xs
xsm
sm
md
lg

ปักธงปี’65 ไทยเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ปี'70 รีไซเคิลขยะพลาสติก100%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงทรัพย์ฯ เดินหน้าโรดแมปขยะพลาสติก ยืนยันลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ระบุประเทศไทยเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด “ถุงหูหิ้วความหนาน้อยกว่า 30 ไมครอน- หลอด-แก้วน้ำ-กล่องโฟมใส่อาหาร” ภายในปี 2565 หรือ 2 ปีข้างหน้า พร้อมรีไซเคิลขยะพลาสติก 100% ภายในปี 2570 หรือ 7 ปีข้างหน้า ย้ำทุกคนย้อนถามตนเองจะให้ลูกหลานอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบใด ชี้ทุกคนมีหน้าที่ปกป้อง-ดูแลรักษา เพื่อส่งต่อโลกสีเขียวให้คนรุ่นต่อไป

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลให้ปริมาณขยะหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พบว่า มีขยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน จากการใช้บริการรับ-ส่งอาหารที่มากขึ้นถึง 3 เท่า สถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ หรือ Recycle ประมาณ 5 แสนตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก Recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อมาตรการงดแจกถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเริ่มใช้เมื่อ 1 มกราคม 2563 อย่าเรียกว่า “ชะงัก” แต่ใช้คำว่า “ชะลอ” เพราะต้องยอมรับว่า โดยรวมถุงพลาสติกยังมีความจำเป็น รวมทั้งถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นอกจากนี้ ยังมีภาชนะพลาสติกอีกมากมาย เช่น ช้อนส้อม กล่องบรรจุอาหาร แก้วน้ำ ซองเครื่องปรุงรส ฯลฯ ที่มากับการสั่งซื้อแบบเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะอาหาร เพราะให้ความสะดวกกับผู้บริโภค ดังนั้น ช่วงประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมา จึงเห็นว่าความตื่นตัวเรื่องการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งชะลอลง

“แม้ว่าความตื่นตัวในการลดขยะพลาสติกจะชะลอตัวลง แต่เพราะกระทรวงฯ มีความเข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้จึงไม่อยากจะเพิ่มภาระ เพิ่มแรงกดดันให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงที่มีความสับสนวุ่นวายจากโควิด-19 และขอย้ำว่ากระทรวงฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปในเรื่องการลดและเลิกการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และแม้ว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น แต่ขยะเหล่านี้ก็กระจุกตัวอยู่มากในบ้านเรือนและแหล่งชุมชน แทนที่จะกระจายอยู่ในที่ต่างๆ”

ในการเดินหน้านโยบายลดขยะพลาสติก กระทรวงฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มีการดำเนินโครงการ “ส่งขยะกลับบ้าน” เป็นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางหรือที่บ้านก่อนที่จะนำไปทิ้ง โดยร่วมมือกับ 50 องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ทั้งองค์กรหรือแบรนด์ต่างๆ ก็ให้ความสำคัญ มีการนำแนวทาง Upcycling มาใช้กันมากขึ้น เช่น การนำขวดน้ำมาผ่านกระบวนการและแปรสภาพเป็นพลาสติกใหม่นำมาถักทอเป็นเสื้อผ้า เป็นจีวร หรือทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น หรือแฟชั่นแบรนด์เนมและดีไซเนอร์ดัง หรือแม้แต่วงการกีฬา เช่น การดำน้ำ ก็มีการนำเศษแหและอวน มาทำเป็นชุดประดาน้ำ เทรนด์หรือกระแสโลกกำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น


แม้ในช่วงที่ผ่านมา ร้านกาแฟต่างๆ งดการนำแก้วน้ำส่วนตัวไปใช้ ด้วยเหตุผลด้านสาธารณสุข แต่ตอนนี้เริ่มกลับมาอนุญาตให้ใช้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้หลอดกระดาษมากขึ้น หรือการใช้จานชามช้อนส้อมที่ทำมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือว่ามีคุณค่ามากมายมหาศาล เช่น พะยูนหรือเต่าทะเลหรือกวางที่ต้องตายจากการกินเศษขยะพลาสติก

“ก่อนปีค.ศ.1960 หรือเมื่อกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย ถามว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยใช้อะไร? คนไทยดำเนินชีวิตอย่างไร? เราก็จะพบว่ามีของใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น ปิ่นโต กล่องข้าว ใบตอง ใบบัว เชือกกล้วย ฯลฯ อาจจะไม่สะดวกเท่าถุงพลาสติก แต่หากเรายังคงใช้พลาสติกกันแบบไม่คำนึงถึงโลกหรือสิ่งแวดล้อม ก็จะเห็นว่าหายนะอยู่ไม่ไกล”

