xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจแถวหน้าผนึกพลัง หนุนGCNTขับเคลื่อนSDGs

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้วิกฤตโควิด-19 จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เราต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีวิกฤติอื่นอีกที่คุกคามมนุษยชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทําที่ขาดความสมดุลของเราเอง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่นําไปสู่ความอ่อนแอของสังคมและความรุนเเรง ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นสาเหตุของสภาวะเรือนกระจก ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ และด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทับถมและรุมเร้ามนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เผชิญมาก่อนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน มลพิษทางอากาศนําไปสู่การเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนต่อปี ประมาณ 1 ล้านสายพันธุ์ของพืชและสัตว์กําลังสูญพันธุ์ และกว่าร้อยละ 50 ของสายพันธุ์ หรือ species ทั่วโลกอาจจะสูญไป ภายในปีค.ศ.2100 หรืออีกเพียง 80 ปีเท่านั้น และอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย หากจะบอกว่า มนุษย์เราอาจสูญพันธุ์ได้ในที่สุด

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ ร่วมกันจัดในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) และครบรอบ 75 ปีสหประชาชาติ (United Nations) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิกของสมาคมฯ ผนึกกำลังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลก ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย
Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การผนึกกำลังของภาคธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDGs ต้องร่วมมือกัน 3 เรื่องสำคัญ คือ การสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

“โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ เราเข้าสู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ ที่เรียกร้องให้การผนึกกำลังกันเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน เชื่อมั่นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ SDGs เป็นจริง และเชื่อในพลังของผู้นำภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างงาน รวมทั้งค้นหาแนวทางที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ก
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อให้ทันในปีค.ศ. 2030 และเมื่อมีวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมเข้ามา ยิ่งก่อให้เกิดความท้าทายยิ่งขึ้นอีก

ด้วยเหตุนี้ เลขาธิการสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ทุกคนทุ่มเทสรรพกําลัง เรียกช่วงเวลาสิบปีข้างหน้าจนถึง ค.ศ. 2030 ว่า “ทศวรรษแห่งการลงมือทําอย่างจริงจัง” หรือ “Decade of Action” ต่างไปจากเดิมที่เราเคยปฏิบัติก่อนวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้โลกสามารถ “ฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม” หรือ “Recover Better”

ในปีนี้ น่าภูมิใจว่าประเทศไทยได้รับ 74.5 จาก 100 คะแนนจากการจัดอันดับความคืบหน้าในการบรรลุ SDGs ตาม Sustainability Development Report ล่าสุดในปี ค.ศ.2020 นี้ นับเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่า ไทยสามารถเป็นผู้นําในการร่วมมือกับสหประชาชาติอย่างจริงจังให้โลกฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม และการที่ไทยสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้สําเร็จ ยังพิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของคนไทยที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ร่วมกันอีกด้วย


“ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายจะเพิ่มสมาชิกให้ได้ถึง 200 องค์กร ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อผสานความร่วมมือด้านความยั่งยืนที่เข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนการเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งอาสาสมัคร นักศึกษา ผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อมาเป็นผู้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทำให้พวกเขาเข้าใจหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบและตระหนักรู้อย่างแท้จริง ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ทุกคนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ ต้องเร่งปรับตัวพัฒนารูปแบบการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การใช้พลังงาน การขนส่งและการบริโภค ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ตลอดจนการปรับและเสริมทักษะแก่พนักงาน ส่งเสริมการศึกษาที่เน้นทักษะสมัยใหม่ เพราะระบบหุ่นยนต์อาจจะทดแทนตําแหน่งงานในสายการผลิตกว่า 20 ล้านตําแหน่ง

สำหรับการแข่งขันในวันนี้ไม่ใช่การแข่งขันในเชิงธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นการแข่งขันเพื่อเอาชนะความท้าทายของมนุษยชาติที่ทุกคนเผชิญอยู่ เพื่อความอยู่รอดของรุ่นลูก หลาน ความอยู่รอดของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นการแข่งกับตัวเองเพี่อไปถึง Zero Carbon ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด Zero Waste พลิกโฉมการผลิตและการบริโภค Zero Hunger และZero Poverty ให้เป็นความจริง ที่ทุกคนมีความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร การศึกษา บริการสาธารณสุข โอกาสในการทํางาน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้ง เอาชนะภัยพิบัติภัยธรรมชาติ และโรคระบาด ไปพร้อมกัน


