ลำพูน – ผู้ตรวจทส.ถวายทั้งรถเข็นและตู้กับข้าวเปลี่ยนให้กับวัดบ้านป่าบุกสาเหตุของเก่าชำรุดเพราะใช้บิณฑบาตมากว่า 20 ปี โดยมีเจ้าอาวาสและรองเป็นผู้รับมอบพร้อมให้ศิลให้พร ทั้งช่วงที่ออกบิณฑบาตยังนำถุงผ้าแจกให้ญาติโยมเพื่อเป็นการลดการใช้ถุงพสาติกอีกด้วย
ที่วัดบ้านป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ถวายรถเข็นตู้กับข้าวใส่อาหารให้กับวัดบ้านป่าบุก โดยมี พระครูปลัดพิภพ กนฺตธมฺโม เจ้าอาวาสวัด และ พระสมุห์ณัฐธีร์ สุขวฑฒโก รองเจ้าอาวาส เป็นผู้รับมอบ ซึ่งรถเข็นดังกล่าวได้นำมามอบถวายให้ทางวัดเพื่อใช้ทดแทนรถเข็นคันเดิมที่มีสภาพเก่าและชำรุดซึ่งทางวัดได้ใช้บิณฑบาตมานานกว่า 22 ปีแล้ว ซึ่งเรียกว่า "นวัตกรรมนักบิณฑ์พิชิตโลกร้อน”
โดยรถเข็นคันดังกล่าวพระของวัดได้ใช้เป็นรถที่เข็นตามบิณฑบาตในทุกเช้าซึ่งได้บรรทุกตู้กับข้าวที่มีจานชามเปลี่ยนถ่ายอาหารที่ชาวบ้านปรุงสุกใหม่ แทนการใช้ถุงพลาสติกและโฟมใส่อาหาร ซึ่งเป็นการลดขยะได้อย่างมากทำให้ชุมชนปลอดขยะ จนเมื่อปี พ.ศ.2557 ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้เดินตามพระออกบิณฑบาต พร้อมแจกถุงผ้าให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านป่าบุกให้มีถุงผ้าครบทุกหลังคาเรือนเป็นหมู่บ้านแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดปริมาณขยะที่จะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาล และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำหรับชุมชนบ้านป่าบุก ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เป็นชุมชนปลอดขยะ มีครัวเรือน 90 ครัวเรือน ประชากรราว 385 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งมีวัดป่าบุกเป็นศูนย์รวมจิตใจและสถานที่จัดกิจกรรมในหมู่บ้าน โดยการออกบิณฑบาตนั้นทางวัดได้แบ่งสายการรับบิณฑบาต ออกเป็น 4 สาย สลับหมุนเวียนแต่ละวันจะออกบิณฑบาต เพียง 1 สาย เพื่อให้ได้อาหารพอดีฉันไม่เหลือเป็นขยะประหยัดเงินลดรายจ่ายให้ชาวบ้านเพราะวัดแห่งนี้มีพระเพียง 2 รูป อีกทั้งภายในวัดป่าบุกยังมีการจัดการขยะคัดแยกขยะต่างๆ เพื่อการนำไปรีไซเคิล และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย