xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรต้านคอร์รัปชันฯ เปิดตัวเครื่องมือจับทุจริต “ACT Ai” ประเดิมจับทุจริตงบฟื้นฟูโควิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดตัวเครื่องมือจับทุจริต “ACT Ai” ประเดิมจับทุจริตงบฟื้นฟูโควิด 4 แสนล้าน ปลุกสังคมร่วมตรวจสอบ

วันนี้ (15 ก.ย.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดงาน วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2563 ภายใต้แนวคิด “จับโกงโคตรง่ายแค่ปลายนิ้ว-Power of Data” โดยจัดงานในรูปแบบ

ออนไลน์ อีเวนท์ จำกัด ผู้เข้าร่วมงาน ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมร่วมรับชมการถ่ายทอดสดตลอดงานและแสดงพลังสู้โกงผ่านทางเฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่ง นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หวังว่า การจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันจะช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงพลังของข้อมูล ว่า มีความสาคัญต่อการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งการสืบค้น จัดระเบียบ การเชื่อมโยง และการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งก้าวต่อไปขององค์กรฯ ยิ่งต้องการพลังจากประชาชนอีกหลายเท่า มาใช้ข้อมูลเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการติดตาม ตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน นับเป็นอีกก้าวสำคัญ ในการสร้างระบบเฝ้าระวัง และร่วมกันเปิดโปงการกระทำผิด จัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ในงานได้มีการเปิดตัวเครื่องมือ “จับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai” ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ล่าสุด ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาส่วนขยายของ “ACT Ai เครื่องมือสู้โกง” แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเอาไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเข้าไปติดตามตรวจสอบ ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งประกอบด้วย 4 ฟังก์ชันสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันง่ายขึ้น คือ การทำแผนที่แสดงรายละเอียดโครงการ ระบบติดตามสถานะโครงการ ปุ่มแสดงความคิดเห็น และเชื่อมโยงหน่วยงานรับร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส และระบบช่วยคัดกรองโครงการที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ โดยจะเปิดให้ใช้งานภายในสิ้นปี 2563 นี้ทาง covid19.actai.co

นายต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ดูแลโปรเจกต์ ACT Ai กล่าวว่า สองปัจจัยสำคัญที่จะมาช่วยต่อสู้กับคอร์รัปชัน คือ การร่วมมือจากคนจำนวนมาก ที่เข้ามาช่วยให้ข้อมูล ช่วยตรวจสอบ ช่วยเป็นหูเป็นตา และข้อมูลที่เข้าถึงได้ โปร่งใสเพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน หรือแม้กระทั่งใช้ป้องกันตัวเองจากการถูกกล่าวหาก็ตาม ซึ่งประเทศไทยตอนนี้เรามีกำลังคนที่พร้อมช่วย พร้อมตรวจสอบแล้ว ทั้งในโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ที่หันมาจับตาดูการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น หรือภาครัฐเองที่เริ่มขยับตัวเองมาใช้ระบบดิจิทัล

“ACT Ai จะเข้ามาเป็นหนึ่งในอาวุธด้วยเทคโนโลยีข้อมูล”

“วันนี้ด้วยพลังของข้อมูล การจับโกงจะง่ายแค่ปลายนิ้ว หัวใจสำคัญของเครื่องมือจับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai คือ การที่ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกพื้นที่สามารถใช้สิ่งที่ตัวเองสนใจ อยู่ใกล้ มีความรู้มาร่วมจับตา เปิดโปงการทุจริตได้เลย”

ด้าน นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “Big Data as a Solution” ว่า งบฟื้นฟูโควิด 4 แสนล้าน เป็นงบประมาณที่มีประโยชน์ จะช่วยบรรเทาให้ผ่านวิกฤตไปได้บ้างหรืออย่างน้อยไม่เลวร้ายไปกว่าเดิมและยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้คนได้มีงาน มีอาชีพ ปรับตัวในภาวะวิกฤตแบบนี้ ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ถือว่าคุ้มมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือผลลัพธ์ของโครงการต้องตอบโจทย์ที่พูดไปได้จริง ไม่ใช่การนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน เราจึงริเริ่มแนวคิดที่จะนำข้อมูลของงบฟื้นฟู 4 แสนล้านนี้ เข้าระบบ Open Data เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อให้งบ4แสนล้านเกิดประโยชน์สูงสุด

