ภาพสวยงามของนกเงือกกรามช้างฝูงใหญ่ กว่า 30 ตัว บินอยู่เหนือลานกางเตนท์ช่องเย็น ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร บันทึกไว้โดย Mr. Artis Nima นักพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ที่เข้ามาเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ เมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา
ถือเป็นภาพหายากที่ใครจะพบฝูงนกเงือกบินมาให้เห็นในระยะใกล้ๆ แต่ที่สำคัญกว่าการได้พบนกเงือกที่ป่าใด ผืนป่าแห่งนั้นถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์จริง
เพจเฟซบุ๊ค ประชาสัมพันธ์
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ว่า ทางอุทยานฯแม่วงก์ สบอ. 12 (นครสวรรค์) รายงานมาว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 เวลา 08.45 น. Mr. Artis Nima นักพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ในนามนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวช่องเย็น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สามารถถ่ายภาพฝูงนกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) กว่า 30 ตัว ได้แบบระยะใกล้ๆ บริเวณลานกางเตนท์ช่องเย็น การได้เห็นฝูงนกเงือกกรามช้าง (Wreathed Hornbill) เป็นฝูง 30 ตัว ถือเป็นเรื่องยาก และไม่ได้พบเห็นได้บ่อยๆ โดยนกเงือกกรามช้างฝูงนี้ อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก ส่วนใหญ่จะเป็นนกเงือกตัวผู้ เท่าที่มองเห็น พบนกเงือกตัวเมียประมาณเพียง 3 ตัว
นกเงือกกรามช้าง เป็นนกขนาดใหญ่ มีความยาวจากหัวถึงหาง ประมาณ 75-100 ซม. จงอยปากยาว เป็นลอนหยัก บริเวณด้านบนของปาก และปากด้านข้าง เป็นรอยสัน เพศเมีย มีถุงใต้คอสีฟ้า ส่วนเพศผู้ ถุงใต้คอสีเหลือง ทั้ง 2 เพศ มีขีดดำ 2 ข้าง ลำตัวสีดำปลอด หางมีสีขาว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รายงานว่า นักท่องเที่ยวยังสามารถถ่ายภาพนกเงือกคอแดง (Rufous necked Hornbill) ที่กำลังเกาะอยู่บนต้นไม้ ในบริเวณโซนลานกางเต้นท์ช่องเย็นอีกด้วย
โดยนกเงือกทั้งสองชนิด ถือเป็น “นกนักปลูกป่า” ที่ช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ไปทั่วผืนป่า และยังใช้เป็นตัวดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า การพบนกเงือกฝูงใหญ่ สื่อให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกที่ยังมีความสมบูรณ์ของผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ซึ่งขอขอบคุณภาพ/ข้อมูลบางส่วน จาก Mr. Artis Nima
ซึ่งก่อนหน้าไม่นาน สัตว์ป่าหายากที่โผล่ให้เห็นเป็นหลักฐาน และใช้เป็นดัชนีชี้วัดว่าผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็คือในช่วงเวลา 2 ปี ผืนป่าแห่งนี้ได้พบว่าเสือโคร่งจากกล้องดักถ่าย และการพบซากกระทิงที่เสือโคร่งล่ามาเป็นอาหารเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งแสดงถึงการขยายอาณาเขต รวมถึงการพบเสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ จากกล้องดักถ่ายที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งป่าคลองลานเป็นผืนป่าตะวันตกที่เชื่อมติดต่อกัน
ขอขอบคุณภาพ/ข้อมูลบางส่วน จาก Mr. Artis Nima
ลิงก์ชมจุดกางเตนท์ ลานช่องเย็น ช่วงฤดูฝน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้