรต้า ธุนเบิร์ก ที่เฝ้าบอกพวกเราทุกคนว่า พวกเขาควรมีอนาคตที่สดใส รุ่งเรือง และมีความหวังมากกว่านี้ เราสามารถสร้างอนาคตแบบนั้นได้ เรามีเครื่องมือที่พร้อม เราได้เห็นสัญญาณเตือนชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น คำเตือนเหล่านี้ไม่ได้มาจากนักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มาจากธรรมชาติด้วยเช่นกัน ในรูปแบบของภัยพิบัติจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ผมได้เล่าให้ฟังในตอนต้น


สุดท้ายนี้ ผมขอย้ำอีกครั้งครับว่า ผมเชื่ออย่างยิ่งว่านักลงทุนและผู้นำธุรกิจมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ภาครัฐต้องเปลี่ยนนโยบาย แต่แรงขับเคลื่อนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ การที่ภาคธุรกิจ ภาคธนาคาร และภาคการลงทุน แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ


และผมจะขอจบด้วยแรงบันดาลใจนี้ครับ ใครก็ตามที่เชื่อว่าเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอาจไม่มีศักยภาพ หรือเจตจำนงที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้จำไว้เสมอครับว่า เจตจำนงนั้นเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาครับ



หมายเหตุ มร.อัล กอร์ 


เขาถือว่าเป็นบุคสำคัญที่พยายามสื่อสารไปยังคนทั่วโลกให้ตระหนักในเรื่องภาวะโลกร้อน เขาบรรยายและรณรงค์เป็นวงกว้างทั่วสหรัฐฯ รวมถึงการถ่ายทำเป็นสารคดีที่ได้รับรางวัลออสการ์ จากเรื่องจริงช็อกโลก (An Inconvenient Truth) ว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน และในปี พ.ศ.2550 เขาก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Intergovermental Panel on Climate Change : IPCC)สำหรับ "ความพยายามในการสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเกิดจากมนุษย์ และวางรากฐานสำหรับมาตรการซึ่งจำเป็นสำหรับการบรรเทาสภาวการณ์ดังกล่าว"


หนังสือของ กอร์ ในปี 2550 ที่ชื่อว่า The Assault of Reason ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวโน้มปัจจุบันในการเมืองสหรัฐฯที่มีการตัดสินใจด้านนโยบายโดย เพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ ติดอันดับหนึ่งหนังสือขายดีของนิวยอร์ก ไทม์ส์ (New York Times Bestsellers) ประเภทหนังสือปกแข็งที่ไม่ใช่เรื่องแต่งใน 4 สัปดาห์แรกที่วางจำหน่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น