สะดุดตากันแต่ไกล!! สิ่งประดิษฐ์ริมชายหาดกระบองเพชรจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้านตำบลม่วงงาม จ.สงขลา ที่ร่วมกันทำขึ้นเพื่อเตือนภัยแมงกะพรุนพิษที่ลอยมาอยู่ในทะเลในช่วงฤดูกาลนี้ ด้วยการนำสุ่มไก่ มาคลุมด้วยผ้าหลากสีสดใส ในรูปลักษณ์แมงกะพรุน ได้ประโยชน์ทั้งการเตือนภัยและสร้างสีสันทางการท่องเที่ยว
ผู้คนที่เดินทางท่องเที่ยวมาพักผ่อนหย่อนใจที่หาดกระบองเพชร ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหะนคร จังหวัดสงขลา ต่างสะดุดตากับสิ่งประดิษฐ์สีสันสดใสริมชายหาด รูปลักษณ์คล้ายแมงกะพรุน โดยใช้สุ่มไก่หรือฝาชีที่ทำจากไม้ นำมาคลุมด้วยผ้าสีสันสดใสสะท้อนแสงทั้งสีเขียว ชมพู เหลือง พร้อมติดตั้งป้ายเตือนภัย “ระวังแมงกะพรุนพิษ” บริเวณชายหาด และข้อมูลการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปักติดไว้อย่างเด่นชัด
ภาพ - ป้ายเตือนสีสันสดใสหน้าหาดกระบองเพชร ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหะนคร จังหวัดสงขลา
ถือเป็นการเตือนภัยแนวใหม่ที่กลมกลืนกับธรรมชาติและยังสร้างสีวันทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย ผู้ที่มาท่องเที่ยวก็สะดุดตากับแมงกะพรุนขนาดใหญ่หลากสีสันจากความคิดสร้างสรรค์ของชาวบ้านที่ช่วยกันประดิษฐ์เพื่อเตือนภัย และยังถ่ายภาพเป็นที่ระลึกแชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีจุดนั่งพักชมวิวอีกหลายจุดริมหาดกระบองเพชร ซึ่งต่อเนื่องกับหาดม่วงงาม มีความงดงามตามธรรมชาติ ไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งชุมชนก็ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ และกลายเป็นจุดเช็คอินใหม่ดึงดูดให้ไปท่องเที่ยว พร้อมกับเตือนภัยไปในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ บริเวณแนวชายหาดชลาทัศน์และหาดสมิหลา จ.สงขลา ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก มีการปักแผ่นป้ายแจ้งเตือนขนาดใหญ่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่มาท่องเที่ยวชายหาดทั้ง 2 แห่ง มีข้อความว่า “แจ้งเตือนภัย!!! ระวังแมงกะพรุนพิษ บริเวณชายหาดสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ และเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเล หากพบเจอห้ามจับ สำหรับผู้ที่ถูกพิษของแมงกะพรุน ให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูเท่านั้น ติดต่อสายด่วน 1132 1669 และ โทร 074-31424
นอกจากนี้ สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 สงขลา มีการนำน้ำส้มสายชูมาใส่ไว้ที่เสาที่ปักไว้ริมชายหาด และมีป้ายบอกขั้นตอนในการรักษาพยาบาลเมื่อโดนแมงกะพรุนพิษอย่างละเอียด เพื่อให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยวและประชาชน หากโดนแมงกะพรุนพิษก็สามารถที่จะมานำน้ำส้มสายชูจากบริเวณที่ใกล้ที่สุดไปใช้ได้ทันที
สำหรับสาเหตุการพบแมงกะพรุนกลุ่ม Scyphozoa ในพื้นที่น่านน้ำจังหวัดสงขลา น่าจะมาจากกระแสน้ำและคลื่นลม เนื่องจากแมงกะพรุนเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดใหญ่ล่องลอยในน้ำ ส่วนแมงกะพรุนกล่องอยู่ในระหว่างการศึกษาปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการแพร่กระจาย ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งทะเลของจังหวัดสงขลาจัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบแมงกะพรุนกล่อง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรง
ทั้งนี้ ข้อมูลความหลากหลายของแมงกะพรุน โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบจำนวน 15 ชนิด เป็นแมงกะพรุนในกลุ่ม Cubozoa หรือ แมงกะพรุนกล่อง จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Morbakka sp. A, Morbakka sp. B, Carukiidae (unidentifiable) และ Chiropsoides buitendijki
แมงกะพรุนกลุ่ม Scyphozoa จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ Acromitus flagellatus (แมงกะพรุนหางขน) Catostylus townsendi (แมงกะพรุนขี้ไก่หรือแมงกะพรุนถ้วย) Cyanea buitendijli (แมงกะพรุนรกช้าง) Lobonemoides sp. (แมงกะพรุนลอดช่อง) Lychnorhiza malayensis (แมงกะพรุนนก) Phyllorhiza punctata (แมงกะพรุนลายจุดหรือแมงกะพรุนด่างออสเตรเลีย) Chrysaora sp. (แมงกะพรุนไฟ) Rhopilema hispidum (แมงกะพรุนหนังหรือแมงกะพรุนส้มโอ) และ Versuriga anadyomene (แมงกะพรุนหอม)
แมงกะพรุนกลุ่ม Hydrozoa จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Physalia cf. utriculus (แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสหรือแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสหรือแมงกะพรุนหัวขวด) และ Porpita porpita (แมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์หรือแมงกะพรุนกระดุมสีฟ้า)
โดยมีแนวโน้มพบแมงกะพรุน C. buitendijki และแมงกะพรุนในสกุล Morbakka ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม และพบแมงกะพรุนไฟ Chrysaora ตลอดช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือถึงช่วงต้นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายนและพบแมงกะพรุน P. cf. utriculus ในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ทำอย่างไรเมื่อถูกพิษแมงกะพรุน!?
