xs
xsm
sm
md
lg

ดรามา แบนถุงพลาสติกหูหิ้ว! จบไม่ง่าย ทส.แจง แค่เริ่มในขั้นผู้บริโภค ณ จุดขายห้าง-ร้านสะดวกซื้อเท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรณีภาคีห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ พร้อมงดแจกฟรีหรือไม่ใส่ถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ลูกค้า ตั้งแต่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดข้อคลางแคลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะประเด็นของผู้บริโภคขาดความสะดวกสบายจากการได้ถุงฟรีนั้นเสมือนว่าผู้บริโภคตกเป็นฝ่ายถูกกระทำฝ่ายเดียว เพราะเป็นการโยนภาระให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันทางห้างได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนค่าถุง


เพจ TOP Varawut-ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ว่าหัวใจสำคัญ มี 3 ข้อด้วยกัน คือ ข้อ 1 การลดปริมาณขยะที่แหล่งกำเนิด ข้อ 2 การลดการใช้พลาสติกที่ขั้นตอนการบริโภค และข้อ 3 ส่งเสริมการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์
โครงการ Everyday Say No To Plastic Bags ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับ 90 ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต ร้านสะดวกซื้อ ในการยกเลิกให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งแก่ลูกค้าทั่วประเทศนั้น ถือเป็นข้อที่ 2 ที่สามารถทำได้ทันที และเห็นผลในระยะเวลาอันรวดเร็วครับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ทำข้อ 1 และ ข้อ 3 ด้วยนะครับ ปัจจุบัน เรามีโครงการส่งเสริมการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนให้นำกระบวนการ UpCycling แปรรูปขยะพลาสติกกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และในขณะนี้ ผมกำลังศึกษาเรื่อง Extended Producer Responsibility หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ให้รับผิดชอบขยะของแบรนด์ตัวเองกลับไปเข้าสู่ระบบการจัดการ ซึ่งตรงกับข้อ 1 ครับ ดังนั้นแล้ว ไม่ต้องห่วงว่าทางออกจากปัญหาขยะจะเป็นภาระอยู่แค่กับผู้บริโภคครับ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพลเมืองโลกทุกคนจะต้องรับผิดชอบร่วมกันโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การลดปริมาณขยะ ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตมนุษย์ครับ




ถ้าดูจากข้อมูลปริมาณการใช้ถุงพลาสติกในประเทศไทย 45,000 ล้านใบต่อปี แบ่งเป็น ข้อ1.ตลาดสดเทศบาล เอกชน และแผงลอย 18,000 ล้านใบต่อปี หรือร้อยละ 40 ข้อ2.ร้านขายของชำประมาณ 4 แสนร้านค้า 13,500 ล้านใบต่อปี หรือร้อยละ 30 และ ข้อ3.ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ 16,330 ร้าน13,500 ล้านใบต่อปี หรือร้อยละ 30 ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้ โครงการ Everyday Say No To Plastic Bags โดยทส.เพิ่งเริ่มในส่วนเดียว คือ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ
รับฟัง 4 ข้อเสนอผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้รับฟัง 4 ข้อเสนอผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อลดผลกระทบจากการแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยเหตุผลคือ การงดแจกถุงนอกจากจะกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ขาดแค่ระบบการจัดการอย่างถูกต้องทั้งการรีไซเคิล หรือย่อยสลาย
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการมาตรการความร่วมมืองดให้ถุงพลาสติก ทำให้เกิดความกังลต่อกลุ่มผู้ประกอบการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน ได้แก่ สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติก 86 บริษัท และผู้ประกอบการผลิตถุงพลาสติก 47 ราย ความเสียหายมูลค่ากว่า 24,308 ล้านบาท
กลุ่มผู้ประกอบการได้เสนอต่อภาครัฐ เพื่อเป็นทางออกให้กับผู้ประกอบการและเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้บริโภค 4 ข้อ คือ
1. ขอให้ใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนากว่า 40 ไมครอน
ถุงพลาสติกที่มีความหนากว่าไม่น้อยกว่า 40 ไมครอน หรือ ถุงขนาด 8 นิ้วขึ้นไป เป็นทางเลือกใช้ทดแทนถุงแบบบาง หรือ ก๊อปแก๊ปที่ใช้แบบครั้งเดียว เนื่องจากถุงประเภทนี้สามารถใช้ได้หลายครั้ง และนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย ขายได้ที่กิโลกรัมละ 10 บาท โดยทางสมาคมพลาสติกจะรับซื้อที่ทำความสะอาดแล้วไปรีไซเคิล
2. กำหนดสัญลักษณ์ หรือสีสำหรับถุงพลาสติกแต่ละชนิดให้ชัดเจนรวมถึงมีข้อความสื่อสารบนถุงชัดเจนเพื่อการคัดแยกขยะ แบ่งเป็น
- สีเขียว ถุงประเภทย่อยสลายเองตามธรรมชาติ ให้ทิ้งลงถังขยะอินทรีย์สีเขียว
- สีเหลือง ถุงพลาสติกรีไซเคิลได้ ทิ้งลงถังขยะสีเหลือง
ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำถุงพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลมารีไซเคิลได้ เนื่องจากถุงพลาสติกที่ไม่ได้แยกขยะไว้อาจไปรวมกับขยะอินทรีย์ ซึ่งไม่สะอาดและไม่เหมาะสมและคุ้มค่าที่จะนำมารีไซเคิล
3. จัดทำมาตรฐาน มอก. สำหรับถุงหูหิ้วพลาสติกที่รีไซเคิลได้และถุงขยะอินทรีย์ย่อยสลายได้ ซึ่งสืบเนื่องจากข้อสอง ที่จะช่วยจัดการเรื่องการจัดการขยะเพื่อนำมารีไซเคิลได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยตั้งเป้าให้เป็นมาตรฐานบังคับใช้ใน 2 ปี

4. จัดทำ Drop Point สำหรับถุงพลาสติกรีไซเคิลได้ โดยสมาคมพลาสติกและสมาคมผู้ค้าปลีกจะทำจุด Drop Point หรือจุดรับซื้อ สำหรับถุงพลาสติกที่รีไซเคิลได้แล้วให้นำถุงพลาสติกเหล่านั้นกลับมารีไซเคิล ซึ่งสมาคมพลาสติกจะรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท เป็นการนำร่องการนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง

“ทั้งนี้ ทส.ได้นำข้อเสนอทั้งหมดรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ พิจารณาถึงความเหมาะสม เพื่อให้สามารถหาทางออกของแต่ละกลุ่มให้ดีที่สุด โดยอยู่บนพื้นฐานของการดูแลสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน” จตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น