โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ผนึกกำลังทุกภาคส่วน เดินหน้าขับเคลื่อน SDGs ประกาศเจตนารมณ์สมาชิกร่วมลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลักดัน 998 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 เชิญชวนทุกองค์กรใช้ศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนด้านความยั่งยืนในศตวรรษของการลงมือทำ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะนายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกเกือบ 60 องค์กร และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากมองในเชิงมูลค่าของบริษัทที่เป็นสมาชิกในปัจจุบัน จะพบว่าสูงถึงประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของสมาคมฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน”
“สำหรับปัญหาที่โลกเผชิญอยู่ แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เราก็ยังต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีวิกฤตอื่นอีก ที่ยังคุกคามมนุษยชาติ อาทิ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัญหาทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำที่ขาดความสมดุลของเราเอง และด้วยเหตุการณ์โควิด-19 ที่ทับถมและรุมเร้ามนุษยชาติอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เราได้เผชิญมาก่อนโควิดเหล่านี้นับจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”
นายศุภชัยกล่าวทิ้งท้ายโดยย้ำถึงบทบาทของผู้นำในการแก้ปัญหาว่า “ผู้นำ คือ ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ดี คือ ผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังประโยชน์สุขต่อคนหมู่มาก ดังนั้น ความตระหนักรู้ถึงปัญหาของผู้นำในทุกภาคฝ่ายจึงเป็นภารกิจสำคัญของเรา และเมื่อผู้นำมีความตระหนักรู้แล้ว เราจะสามารถรับมือเเละผ่านพ้นวิกฤตที่กล่าวมานี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ด้วยความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ และที่สำคัญคือ ความร่วมมืออย่างเป็นปึกเเผ่น ของทุกภาคฝ่าย เชิญชวนทุกองค์กรใช้ศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนด้านความยั่งยืนในศตวรรษของการลงมือทำ แข่งขันกับความท้าทายของมนุษยชาติ และทำงานร่วมกับสหประชาชาติอย่างจริงจัง เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย SDGs ภายในปี 2573”
พร้อมกันนี้ องค์กรสมาชิกทั้งหมดได้แสดงความพร้อมขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเจตนารมณ์ว่า จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง หลักการ UN Global Compact และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียให้เดินหน้าไปสู่หนทางที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จากสมาชิกสมาคมฯ ทั้งหมดนั้น สมาชิกจำนวน 21 องค์กรได้ประกาศการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อบรรลุ SDGs ภายในปี 2573 รวมจํานวน 998 โครงการ เป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท อาทิ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่ม ปตท. กลุ่มมิตรผล แพรนด้ากรุ๊ป และบริษัทสมาชิกอื่นๆ อีกด้วย
Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (United Nations Resident Coordinator - UNRC) ประจำประเทศไทย แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของภาคธุรกิจ พร้อมร่วมสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผนึกกำลังของภาคธุรกิจและมุ่งมั่นที่จะบรรลุ SDGs โดยต้องร่วมมือกันใน 3 เรื่องสำคัญ ประการแรก คือ การสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประการที่สอง การสร้างโลกให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ในวิถีปกติใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประการที่สาม การสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ผู้ประสานงานสหประชาชาติ กล่าวย้ำว่า “จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะในปี 2020 นี้ เราเข้าสู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำที่เรียกร้องให้การผนึกกำลังกัน เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดหลักการทำงานร่วมกันและรับผิดชอบร่วมกัน เราเชื่อมั่นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ SDGs เป็นจริง และเชื่อในพลังของผู้นำภาคธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างงาน รวมทั้งค้นหาแนวทางที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในปัจจุบัน เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมผู้แทนสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และจะลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนรวม 998 โครงการ มูลค่ารวมอย่างน้อย 1.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573 ในงาน “GCNT FORUM 2020: Thailand Business Leadership for SDGs” จัดโดย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้สนับสนุนของสมาคมฯ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
พลเอกประยุทธ์ กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ว่าสอดคล้องกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในและรากฐาน โดยมุ่งเน้น “การพัฒนาคน” และ “ความมั่นคงของมนุษย์” เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกัน พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมย้ำว่าทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” และรวมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