คนยุคนี้เข้าใจกันกว้างขวางขึ้นมาก ว่าในที่สุดแล้วพลาสติกทุกชิ้นจะมีอายุนานกว่าเต่า คือจะคงรูปนานกว่า 300 ปี ขึ้นไป
ใน 300 ปี พลาสติกทุกชิ้นที่ไม่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลหรือเผาเป็นพลังงาน ในที่สุดจะเคลื่อนถึงแหล่งน้ำแล้วไหลลงทะเลจนได้
จากนั้นมันจะไม่สลายเปื่อยหายเป็นปุ๋ยเป็นดิน แต่ยุ่ยเป็นไมโครพลาสติก ที่มีขนาดจิ๋วจนเข้าไปอยู่ในสัตว์น้ำทุกประเภทต่อไป
ดังนั้น ขยะพลาสติกในทะเลจึงทยอยเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ตั้งแต่กุ้งหอยปูปลา มาจนถึงสาหร่ายทะเลและนกทะเล ซึ่งมนุษย์กินต่ออีกที
ไมโครพลาสติกจะส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บ้าง ยังต้องวิจัยติดตาม แต่คงไม่ทำให้ฉลาดขึ้นหรืออายุยืนยาวแข็งแรงแน่
การรักษาทะเลให้สะอาดจึงจำเป็น
มนุษย์มักมองว่ามหาสมุทรใหญ่กว่าแผ่นดินมาก
แม้เอาภูเขา แผ่นดิน ทั้งหมดไปถมทะเล ก็จะเหลือแผ่นมหาสมุทรที่ใหญ่กว่า 7 ทวีป รวมกันอยู่นั่นเอง คือทั้งกว้างทั้งลึก
ในอดีต เมื่อมนุษย์คิดค้นกฏหมายขึ้นมา จึงมองทะเลเป็นเพียงอาณาเขตอย่างหนึ่งของเผ่าพันธุ์
การใช้กฏหมายทะเลตั้งแต่เริ่มจึงเน้นเรื่อง ทะเลอาณาเขต
โดยใช้วิชาสมุทรศาสตร์น้ำขึ้นน้ำลงปานกลาง และวิธีทางคณิตศาสตร์ มากำหนดเส้นฐานที่ฝั่ง แล้วตกลงกันว่า ทะเลอาณาเขตของรัฐใดๆในโลก ให้นับออกไป 12 ไมล์ทะเล คือราวๆ 22 กิโลเมตรบนบก
ใครมาทำอะไรในเขตนี้ เท่ากับทำกิจกรรมใต้กฏหมายที่ผู้คนบนรัฐชายฝั่งถูกกำหนดไว้ ใช้อำนาจรัฐลุยลงทะเลไปบังคับกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์
ต่อมามีการรับรองเขตออกไปเป็น 200 ไมล์ทะเล ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ นอกจากนั้นยังกำหนดเรื่องอำนาจตามเขตไหล่ทวีปอีกแนว โดยถือว่าแร่ใต้น้ำ ปลาในทะเล เป็นสมบัติของรัฐชายฝั่ง ใครจะมาจับมาขุดเอาไปโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ไม่ได้
ที่เล่ามามีแต่เรื่องขอบเขตและทรัพยากรทั้งนั้น ยังไม่มีเรื่องระบบนิเวศทางทะเลสักเท่าใด
เมื่อมนุษย์เข้าใจวงจรธรรมชาติกับห่วงโซ่อาหารจากทะเลดีขึ้น ก็มีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการรักษาคุณภาพของวงจรทางทะเลเกิดขึ้น
การทิ้งเทสิ่งที่เป็นขยะจากเรือ ปรากฎอยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง ที่ชาวเรือไทยรู้จักความตกลงนี้ว่า พิธีสาร Ma Po (Marine Pollutions ) หรืออนุสัญญาป้องกันมลพิษจากเรือ 1978 และไทยเข้าเป็นภาคีไปบางฉบับ
ส่วนการทิ้งเทสิ่งที่ไม่ประสงค์จากบนแผ่นดินด้วยการขนออกมาทิ้งใส่ทะเล ปรากฏในอีกความตกลงหนึ่ง อันเป็นที่มาของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับปี 1972 เรียกชื่อย่อกันว่า อนุสัญญาลอนดอน 1972
แต่ 20 ปี ต่อมา ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่าสิ่งที่ตกลงกันในปี 1972 ยังไม่ทันสมัย เลยขยับมาสร้างพิธีสารฉบับ 1992 เรียก London Protocal 1992 มีสถานะเป็นสนธิสัญญาเอกเทศแยกต่างหาก
กำหนดหลักการใหม่ๆเข้าไปในเวทีประชาคมกฏหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอีกสองหลัก
หนึ่งคือหลัก 2P หรือ Precautionary Principle เน้นว่าควรป้องกันล่วงหน้า อย่ารอให้เกิดปัญหากับทะเลแล้วค่อยมาตามแก้ไข
สองคือหลัก 3P หรือ Polluters Pays Principle ระบุว่าใครก่อมลพิษก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าแก้ไขมลพิษนั้นๆ
เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาปีนี้ (2563) รัฐบาลไทยเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาไทยในการไปเข้าเป็นภาคีสมาชิกพิธีสาร London Protocal 1992 และรัฐสภาได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบด้วย
ชื่อเป็นทางการคือ พิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล เนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ.1972