“แน่นอนว่ากระทรวงฯ รณรงค์ต่อทั้งลด ทั้งเลิก ผมไปเดินทั้งห้าง ทั้งตลาดเพื่อรณรงค์ให้เราช่วยกัน แต่ที่สำคัญพี่น้องประชาชนต้องร่วมมือด้วย คำถามในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งต้องมาถามที่กระทรวงฯ แต่อีกส่วนหนึ่งต้องถามประชาชนคนไทยทุกคนว่าท่านคิดจะพาประเทศไทยไปข้างหน้า ส่งไม้ต่อให้ลูกหลานอย่างไร เพราะคนที่ใช้คือคนที่จะตอบคำถามได้ เราต้องการลดปริมาณขยะให้มากที่สุด ไม่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ฝังกลบ ทั้ง Reduce, Reuse, Recycle เช่น ถ้าแต่ละคนช่วยกันลดการใช้ ใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ซ้ำให้มากที่สุด อย่างหนึ่งคนใช้ซ้ำ 20 ครั้ง หนึ่งล้านคนก็ประหยัดถุงพลาสติกได้ถึง 20 ล้านใบ และเพิ่มอีก 1 R คือ Rethink คิดก่อนใช้ กับ Upcycling วันนี้กระทรวงฯ เราก็อยากจุดกระแสและขอความร่วมมือ เพราะไม่อยากถึงขั้นบังคับ แต่ให้เห็นว่าสุดท้ายปลายทางจะเป็นอย่างไรน่าจะดีกว่า เพราะที่ผ่านมาก็เห็นการตื่นตัวของคนไทยในการลดใช้ถุงพลาสติก”

นอกจากนี้ ยังคิดว่าคนไทยน่าจะคิดได้ว่าโควิด-19 เกิดขึ้นเพราะธรรมชาติลงโทษมนุษย์ที่ทำสิ่งที่ไม่ควรอย่างยิ่งต่อธรรมชาติด้วยการบริโภคค้างคาว ทั้งๆ ที่มีสัตว์ที่เป็นอาหารมากมายอยู่แล้ว โทษของการที่มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่า จนเกิดความแห้งแล้งไปทั่ว และเมื่อฝนตกก็ทำให้เกิดน้ำท่วม ธุรกิจก็เช่นกันควรตระหนักว่าเราถูกบังคับให้ดิสรัปชันแล้ว เพราะความหายนะจากการทำลายธรรมชาติมาเคาะประตูเรียกแล้ว จึงไม่น่าจะต้องสร้างเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้ทำอะไรที่ดีๆ ก็ต้องมีสิ่งตอบแทน เพราะธรรมชาติทำให้เห็นได้ว่าเราจะตายกันอยู่แล้ว ยังจะเรียกร้องขออะไร น่าจะต้องยิ่งตระหนักและช่วยกันคนละไม้คนละมือ

“ผมไม่ได้ต่อต้านการใช้ถุงพลาสติก ผมต่อต้านการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เพราะถุงพลาสติกความหนา 30-35 ไมครอนนั้นบางเกินไป ถ้าใช้ความหนา 50 ไมครอนแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำก็จะช่วยลดปริมาณขยะที่หลุมฝังกลบได้อย่างมหาศาล ซึ่งผู้ผลิตถุงพลาสติกก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องจักร เพียงแต่เปลี่ยนมาผลิตถุงพลาสติกที่หนาขึ้นเท่านั้น ส่วนร้านค้าก็ให้เท่าที่จำเป็น เมื่อถุงหนาขึ้นก็ไม่ต้องซ้อนสองชั้นเพราะไม่ต้องกลัวขาดเหมือนเมื่อก่อน ลูกค้าก็ยอมรับได้”

“ที่ผ่านมา มีการยกเลิกการใช้พลาสติกไปแล้ว 3 ชนิด ได้แก่ 1)พลาสติกผสมสารออกโซ่ (Oxo) 2) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 3)ไมโครบีด นี่คือแนวทางการลดขยะพลาสติก ซึ่งเราค่อยๆ เดิน เพราะบางทีการทำโรดแมป 10 ปีข้างหน้าคือในปีค.ศ.2030 แต่ระหว่างทางอาจจะมีสิ่งใหม่ๆ เช่น ใครจะคิดว่าตอนนี้เรามีเทคโนโลยีในการเปลี่ยนขวดพลาสติกให้เป็นจีวรหรือเสื้อผ้า หรืออีก 3 ปี อาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ได้ ดังนั้น อาจจะทำได้เร็วกว่าในโรดแมปก็ได้”

สำหรับการดำเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 มีเป้าหมายเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ 1)ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน 2)แก้วน้ำพลาสติก 3)หลอดพลาสติก และ4)กล่องโฟมใส่อาหาร ในปี 2565 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

ดังนั้น โรดแมปที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ล้วนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรมันจะย้อนกลับมากระทบตัวเรา และวันนี้ในการร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี หรือบริษัทดาว เคมีคอล บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับ Upcycling ซึ่งช่วยในการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบเม็ดพลาสติกที่ต้องนำมาใช้ เป็นการนำแนวทางของ Circular Economy มาใช้ ซึ่งในอดีตใช้ไม่ได้เพราะขาดในส่วนของเทคโนโลยี แต่วันนี้มีแล้วคือ Upcycling เช่น นำขวดพลาสติกมาแปลงสภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้า กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาและนำไปใช้ได้จริง

วราวุธ ย้ำในตอนท้ายว่า “การปกป้องและดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นต่อไปหรือลูกหลานเรา ไม่ได้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯ เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่คนไทย ต้องช่วยกันคิดว่าต้องการให้คนรุ่นต่อไปเติบโตมาในสังคมแบบใด ในสภาพแวดล้อมแบบใด ถ้าทุกคนรู้ตัว ทำหน้าที่ของตนเอง และปกป้องรักษาผืนป่า รักษาผืนน้ำ ก็จะช่วยโลกเราได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น