เว็บไซต์พบแพทย์ (POBPAD) ให้ข้อมูลเรื่อง “แมงกะพรุนต่อยกับการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธี” ไว้ว่าแมงกะพรุนเป็นสัตว์น้ำอันตรายที่ต้องคอยระวังเมื่อว่ายน้ำหรือดำน้ำในทะเล เพราะแมงกะพรุนเกือบทุกสายพันธุ์มีกระเปาะพิษขนาดเล็กอยู่ตามหนวด หากสัมผัสโดนพิษจะเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีอาการปวด บวม และเกิดรอยแดงเป็นแนวยาวตามผิวหนัง ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
แมงกะพรุนต่อยมีอาการอย่างไรบ้าง?
อาการที่พบได้ทั่วไปเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย ได้แก่ ปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วง 1 ชั่วโมงแรก และคันตามผิวหนังหรือมีร่องรอยของหนวดแมงกะพรุนอยู่บนผิวหนังบริเวณที่ถูกต่อย ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจรู้สึกอ่อนแรง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก น้ำมูกและน้ำตาไหล เหงื่อออกมาก หรือเจ็บหน้าอก
แมงกะพรุนพิษที่พบได้บ่อยและอาจเสี่ยงถูกต่อยขณะเล่นน้ำทะเลมากที่สุด ได้แก่ แมงกะพรุนทั่วไป แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส และแมงกะพรุนกล่อง ซึ่งแต่ละชนิดก็ส่งผลให้เกิดอาการที่ต่างกันออกไป ดังนี้
1) แมงกะพรุนทั่วไป (True Jellyfish) มีพิษน้อยกว่าชนิดอื่นๆ โดยแมงกะพรุนในกลุ่มนี้ที่คนไปสัมผัสจนถูกต่อยมากที่สุด คือ แมงกะพรุนไฟ มีรูปร่างคล้ายระฆัง มีขนาดใหญ่ถึง 1 เมตร และอาจมีหนวดยาวถึง 30 เมตร เมื่อไปสัมผัสโดนหนวดจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดที่ผิวหนังบริเวณนั้นภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที และเกิดผื่นแดงนูนที่มีลักษณะเป็นรอยคล้ายโดนแส้ฟาดขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งอาการเหล่านี้มักทุเลาลงหลังผ่านไปประมาณ 30 นาที ส่วนผื่นแดงที่เกิดขึ้นจะเริ่มยุบลงภายใน 1 ชั่วโมง แต่จะยังคงทิ้งรอยไว้เป็นเวลานานหลายวันกว่าจะหายไปจนหมด
2) แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส (Portuguese Man-of-War) มีลักษณะเป็นกระเปาะใส อาจมีสีฟ้า ชมพู หรือม่วง ขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดยาวถึง 30 เมตร มีพิษร้ายแรงกว่าแมงกะพรุนทั่วไป แม้หนวดของแมงกะพรุนชนิดนี้จะหลุดออกจากตัวแล้ว แต่หนวดยังมีพิษอยู่ หากสัมผัสโดนจะรู้สึกเหมือนถูกสายฟ้าฟาด เจ็บ ชา แสบร้อน บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอกร่วมด้วย และเกิดผื่นนูนในบริเวณที่สัมผัสโดน ซึ่งอาจยุบลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นอาจกลายเป็นรอยดำหรือแผลเป็นนูน และหากมีอาการรุนแรงอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
3) แมงกะพรุนกล่อง (Box Jellyfish) รูปร่างเหมือนระฆังสี่เหลี่ยม สีกึ่งโปร่งใส เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุด เมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดผื่นนูนแดงบนผิวหนัง ลักษณะคล้ายถูกแส้ฟาด มีอาการปวดนานหลายชั่วโมง หากถูกพิษปริมาณมากอาจส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีสีเขียวคล้ำ เป็นตุ่มน้ำพอง เนื้อตาย และเกิดการติดเชื้อที่แผลตามมาได้ นอกจากนี้ หากถูกพิษอย่างรุนแรงจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
๐ วิธีการปฐมพยาบาลหลังถูกแมงกะพรุนต่อย
หากพบผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกแมงกะพรุนต่อย สามารถช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำ โดยให้อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหวเพื่อลดการกระจายของพิษแมงกะพรุน ในกรณีที่ผู้บาดเจ็บหมดสติ ควรจัดท่าให้นอนลงและอาจเชยคางขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจ เป่าปากหรือทำ CPR โดยประสานมือทั้ง 2 ข้างแล้วกดลงบนหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย เพื่อช่วยให้ผู้ที่บาดเจ็บกลับมามีสติอีกครั้ง
2. ล้างแผลและนำหนวดแมงกะพรุนออก ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ถูกแมงกะพรุนต่อยเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที เพื่อป้องกันการกระจายของพิษ หากไม่มีน้ำส้มสายชูสามารถใช้น้ำอัดลมแทนได้ แต่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่า และห้ามล้างด้วยน้ำจืดเพราะจะทำให้พิษกระจายตัวมากขึ้น จากนั้นใช้ไม้หรืออุปกรณ์อื่นๆ คีบหนวดแมงกะพรุนออกจากร่างกาย ห้ามใช้ทรายถู ห้ามขูดผิวหนังบริเวณดังกล่าว และห้ามใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลไว้
3. บรรเทาอาการ หากโดนแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษไม่รุนแรงต่อย สามารถบรรเทาอาการปวดโดยการใช้น้ำแข็งประคบที่แผล รับประทานยาแก้ปวด รับประทานยาแก้แพ้ หรือทาครีมไฮโดรคอร์ติโซนเพื่อบรรเทาอาการคันและบวม แต่หากมีอาการรุนแรงก็ควรรีบไปพบแพทย์
4. สังเกตุอาการ หลังถูกแมงกะพรุนต่อย ควรเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 45 นาที หากปวดที่บาดแผลอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หลัง หรือลำตัว กระสับกระส่าย สับสน เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน มือสั่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หน้าซีด หรือบริเวณปลายมือและเท้าเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
การป้องกันแมงกะพรุนต่อย การป้องกันการถูกพิษจากแมงกะพรุนขณะลงเล่นน้ำทะเลทำได้โดยปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำชายหาดเกี่ยวกับชนิดของแมงกะพรุนที่พบในบริเวณดังกล่าวและจำนวนผู้ที่ถูกแมงกะพรุนต่อย เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยปกติแล้วจะพบแมงกะพรุนได้มากในช่วงฤดูฝน ซึ่งในช่วงที่แมงกะพรุนชุกชุม เจ้าหน้าที่อาจประกาศห้ามลงเล่นน้ำด้วย
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างชุดดำน้ำหรือชุดว่ายน้ำที่คลุมทั้งตัวและสวมถุงมือเมื่อลงเล่นน้ำหรือดำน้ำในบริเวณที่อาจพบแมงกะพรุน โดยหลีกเลี่ยงการหยิบจับซากแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่า เพราะอาจสัมผัสโดนพิษได้ รวมทั้งระมัดระวังการลงเล่นน้ำทะเลในตอนกลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาที่แมงกะพรุนจะลอยขึ้นมาที่ผิวน้ำ
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกแมงกะพรุนต่อย และเตรียมชุดยาสำหรับปฐมพยาบาลไปด้วยทุกครั้งที่ไปทะเล
- หากดำน้ำแล้วพบแมงกะพรุนลอยอยู่เหนือศีรษะ ให้ปล่อยลมออกจากถังออกซิเจนสำรอง เพื่อไล่หรือทำให้ฝูงแมงกะพรุนกระจายตัวออกไป
- หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในบริเวณที่แมงกะพรุนชุกชุม และไม่สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ทะเล เพราะอาจมีพิษเช่นเดียวกับแมงกะพรุน