แปลว่าไทยได้ภาคยานุวัตรเข้าเป็นสมาชิกพิธีสารนี้ตามหลังบรรดาประเทศที่โดดเข้าร่วมไปก่อนหน้า 53 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 40.74% ของชาติที่เป็นเจ้าของกองเรือที่มีในโลก
อาเซียนยังไม่มีชาติใดเข้าเป็นภาคีพิธีสารนี้นอกจากฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปก่อนหน้า
แปลว่านับแต่นี้รัฐไทยจะมีอำนาจห้ามใครๆทั้งไทยหรือเทศ เอาอะไรก็ตามที่ไม่อยากให้อยู่บนบกไป ทิ้ง ไปเท หรือไปเผาทิ้งทำลายอยู่ในเขต 200 ไมล์ทะเล จากชายฝั่งของไทย หรือแม้แต่ไหล่ทวีป ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ไม่ว่าจะทำโดยบินอากาศยานเข้ามาโปรย จะแล่นเรือเข้ามาทิ้งเท หรือจะลอยทุ่น บังคับวิทยุอะไรเข้ามา เพื่อจมมันลงหรือเผามันทิ้ง ก็ไม่ได้
ห้ามเด็ดขาด ยกเว้นกิจกรรม 8 ประเภทที่อนุสัญญานี้ระบุไว้ในเอกสารแนบ ที่รัฐชายฝั่งอาจพิจารณาอนุญาตได้เมื่อมีการกำหนดวิธีที่ปลอดภัยกันแล้วเช่น การทิ้งตะกอน ทิ้งวัสดุขุดลอก ทิ้งเศษอินทรียวัตถุจากอุตสาหกรรมแปรรูปการประมง การจมเรือลงก้นทะเล การจมแท่นขุดเจาะพลังงานลงในทะเล แถมข้อตกลงนี้ยังก้าวหน้าไปถึงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ที่วันหนึ่งจะมีกิจกรรมป้องกันภาวะโลกร้อนด้วยการสกัดเอาคาร์บอนไดออกไซด์มากักเก็บในภาชนะแล้วฝังลงไปใต้ทะเล
ไทยมีกฏหมายภายในเกี่ยวกับทะเลไม่มากฉบับนัก และกฏหมายแม่บทที่มี ก็ไม่ชัดว่าครอบคลุมถึงกิจกรรมถึงเขต 200 ไมล์ทะเลและไหล่ทวีปแค่ไหน
ที่มีไปถึงได้ ก็เน้นเฉพาะกิจกรรมที่เป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์น้ำ เพราะนั่นคือกฏหมายประมงของไทย ซึ่งไม่ใช่กฏหมายเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรงๆ
ส่วนกฏหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย ก็เป็นกฏหมายเก่าแก่อายุเกินร้อยปี จึงไม่มีหมวดหมู่หรือหลักการที่ทันสมัยเพียงพอจะระบุเรื่องคุณภาพสิ่งแวดล้อมและวงจรระบบนิเวศในทะเลชัดๆ
การเข้าเป็นภาคีพิธีสาร London จึงทำให้ในไม่ช้า รัฐบาลไทยจะต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามมาให้รัฐสภาเห็นชอบ สำหรับใช้ป้องกันมลพิษทางทะเล เพื่อระบุว่าการทิ้ง การเท การเผา การละทิ้ง สิ่งใดๆ ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ในเขตทะเลทุกประเภทของไทย เป็นกฏหมายภายใน ห้ามอย่างมีข้อกำหนดและอนุบัญญัติที่เพียงพอ
และมีอำนาจยกเว้น 8 กิจกรรมข้างต้นที่ให้ขออนุญาตอย่างเปิดเผยต่อรัฐบาลไทย ซึ่งคงต้องมีบทบาทร่วมกันหลายหน่วยในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตด้วยเงื่อนไขและวิธีการที่ทันสมัย ใช้ความรู้ ความรับผิดชอบและมีเทคโนโลยีที่สามารถเปิดเผยตรวจสอบได้
หลายปีที่ผ่านมา นับแต่รัฐบาลจีนสั่งให้หยุดรับซื้อขยะนำเข้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อก้าวสู่ยุคพัฒนาทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขยะพลาสติกจำนวนมากที่หาทางหลบกฏระเบียบที่เข้มงวดจากประเทศต้นกำเนิดก็เริ่มถูกส่งเข้ามาในอาเซียนเพื่อให้พ้นๆตัวไป
เพราะประเทศแถบนี้ยังอ่อนแอทั้งด้านหลักกฏหมายภายใน และอ่อนแอด้านความตระหนักรู้ภัยของขยะและมลพิษทะเล
ใครจะรู้ ว่ามีขยะของเสียกี่ส่วนที่ลักลอบหรือตบตาเจ้าหน้าที่จนสามารถเข้าถึงบนแผ่นดินได้ และยิ่งไม่มีใครรู้แน่ ว่ามีอีกเท่าไหร่ที่ ทิ้งเทลงทะเลไปเฉยๆเสียตั้งแต่ยังไม่เข้าถึงฝั่ง
อำนาจระดับรัฐในอาเซียนจึงควรเพิ่มพลังแก่กันในการตรวจตรา ลาดตระเวน เฝ้าระวังพฤติกรรม midnight run อย่างที่เคยเกิดมากในสหรัฐเมื่อสี่สิบปีก่อน ตามทุ่ง ตามป่าข้างถนน ที่รถบรรทุกกากอุตสาหกรรมแอบแล่นไปเททิ้งในที่ลับตา กว่าจะรู้ก็เมื่อถังเหล็กถังไวนิลเหล่านั้นแตกเสียหาย ในหลายๆปีต่อมา จนกระทั่งสารพิษไหลลงระบบน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน กว่าชาวบ้านผู้รับเคราะห์ออกค้นหาสาเหตุ จึงได้ไปเจอเข้า ซึ่งแก้ไขยากแล้ว