“พลังของข้อมูล ไม่ใช่เพียงการเก็บข้อมูลเอาไว้ การทำ Big Data จะไม่มีค่าเลย ถ้าข้อมูลไม่ถูกนำมาใช้ หัวใจสำคัญ คือ เกาให้ถูกที่คัน แต่ถ้าเราไม่มีข้อมูล จะไม่รู้เลยว่าต้องเกาตรงไหน แก้ปัญหาให้ถูกจุดได้ยังไง ในอนาคตทุกโครงการ ทุกนโยบายของรัฐ จะถูกเปิดเผยและติดตามผลด้วยข้อมูล เพื่อให้ตอบโจทย์ เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง”

ขณะที่ นาย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA กล่าวผ่านไลฟ์สด หัวข้อ “สืบ-จาก-ข้อมูล” ว่า สร้างเพจขึ้นเพื่อให้คนหลากหลายได้มาแลกเปลี่ยนความเห็นและค้นหาความจริงกัน ในฐานะที่เป็น Data Scientist หรือผู้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ จึงเชื่อในข้อมูล และไม่ได้ทำตัวเป็นผู้รู้ แต่เป็นผู้ที่จุดประเด็นตั้งคำถาม ดังนั้นเห็นด้วยที่รัฐต้องเปิดข้อมูลงบฟื้นฟู โควิด 4 แสนล้านกับสาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงสามารถตรวจสอบได้

“ตอนนี้แค่มีสมาร์ทโฟนก็เป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการช่วยจับโกงได้แล้ว เราต้องคิดว่าเราเป็นเจ้าของประเทศ ถ้าเราเห็นสิ่งสกปรก เราก็ต้องออกมาเก็บกวาดบ้านเมืองของเรา”

ส่วนตัวแทนเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน กล่าวว่า การทำงานของหมาเฝ้าบ้านเราจะร่วมมือกันเป็นกลุ่ม ตามความสามารถความถนัดแตกต่างกันไป เริ่มจากพยายามเสาะหาสิ่งที่ต้องสงสัยว่าทุจริต ส่งต่อให้ทีมค้นหาและตรวจสอบข้อมูล สุดท้ายก็เผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ให้กระแสสังคมช่วยเป็นพลังหนึ่งในการเปิดโปง ยกตัวอย่างกรณีทุจริตอาหารกลางวันนักเรียน มีผู้ปกครองและสื่อช่วยตรวจสอบ ทำให้ภาครัฐสั่งตรวจสอบทั่วประเทศ

“เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งหรือมีอำนาจในการที่จะมาช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ทุกคนมีสื่อ คือ โทรศัพท์ อยู่ในมือแล้ว ใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพื่อปกป้องบ้านเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน ผู้ผลักดันการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างสังคมการเมือง การใช้งบประมาณที่โปร่งใสและตรวจสอบ ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่านวิดีโอ หัวข้อ “Disrupting Corruption” ว่า เมื่อปี 2017 กระทรวงยุติธรรมของประเทศไต้หวันได้จัดโครงการให้ประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน จนพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ให้ได้เข้ามาตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่เกิดจากรัฐ เป็นการทำงานร่วมกัน และการสร้างความร่วมมือกันหลายภาคส่วน

นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังพยายามผลักดันแนวคิด e-Government ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการใช้บริการทางราชการผ่านรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารราชการ ส่งเสริมให้ประชาชนแบ่งปันข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม gov.tw เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป และในปี 2011 มีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นองค์กรพิเศษขึ้น เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้นำแนวคิดในการสร้างโครงการอาสาสมัครมาปฏิบัติ โดยให้ประชาชนมาสมัครเป็นอาสาสมัครต่อต้านคอร์รัปชัน และให้อาสาสมัครเหล่านี้เข้าไปช่วยงานในองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน












กำลังโหลดความคิดเห็น