สำเร็จแล้ว!! ผลจากความสามัคคี มีวินัย “ชุมชนบึงบางซื่อ”พลิกชีวิต ออมเงินสร้างบ้าน ตื้นตันได้บ้านใหม่ พร้อมทะเบียนบ้าน มีน้ำ-ไฟ สัญญาจะพัฒนาเป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง และบึงน้ำ เป็นแก้มลิงและปอดให้คนเมือง ขอบคุณภาครัฐ-เอกชน ที่สร้างกระบวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมให้พึ่งพาตนเองได้ เป็นต้นแบบชุมชนเมืองเข้มแข็ง
นางสาวอัจฉราพร อิ่มโพธิ์ ตัวแทนชุมชนบึงบางซื่อ กล่าวว่า “พวกเราอยู่อาศัยรอบบึงบางซื่อมาตั้งแต่เด็ก จนมีครอบครัวของตนเอง ที่นี่มีสภาพเสื่อมโทรม อยู่กันอย่างแออัด มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย และอบายมุขต่างๆ การไม่มีทะเบียนบ้าน ทำให้เราไม่มีน้ำ-ไฟใช้ ไม่มีสิทธิ์ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน โครงการนี้ช่วยพลิกฟื้นชีวิตให้เรามีบ้านของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ดี มั่นคง พร้อมกับมีทะเบียนบ้าน มีถนนเข้าบ้านที่ปลอดภัย เชื่อว่าลูกหลานเติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ”
"ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี เอสซีจี ภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยมอบชีวิตใหม่ให้โอกาสพวกเรามีส่วนร่วมออกแบบบ้านของตนเอง และยังมีบ้านส่วนกลางให้คนสูงอายุที่ไร้อาชีพ อีกทั้งยังสนับสนุนให้เราออมเงินสร้างบ้าน โดยเราจะดูแลบึงน้ำให้สะอาด ในอนาคตอยากพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง เพื่อต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ให้กับพวกเรา"
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า บึงบางซื่อเคยเป็นแหล่งวัตถุดิบผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจี มีพื้นที่ 61 ไร่ ได้ใช้พื้นที่ขอบบึงทำเพิงพักให้คนงาน จากนั้นได้อาศัยสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งมีคนต่างถิ่นอพยพเข้ามาอยู่ กลายเป็นชุมชนใหญ่ มีสภาพความเป็นอยู่แออัด ในปี 2559 เอสซีจีจึงร่วมกับภาครัฐ-เอกชน และชุมชน ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ก่อนที่จะมอบที่ดินผืนนี้ให้กรมธนารักษ์ดูแล เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชุมชน
ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว มีที่พักอาศัยรวม 197 ยูนิต ประกอบด้วยทาวน์เฮ้าส์ 60 หลัง ที่ชุมชนเข้าอยู่แล้ว พร้อมบ้านผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังและไม่มีรายได้ 4 ยูนิต ส่วนอาคารชุด 4 ชั้น 3 อาคาร รวม 133 ยูนิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2564
"หัวใจความสำเร็จของโครงการนี้คือ ชุมชนได้มีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ 1.) การยืนยันสิทธิ์ร่วมโครงการเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรม 2.) สร้างวินัยการออม สะสมเงินเพื่อเป็นเจ้าของบ้าน 3.) ร่วมกันคิดและออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับวิถีชีวิต 4.) กำหนดกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน 5.) ร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของชุมชน ซึ่งผลจากการมีส่วนร่วมทำให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนทัศนคติ มีความเอื้ออาทร ทำเพื่อส่วนรวม เป็นชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเอสซีจีเชื่อมั่นว่า ชุมชนมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์กลางกรุง ดูแลบึงน้ำให้สะอาด สวยงาม รวมถึงเป็นศูนย์เรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่น ๆ ในอนาคต"
นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีความรับผิดชอบในการดูแล บำรุงรักษา และพัฒนาที่ราชพัสดุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่สมดุลและยั่งยืน โดยได้รับมอบที่ดินบึงบางซื่อจากเอสซีจีหลังจากที่มีการพัฒนาเสร็จแล้ว เพื่อนำไปบริหารจัดการและดูแลให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน กรมธนารักษ์เชื่อว่า นอกจากการมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม "การพึ่งพาตนเอง" ให้สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงได้ร่วมกับบริษัท ธนารักษ์พัฒนา- สินทรัพย์ จำกัด สนับสนุนงบประมาณสำหรับเป็นกองทุนต่อยอดให้ชุมชนนำไปใช้สร้างอาชีพและเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในเมืองพื้นที่อื่นต่อไป
นายวิมล ทุ่งทอง ผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 1 กล่าวว่า ธนาคารออมสินดำเนิน "กิจกรรมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : การจัดการน้ำ" ภายใต้โครงการธนาคารออมสินเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2561 เพื่อส่งเสริมการจัดการน้ำในประเทศไทยที่มีปัญหาในหลายรูปแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ทั้งความอยู่ดีมีสุขและต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะ "การพึ่งตนเอง" สามารถใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยในปี 2563 ธนาคารออมสินได้คัดเลือก "ชุมชนบึงบางซื่อ" โดยสนับสนุนระบบ ZyclonicTM by SCG นวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียจากอาคารชุดในชุมชน ให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ พร้อมทั้งสนับสนุนการเลี้ยงปลา การทำแปลงผักสวนครัวระบบน้ำหยด และโรงเรือนเพาะเห็ด สร้างความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชน ช่วยลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชุมชน
โครงการสานพลังประชารัฐ-การพัฒนาพื้นที่บึงบางซื่อ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เอสซีจี และภาคีเครือข่ายสานพลังประชารัฐ เพื่อเป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง จัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า มีพื้นที่ส่วนกลางใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ลงตัวกับทุกวิถีชีวิต กระตุ้นให้เกิดการออมในชุมชน โดยมีผู้ร่วมโครงการ ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สนับสนุนสินเชื่อ เพื่อให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสนับสนุนงบ 200 ล้านบาท ช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ มีสวนและพื้นที่ส่วนกลาง รวมทั้งมีระบบสาธารณูปโภคที่ครบถ้วน การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เช่าใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก สำนักงานเขตจตุจักรประสานความร่วมมือด้านการก่อสร้าง ธนาคารออมสินสนับสนุนงบ 500,000 บาท พัฒนาอาชีพของชุมชน กรมธนารักษ์ สนับสนุนงบ 200,000 บาท พัฒนาอาชีพและรับมอบดูแลที่ดินจากเอสซีจี เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงต่อชุมชนต่อไป