เหตุการณ์เหล่านี้กลายเป็นคดีตัวอย่างที่พวกผมใช้เล่าเรียนในช่วงปี 1991-1992 ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ วิชากฏหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังนับเป็นวิชาใหม่ๆในสมัยนั้น
แต่บัดนี้กิจกรรมทำนองเดียวกันได้กลายมาเป็นการทิ้งเทขนาดใหญ่นอกประเทศ แหล่งกำเนิดด้วยเรือขนส่งที่แล่นผ่านน่านน้ำต่างๆที่มีระบบอ่อนแอกว่าในการป้องกัน
สำหรับเราคนไทยที่อยู่ในกระแสเริ่มตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก การงดแจกถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ การเตรียมยกเลิกหลอดดูดพลาสติกและโฟมบางบรรจุอาหารในปีหน้า ก็น่าเชื่อว่าคงพอใจกับการที่ไทยเข้าร่วมกติกาสากลเรื่องการรักษาทะเลไม่ให้ต้องรับสารพิษและขยะสารพัดข้างต้น
เราสะเทือนใจกับการตายของพะยูน วาฬ และโลมา รวมทั้งเต่าทะเลมานับไม่ถ้วนแล้ว
แถมไทยติดอันดับที่ 6 ในฐานะชาติผู้ปล่อยขยะลงทะเลของโลก
พิธีสาร London ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาไปเดือนกรกฎาคม 2563 คงจะช่วยให้สังคมไทยสามารถขยับใช้มาตรการต่างๆที่ภาครัฐและประชาสังคมจะนำออกมาใช้คุ้มครองทะเลและระบบนิเวศกันอย่างเข้มแข็ง และช่วยกันหาวิธีชดเชยเพื่อลดการใช้พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษจากช่วงโควิดระบาดในปีนี้ให้ได้ร่วมกัน
โดย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สาระสำคัญของพิธีสารและร่างพระราชบัญญัติ
1. พิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการควบคุมการทิ้งเทลงในทะเลโดยห้ามทิ้งเทของเสียและวัสดุอย่างอื่นจากเรือ อากาศยาน แท่นหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ดังนี้
1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับบริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีจะพิจารณาการใช้บังคับบทบัญญัติในพิธีสารกับการทิ้งเทหรือเผาในเขตน่านน้ำภายใน หรือใช้ระบบการอนุญาตและมาตรการทางกฎหมายอื่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมการทิ้งของเสียหรือวัสดุอย่างอื่นอย่างจงใจลงทะเลในเขตน่านน้ำภายในก็ได้
1.2 กำหนดกิจกรรมที่ต้องมีการขออนุญาต ได้แก่ การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล การเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเล และการห้ามเผาวัสดุทุกชนิดและทุกประเภทในทะเล
1.3 กำหนดให้การทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล และการเก็บวัสดุต่าง ๆ ใต้ทะเลหรือดินใต้ผิวดินในทะเลจะต้องเป็นการทิ้งเทหรือเก็บวัสดุจากเรือหรืออากาศยานซึ่งไม่รวมถึงเรือและอากาศยานที่ได้รับความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล
1.4 กำหนดให้ของเสียหรือวัสดุอื่นที่สามารถทิ้งเทลงทะเลได้จะต้องได้รับอนุญาตก่อนทำการทิ้งเท จำนวน 8 ประเภท ได้แก่ วัสดุที่ขุดลอก กากตะกอนน้ำเสีย ของเสียจากอุตสาหกรรมประมงและวัสดุจากการปฏิบัติการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เรือหรือแท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล วัสดุทางธรณีวิทยาหรืออนินทรีย์สารที่มีความเฉื่อย วัสดุอินทรีย์จากธรรมชาติ วัตถุขนาดใหญ่ และกระแสคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ วัสดุทั้ง 8 ประเภทข้างต้นจะต้องได้รับการอนุญาตก่อนทำการทิ้งเทโดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาต ให้เป็นไปตามที่รัฐภาคีกำหนด
1.5 กำหนดให้รัฐภาคีต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะใช้ประกอบการพิจารณาประเมินการทิ้งเท ได้แก่ การป้องกันการเกิดของเสีย ทางเลือกในการจัดการของเสีย คุณสมบัติทางเคมี กายภาพและชีวภาพ รายการจัดชั้นสาร สถานที่ทิ้งเท และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
1.6 กำหนดข้อยกเว้นให้รัฐภาคีสามารถออกใบอนุญาตให้สามารถทิ้งเทวัสดุหรือของเสียลงทะเลได้ หากเข้ากรณีต่อไปนี้