ในโอกาสนี้ สมาชิกสมาคมฯ ทั้งภาคธุรกิจ สมาคม มูลนิธิและองค์กรไม่แสวงหากําไรจํานวน 21 องค์กร ได้ประกาศเจตนารมณ์โดยแสดงความพร้อมด้วยการวางแผนจะลงทุนใน 998 โครงการ ตั้งแต่ปีนี้จนถึงปีค.ศ.2030 โดยมูลค่าบางส่วนของโครงการเหล่านี้คิดเป็น 1.262 ล้านล้านบาท จะช่วยผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือ Decade of Action นี้

การพัฒนาอย่างยั่งยืนถือเป็นหน้าที่ของทุกคน และควรพัฒนาไปพร้อมกับการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในลักษณะ 4 M ประกอบด้วย หนึ่ง Multi-species หรือการคํานึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการรักษาระบบนิเวศ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ สอง Multi-stakeholders หรือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สาม Multi-cultural หรือการเข้าใจถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากนานาประเทศ เพราะเป้าหมาย SDGs เป็นเป้าหมายร่วมกันระดับโลก และ สี่ Multi-generation หรือจากรุ่นสู่รุ่น เราทุกคนมีความรับผิดชอบในการรักษาโลกนี้ไว้สําหรับคนรุ่นต่อไป

ในการสนับสนุนคนรุ่นต่อไป สมาคมฯ จะจัดกิจกรรมที่จะสร้างเวทีให้เยาวชนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาระดับโลก เช่นนี้ อาทิ การจัดกิจกรรมเพื่อนําเสนอผลงานที่เกี่ยวกับ SDGs ประจําทุกสัปดาห์ การส่งเสริมแนวคิดเชิงนวัตกรรมแก่ผู้นํารุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้จํากัดแต่เพียงเทคโนโลยี แต่หมายรวมถึง นวัตกรรมทางความคิด และการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย เพราะต่อไปในอนาคตคนรุ่นใหม่จะสามารถนํานวัตกรรมเหล่านี้ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรต่อไป


ในฐานะประธานโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (CONNEXT ED) คนรุ่นใหม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับ Global Compact ในรูปแบบ Action Base Learning หรือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ โดยได้วางโมเดล Learning Center มีการทดสอบในโรงเรียน 100 แห่งในขณะนี้ สร้างกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การมีวินัยทางเศรษฐกิจ 2.การสร้างความเข้าใจด้านสังคมในเรื่องหลักความยั่งยืน 17 ข้อ ที่ต้องทำให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติได้จริงจนเป็นแบบอย่างต่อไปได้ 3.ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เข้าใจเรื่องการปลูกต้นไม้ การลดมลภาวะเป็นพิษในแหล่งน้ำ การทำรายงานและวิเคราะห์ถึงปัญหา ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางเชื่อมโยงให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความยั่งยืนในอนาคตผ่านกระบวนการปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ ผู้นําที่ดี คือ ผู้นําที่สร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งยังประโยชน์สุขต่อคนหมู่มาก ดังนั้น สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลักดันให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้นำองค์กรต้องมีส่วนร่วมและนำเป้าหมายความยั่งยืนไปดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการให้บริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทำรายงานด้านความยั่งยืนรวมทั้งมีการตรวจสอบรายงานด้วย จะช่วยต่อยอดในเรื่องของธรรมาภิบาล ความโปร่งใสที่ก.ล.ต.ให้ความสำคัญ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนมิติของประเทศไทยในเรื่องของความยั่งยืนได้อย่างมีนัยสำคัญ

นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวในตอนท้ายว่า “องค์กรธุรกิจสามารถสร้างระบบนิเวศที่สร้างความตระหนักรู้ และสร้างการรับรู้ด้านความยั่งยืนได้ เป็น Turning Point ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะเมื่อเกิดการตระหนักรู้และเริ่มมีการวางเป้าหมาย การสร้างรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจที่กล้าแสดงให้สาธารณะเห็น เสมือนเป็นพันธสัญญาและเงื่อนไขขององค์กร สิ่งนี้จะเป็นจุดที่จะสร้างพลังยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”

เวทีเสวนาในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs”
ปรับตัวอย่างไรใน 4 มิติสำคัญ



ในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” มีการจัดเวทีเสวนาใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผู้นำเพื่อความยั่งยืน ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต

โดยเวทีแรกเป็นเวทีเสวนา “ผู้นำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนตามวิถีใหม่” ได้หยิบยกประเด็นการดำเนินชีวิตท่ามกลาง COVID-19 ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวในหลายมิติ ทั้งบุคคลและองค์กรธุรกิจ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

องค์กรชั้นนำ ได้แก่ อินโดรามาเวนเจอร์ส บางจาก กลุ่มมิตรผลและสหประชาชาติ แบ่งปันมุมมองในฐานะผู้นำองค์กร ที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กรพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยย้ำว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ “การผลักดัน” ของผู้นำองค์กร โดยเฉพาะ “การสื่อสาร” ไปยังพนักงานทุกระดับอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่วน “การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” ยังมุ่งให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาบุคลากรและชุมชน” ในพื้นที่ที่องค์กรเข้าไปดำเนินธุรกิจ “การใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม” และ “ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ” อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโครงการด้านความยั่งยืนที่สำคัญของแต่ละองค์กร อาทิ การผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการรีไซเคิลในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานสะอาดมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มทักษะออนไลน์

อย่างไรก็ตาม “วิถีผู้นำเพื่อความยั่งยืน” จำเป็นต้องสร้างพันธมิตร ในขณะที่องค์กรและประเทศพัฒนาไปข้างหน้า ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ “การผนึกกำลัง” ของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และฟันฝ่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญคือ การสร้างความเท่าเทียม การปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาสให้คนในสังคมได้มีส่วนร่วม


“ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน” วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคธุรกิจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและรายได้ เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องจากพนักงานสู่ครอบครัวและชุมชน และสุดท้ายส่งผลในระดับประเทศ โดยสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้ข้อเสนอแนะว่า การปรับตัวต้องดูจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน ให้มีรายได้ต่อเนื่อง ได้รับการดูแลทั้งในแง่การดำรงชีวิตและการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยควรมีคู่มือการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งครอบคลุมภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว เกษตรกรรม ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มีแผนที่จะร่วมมือกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดตั้ง Business&Human Rights Academy และขยายการส่งเสริมเรื่องนี้ไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป

“ด้านสิ่งแวดล้อม” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการหารือในเวทีนี้ โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด รีคอฟ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (RECOFTC) เอ็นไวรอนแมน (Environman) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ร่วมพูดคุย และเห็นตรงกันว่าองค์กรต่างๆ ต้องหันมาร่วมมือกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

เนื่องจากธรรมชาติพูดเองไม่ได้ ทุกคนจึงต้องเป็นตัวแทนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนไปสู่ Green Society และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จำกัดไว้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทุกฝ่ายควรพลิกวิกฤต COVID-19 ให้เป็นโอกาสของธรรมชาติในการฟื้นตัวแบบสีเขียว (Green Recovery) โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ต้องคำนึงถึงความสมดุล ระหว่างการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เดินไปคู่กัน

ปิดท้ายด้วยเวที “ด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและการต่อต้านทุจริต” โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เสนอแนะว่า ทุกอย่างต้องเริ่มที่คนก่อน จึงจะมีประสิทธิผล โดยภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครอบคลุมทุกมิติ และควรตั้งเป้าหมายให้เป็นองค์กร Zero Non Compliance และ Zero Corruption โดยขยายแนวคิดนี้ให้กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานด้วย

นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายองค์กรได้ใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการสร้างความโปร่งใส และการกำกับดูแล เพื่อสร้างความแม่นยำในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของธุรกิจและระดับการลงทุนของบริษัท ในภาวะที่ทรัพยากรมีจำกัด


ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand หรือ GCNT ) เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิก 57 องค์กร ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ UN Global Compact เครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของสังคมในวงกว้าง

ภายใต้หลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)