1.6.1 มีเหตุจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตมนุษย์ เรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล ไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยจากความรุนแรงของสภาพอากาศ หรือด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ ก็ตามที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ ภัยคุกคามต่อเรือ อากาศยาน แท่นขุดเจาะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้นในทะเล โดยที่การทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุในทะเลนั้นเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะป้องกันมิให้เกิดภัยคุกคามดังกล่าว รวมถึงป้องกันอันตรายต่อชีวิตมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล
1.6.2 เหตุฉุกเฉินจำเป็นที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ ความปลอดภัยหรือสิ่งแวดล้อมทางทะเล
อย่างไรก็ตาม รัฐภาคีอาจสละสิทธิ์ในการใช้ข้อยกเว้นข้างต้นได้ โดยให้แจ้ง ณ เวลาที่ได้มีการให้สัตยาบันหรือการภาคยานุวัติพิธีสารนี้
2. ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงทะเล พ.ศ. …. เป็นร่างพระราชบัญญัติที่ออกเพื่อรองรับพันธกรณีตามพิธีสารลอนดอน ค.ศ. 1996 มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดให้มีผลบังคับใช้บริเวณทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ยกเว้นบริเวณน่านน้ำภายใน
2.2 กำหนดรองรับเนื้อหาของพิธีสารลอนดอนฯ ในข้อ 1.2 – 1.6 โดยกำหนดให้วัสดุที่สามารถทิ้งเทในทะเลได้ จำนวน 8 ประเภท และกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาอนุญาตให้ทิ้งเทวัสดุทั้ง 8 ประเภท ตามข้อ 1.4 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
2.3 กำหนดให้มี “คณะกรรมการป้องกันมลพิษทางทะเลเนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
2.3.1 กำหนดนโยบายและแผนป้องกันมลพิษทางทะเล เนื่องจากการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมทั้งกำหนดแนวทางและให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำกับดูแลการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
2.3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่น รวมถึงกำหนดคุณสมบัติของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการประเมินการทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นที่ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายงานการประเมินการทิ้งเทของเสีย หรือวัสดุอื่น
2.3.3 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย รวมทั้งปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
2.4 กำหนดบทกำหนดโทษ ดังนี้
2.4.1 มาตรการทางปกครอง กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล หรือกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
2.4.2 มาตรการทางแพ่ง กำหนดให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเป็นการลงโทษทางแพ่งเพิ่มเติมขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ทิ้งเทหรือเผารู้อยู่แล้วว่าของเสียหรือวัสดุอื่นนั้นเป็นของที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าไม่ปลอดภัยภายหลังทิ้งเทนั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งกรณี
2.4.3 กำหนดให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามทิ้งเทของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเล ทิ้งเทหรือเผาของเสียหรือวัสดุอื่นลงในทะเลโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉินซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายนี้ หรือกระทำการฝ่าฝืนใบอนุญาตต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น
2.4.4 กำหนดให้ผู้กระทำฝ่าฝืนข้อห้ามเผาของเสียหรือวัสดุอื่นในทะเล ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2563
ข้อมูลอ้างอิง https://www.ryt9.com/s/cabt/3112783