xs
xsm
sm
md
lg

คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร่างคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร


คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นจำนวนไม่เกิน 3,300,000,000,000 บาท (สามล้านสามแสนล้านบาท) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,300,000,000,000 บาท (สามล้านสามแสนล้านบาท) เหตุผล เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จ เป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกัน ทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่า จะปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ (-6.0)-(-5.0) โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามทางการค้า และจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการดำเนินมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของระดับความรุนแรงของการระบาดภายในประเทศ คาดว่า จะทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ได้ถึงระดับใกล้เคียงภาวะปกติภายในไตรมาสที่สอง และการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในต่างประเทศ จะทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จนถึงระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ภายในไตรมาสที่สาม ในขณะที่มาตรการควบคุมด้านการท่องเที่ยว คาดว่า จะมีการผ่อนคลายภายในไตรมาสที่สี่ ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คาดว่า จะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก และการเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการท่องเที่ยว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเทียบกับปี 2563 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติ

ในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายลง รวมถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศตามการเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ทั้งการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงแ ละมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินการคลังในต่างประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564
นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง

ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวมสุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,798,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 จากปีก่อน และหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง

ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 121,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,677,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 623,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่าย

ฐานะการคลัง

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 7,018,731.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมเงินโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 6,517,617.1 ล้านบาท

ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลัง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะและนโยบายการเงิน

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีความผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม 2563 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.50 เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เร่งดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นๆ ควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อาทิ การปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินชั่วคราวจากร้อยละ 0.46 เป็นร้อยละ 0.23 เพื่อให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมได้ทันที มาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ ทั้งการเลื่อนการชำระหนี้และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อลดภาระหนี้และช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 มีจำนวน 235,708.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.8 เท่า ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

นโยบายการจัดทำงบประมาณ

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับส่งเสริมการสร้างรายได้ของประชาชนเพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวง และหน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมทางสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง

ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่สำคัญ ดังนี้

1. นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการบูรณาการในทุกมิติ ทั้งมิติกระทรวง/หน่วยงาน มิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ และมิติบูรณาการเชิงพื้นที่ เป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ ให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้การพัฒนาประเทศบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

2. ให้ความสำคัญกับการดำเนินภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาของประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศสู่อนาคต รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

3. ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นแก่ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

4. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุม ทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ พิจารณานำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนนโยบายสำคัญ หรือโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่มีความพร้อมในการดำเนินการสูง หรือรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง เพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการขยายตัว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ

5. ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,300,000 ล้านบาท
เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,677,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก จำนวน 623,000 ล้านบาท วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,526,131.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 674,868.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.0 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ดังนี้

1. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย
งบประมาณรายจ่ายที่กำหนดในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำแนกได้ดังนี้
1.1 งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 614,616.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.6 ของวงเงินงบประมาณ
1.2 งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 1,135,182 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34.4 ของวงเงินงบประมาณ
1.3 งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 257,877.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของวงเงินงบประมาณ จำนวน 14 เรื่อง ได้แก่
1. ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
3. ต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
4. เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
5. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
6. ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
7. พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
8. พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมสู่สากล
9. พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
10. พัฒนาพื้นที่ระดับภาค
11. พัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
12. พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
13. รัฐบาลดิจิทัล
14. สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

1.4 งบประมาณรายจ่ายบุคลากร รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 776,887.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.6 ของวงเงินงบประมาณ
1.5 งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 221,981.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของวงเงินงบประมาณ
1.6 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 293,454.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.9 ของวงเงินงบประมาณ

2. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 416,003.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงในทุกมิติและทุกระดับโดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ป้องกัน รักษาความสงบภายในประเทศ พัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ บูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 4,729.8 ล้านบาท เพื่อให้คนในชาติมีจิตสำนึก
รักและหวงแหน มุ่งจงรักภักดี พร้อมธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติโดยการพิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง

2) การรักษาความสงบภายในประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 28,661.8 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ รักษาความมั่นคงภายใน ปลูกฝังจิตสำนึกรักสามัคคีและส่งเสริมความปรองดองของคนในชาติ สนับสนุนภารกิจของกองอาสารักษาดินแดน กองกำลังประจำถิ่น เสริมสร้างศักยภาพการรักษาความมั่นคงภายในแบบพลเรือน ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐผ่านกลไกหมู่บ้าน พัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บังคับใช้กฎหมาย อำนวยความยุติธรรม และพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรม รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม

3) การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณทั้งสิ้น 9,731.7 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน มีเป้าหมายในการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่ลง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคง ให้สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ปรับสภาพแวดล้อมในพื้นที่มิให้เกิดการขยายตัวของความรุนแรง สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชนทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ยับยั้งการสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมาย รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจผ่านโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรแก่เกษตรกร ไม่น้อยกว่า 23,000 ราย พัฒนาฟาร์มตัวอย่าง 13 แห่ง พัฒนาฝีมือทักษะแรงงาน ไม่น้อยกว่า 800 คน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระยะทางไม่น้อยกว่า 62 กิโลเมตร เพื่อให้พื้นที่ชุมชนมีความน่าอยู่ ปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนการทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
ไม่น้อยกว่า 32,000 คน

4) การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 435.0 ล้านบาท เพื่อให้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและกลุ่มเสี่ยง ได้รับการคุ้มครองช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดยการขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปสู่การปฏิบัติ ตรวจสอบแรงงานต่างด้าว 248,000 คน ตรวจสอบสถานประกอบการ 37,000 แห่งทั่วประเทศ จำนวนแรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับการส่งเสริม พัฒนาและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 41,800 คน แรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านการประมงได้รับการคุ้มครอง 50,000 ราย จำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้รับการคุ้มครองกลับคืนสู่สังคม 1,100 คน และมีการดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ 200 คดี

5) การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด งบประมาณทั้งสิ้น 6,286.4 ล้านบาท เพื่อให้เด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด และไม่ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด มิให้เกิดผู้เสพรายใหม่ในกลุ่มประชากรวัยเสี่ยงสูง (อายุ 15 – 24 ปี) เกินร้อยละ 60 ของผู้เสพรายใหม่ทั้งหมด จัดให้มีกลไกการวางแผนป้องกัน แก้ไขและช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ ปราบปรามจับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และร่วมมือกับต่างประเทศในการควบคุมและสกัดกั้นยาเสพติด เพื่อลดระดับความรุนแรงของพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดลงอย่างน้อยร้อยละ 10 จากเป้าหมายที่ผ่านมา รวมทั้งบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด สร้างการยอมรับและให้โอกาสทางสังคม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบผ่านมาตรการทางเลือกเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และติดตามอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 55

6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อ ความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 15,354.7 ล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนมีความพร้อมและสามารถแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทุกรูปแบบ ทุกมิติและทุกระดับความรุนแรง โดยการพัฒนาศักยภาพการรักษาความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศและไซเบอร์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ตรวจติดตามและเฝ้าระวัง การทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมายไม่น้อยกว่า 245,000 ครั้ง เพิ่มศักยภาพด้านการสืบสวนสอบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายมวลชนและแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ลดความเสียหายและป้องกันการพังทลายของพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำชายแดนระหว่างประเทศ ความยาวรวม 43,985 เมตร

7) การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ งบประมาณทั้งสิ้น 80,365.2 ล้านบาท เพื่อให้กองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคง มีความพร้อมที่จะเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทุกมิติ และทุกระดับความรุนแรง ระบบและแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติทันสมัยและปฏิบัติได้จริง หน่วยงานด้านการข่าวและประชาคมข่าวกรองมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาระบบเทคโนโลยีและเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระบบงานข่าวกรองแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

8) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ งบประมาณทั้งสิ้น 11,807.3 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในขีดความสามารถในการปฏิบัติงานภัยพิบัติฉุกเฉิน การกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งลดความสูญเสีย และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พัฒนาศักยภาพการเตือนภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในเวลาที่กำหนดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วตามเวลามาตรฐานภายใน 72 ชั่วโมง

9) การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม งบประมาณทิ้งสิ้น 288.7 ล้านบาท เพื่อให้กลไกการบริหารจัดการความมั่นคงมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยส่งเสริมการบูรณาการกลไกการบริหารจัดการความมั่นคง การเสริมความพร้อม และยกระดับกลไกด้านความมั่นคงระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายผ่านการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

10) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ งบประมาณทั้งสิ้น 5,316.0 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้าน
การต่างประเทศเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ในทุกมิติ ทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี รักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในบริบทโลกหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเป็นแกนกลางของอาเซียน และสร้างความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจอย่างสมดุล เพื่อป้องกันและเตรียมความพร้อมให้สามารถรับมือกับความท้าทายจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยเป็นฐานและห่วงโซ่การผลิตและแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของภูมิภาคและของโลก พัฒนาความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคกับประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ และขยายความร่วมมือ ด้านวิทยาศาสตร์ ดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำจุดแข็งด้านสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับจากความสำเร็จในการจัดการสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผลักดันให้ไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลในภูมิภาค รวมถึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างมีเอกภาพและบูรณาการการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ดูแลและคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติภูมิ

11) การสนับสนุนด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 1,579.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้าน ความมั่นคง โดยการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เสริมสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ความรู้ด้านพลเมืองศึกษาและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการ

12) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 57,616.3 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินภารกิจด้านความมั่นคงมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยการสร้างความพร้อมด้านการป้องกันประเทศ
การดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือในการดำเนินงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศไทยกับมิตรประเทศ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณทั้งสิ้น 193,831.8 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 402,310.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการ สร้างมูลค่าภาคการเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณทั้งสิ้น 109,023.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองรับการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้มีความเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ ครอบคลุมทั้งเส้นทางภายในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการขนส่งหลายรูปแบบ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน เช่น ก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน ระยะทางประมาณ 694 กิโลเมตร ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสาย
บางปะอิน-สระบุรี นครราชสีมา ระยะทางรวมประมาณ 309 กิโลเมตร พัฒนาทางโครงข่ายทางหลวงชนบท ระยะทางประมาณ 1,007 กิโลเมตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการขนส่งทางราง ระยะทาง 608.7 กิโลเมตร พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เช่น ขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเล จำนวน 8 ร่องน้ำ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง เพิ่มประสิทธิภาพทางเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 2,255 เมตร เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 122 ล้านตัน เพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานในภูมิภาค 21 แห่ง โดยพัฒนาและปรับปรุงขยายท่าอากาศยาน 11 แห่ง และเป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งการกำกับดูแลและพัฒนามาตรฐานด้านการขนส่งทุกรูปแบบให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย เชื่อมโยงการค้าสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจสำหรับการนำเข้า-ส่งออกและโลจิสติกส์ (National Single Window : NSW) ตลอดจนพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์อื่น ได้แก่ มาตรฐาน บุคลากร การวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

2) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณทั้งสิ้น 22,712.7 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งในทุกมิติแบบไร้รอยต่อ ได้แก่ พัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางถนน ไม่น้อยกว่า 190 กิโลเมตร และเตรียมความพร้อมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระยะทางรวมไม่น้อยกว่า 220 กิโลเมตร ยกระดับศักยภาพท่าเรือน้ำลึก โดยพัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ พัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาสู่การเป็นมหานครการบิน โดยเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและทางขับ พัฒนาให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา พัฒนาและขยายโครงสร้างระบบสาธารณูปโภค ด้านการประปา พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยการจัดตั้งสถาบันไอโอที เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ พัฒนาบุคลากรโดยผ่านความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 28,000 คน ตลอดจนการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ ยกระดับระบบสาธารณสุขสภาพแวดล้อมเมือง และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของชุมชน

3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 5,790.2 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน พัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนให้มีความพร้อมสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จังหวัดนครพนม งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานแม่สอด จังหวัดตาก ก่อสร้างและขยายช่องจราจรทางหลวง และทางหลวงชนบท ระยะทางรวมประมาณ 83 กิโลเมตร พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว พัฒนาด่านศุลกากร เพิ่มประสิทธิภาพการบริการคนเข้าเมืองผ่านงานบริการโดยศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ด้านแรงงานต่างด้าว พัฒนาด้านสาธารณสุขชายแดนและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง พัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากร เช่น โครงการเพิ่มทักษะกำลังแรงงานในพื้นที่เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 10,300 คน ตลอดจนการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์และการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่

4) การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว งบประมาณทั้งสิ้น 6,967.9 ล้านบาท เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเครื่องมือในการลดความ เหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น รายได้เมืองรองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และเพิ่มอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในสาขาที่มีศักยภาพ ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ และการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค โดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม 22 เมืองหลัก 55 เมืองรอง สิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยว ปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมด้านการตลาด รวมทั้งเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อรองรับคนทั้งมวล ส่งเสริมระบบความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในทุกระดับ รวมถึงการปรับแผนการดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางและการท่องเที่ยวทั้งภายในและข้ามพื้นที่ (จังหวัด/ประเทศ)

5) การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล งบประมาณทั้งสิ้น 1,260.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีความรู้และความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ยกระดับความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ โดยสนับสนุนให้มีการขยายธุรกิจเข้าสู่สากลมากขึ้น สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความรู้ต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน โดยมีเป้าหมายให้ SME ไทย ไม่น้อยกว่า 300,000 ราย สามารถเติบโต เข้มแข็ง แข่งขันได้ในระดับสากล และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

6) การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต งบประมาณทั้งสิ้น 931.0 ล้านบาท เพื่อเพิ่มอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในสาขาอุตสาหกรรมและบริการ ร้อยละ 4.6 และเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการตลอดห่วงโซ่อุปทาน ร้อยละ 2.2 โดยพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตแบบครบวงจร และสร้างเศรษฐกิจฐานชีวภาพ 25 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ 30 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบราง และอากาศยาน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และชิ้นส่วนอากาศยาน ไม่น้อยกว่า
3 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาการจัดการฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และการคาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคต ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า

7) การพัฒนาพื้นที่ระดับภาค งบประมาณทั้งสิ้น 22,189.5 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ในระดับภาค ด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กระจายทั่วทุกภูมิภาค คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น อัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์ระดับภาคเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0-6.5 โดยเสริมสร้างองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ

8) การเกษตรสร้างมูลค่า งบประมาณทั้งสิ้น 6,696.7 ล้านบาท เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสาขาเกษตร ผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตรสูงขึ้น และสามารถแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีพัฒนาฐานทรัพยากรทางการเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่จำนวน 3,632 แปลง โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 110,661 ราย เกษตรทางเลือก เกษตรผสมผสาน วนเกษตรจำนวน 13,600 ราย/ 6,200 ไร่ เกษตรอินทรีย์ จำนวน 17,240 ราย / 459,050 ไร่/ 3,200 แปลง เกษตรปลอดภัย 8,100 ราย/9,800 ไร่/65,000 แปลง/ 29,000 ฟาร์ม/ 402,070 ตัวอย่าง และลดการใช้สารเคมีและการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพทดแทน 250,000 ไร่ รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรตามศักยภาพและความโดดเด่นเฉพาะสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้

9) การพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ งบประมาณทั้งสิ้น 3,636.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยการกระจายศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาค และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสารและพลังงานด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิทัลที่ทันสมัย เพื่อยกระดับความน่าอยู่ของเมือง โดยให้พื้นที่มีแผนผังภูมินิเวศเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ชนบทมั่นคง เกษตรยั่งยืน และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งผังพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณีและอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลด้านการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง 109 แห่ง วางและสนับสนุนด้านการวางผังเมือง 139 ผัง และจัดรูปที่ดิน 2,196 ไร่

10) การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน งบประมาณทั้งสิ้น 647.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดหาพลังงานและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน รักษาอัตราการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวในประเทศไม่น้อยกว่า 175,000 บาร์เรลต่อวัน
มีการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม และมีระบบรองรับเหตุฉุกเฉินด้านพลังงาน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างความรู้และความเข้าใจด้านการประกอบกิจการปิโตรเลียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมทั้งกำกับดูแลกิจการ และจัดทำนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้พลังงานมีคุณภาพ และราคาที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจูงใจให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

11) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล งบประมาณทั้งสิ้น 2,380.0 ล้านบาท เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจดิจิทัลจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ผ่านโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน 11,446 แห่ง และยกระดับศูนย์เรียนรู้ดิจิทัลชุมชนสังคมออนไลน์ที่ถูกต้องผ่านการสนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน 500 ศูนย์ บริการระบบตรวจสอบสิทธิการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ และพัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) พร้อมยกระดับเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย

12) การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 6,019.5 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมที่อยู่บนเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สมัยใหม่ พัฒนามาตรฐานระบบคุณภาพ และการวิเคราะห์ทดสอบที่เป็นที่ยอมรับตามข้อตกลงระหว่างประเทศและสอดรับกับความจำเป็นของอุตสาหกรรมปัจจุบันและอนาคต การออกแบบวิศวกรรม และการพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ ระหว่างผู้ใช้ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการเทคโนโลยีทั้งในภาครัฐและเอกชน ผ่านกลไกบูรณาการความเชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคลากรวิจัย สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย เสริมสร้างศักยภาพการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) และสนับสนุนนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1,810 ทุน ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

13) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 19,916.6 ล้านบาท เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สร้างองค์ความรู้ และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ผ่านการดำเนินการ 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ โดยสนับสนุนการพัฒนากำลังคนให้มีภูมิต้านทานเพื่อตอบสนองต่อปัญหาวิกฤตของประเทศ มีชุดความรู้ที่จำเป็นสำหรับอนาคตเพื่อให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจ (Disruptive Technology) รวมทั้งการพัฒนากำลังคนระดับสูงรองรับการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
ที่จะเป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ด้านสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมของประชาชนในการรองรับสภาวการณ์ต่าง ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล และการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศอย่างสมบูรณ์ ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุชีวภาพ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และแพลตฟอร์มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งระดับชุมชน โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจน รวมถึงการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ รวมทั้งปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เป็นหลักในการพัฒนานวัตกรรม นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน

14) การสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถ ในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 73,337.9 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทย
มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่น ๆ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อม เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและลดภาระต้นทุนการผลิต อาทิ การประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร การเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย จำนวน 3,930,000 ราย จัดให้มีเงินทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SME จำนวน 30,000 ราย ตลอดจนพัฒนาช่องทางการตลาด ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย สนับสนุนและยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต บริการ การค้าและการลงทุน

15) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 78,464.7 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินภารกิจด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยพัฒนาระบบขนส่งเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในเขตเมืองและภูมิภาค เพิ่มคุณภาพการให้บริการสาธารณะการเดินทาง การขนส่ง และการจราจรมีความปลอดภัย เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร จัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ อนุรักษ์ ปรับปรุงและฟื้นฟู เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ ส่งเสริมการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ ดูแลมาตรฐานสินค้า ราคาและบริการ ทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ส่งเสริมการดำเนินงานด้านการตลาด การท่องเที่ยวเพื่อรักษาฐานตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวไทย และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณทั้งสิ้น 42,335.8 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 577,755.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสามารถที่หลากหลายของคนไทยในทุกช่วงวัย มุ่งเน้นการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับศักยภาพของแรงงาน เพื่อวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การเสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี งบประมาณทั้งสิ้น 40,600.3 ล้านบาท เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยการส่งเสริมระบบการแพทย์ให้ทั่วถึง เช่น ระบบบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ผสมผสาน การแพทย์พื้นบ้าน โดยจัดให้มีหมอครอบครัว 2,145 ทีม สนับสนุนกลไกการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม. หมอประจำบ้าน โดยการฟื้นฟูความรู้ และเพิ่มพูนทักษะ ในการดูแลสุขภาพคนในชุมชนเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้และชุมชนสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืน พัฒนาน้ำมันกัญชาที่จะใช้ในทางการแพทย์และการแพทย์แผนไทย 2,000,000 ซีซี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเร่งรัดการผลิตแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่น้อยกว่า 27,000 คน และกระจายแพทย์ไปสู่ชนบทให้เพียงพอในพื้นที่ห่างไกล ไม่น้อยกว่า 8,000 คน เพื่อสร้างเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ พัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบการส่งต่อ สนับสนุนการเป็นเมืองศูนย์กลางบริการสุขภาพในอาเซียน

2) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต งบประมาณทั้งสิ้น 6,375.1 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรมเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างให้เด็กและเยาวชนได้มีพัฒนาการและทักษะที่เหมาะสมตามช่วงวัย ไม่น้อยกว่า 2,200,000 คน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 1,513,400 คน และอาหารกลางวัน ไม่น้อยกว่า 460,500 คน รวมถึงสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายให้แก่เด็กวัยเรียน จัดทำและทบทวนมาตรฐานอาชีพ 5 สาขา และคุณวุฒิวิชาชีพ 100 สาขา ส่งเสริมการยกระดับศักยภาพ ทักษะและสมรรถนะวัยทำงานให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความสามารถเฉพาะบุคคล ความต้องการของตลาดแรงงาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่น้อยกว่า 87,900 คน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาตลอดชีวิต ไม่น้อยกว่า 800,000 คน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลังสามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

3) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ งบประมาณทั้งสิ้น 3,012.3 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยมีการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ในทุกมิติ โดยสนับสนุนผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมายให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพหลากหลายตามความถนัดและความสามารถของพหุปัญญาของมนุษย์ พัฒนาคุณภาพวิชาชีพ และพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ขยายโอกาสการศึกษาวิชาชีพและพัฒนาทักษะวิชาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน 53,900 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) 73 แห่ง 24 สาขาวิชา เชื่อมโยงการศึกษากับภาคธุรกิจ โดยการขยายและยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคีสู่คุณภาพมาตรฐานร่วมกับสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 60,300 แห่ง ตลอดจนขับเคลื่อนความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาตามกรอบความร่วมมือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ ให้ตอบสนองภาคการผลิตและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 1,500 คน ปรับปรุงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษา ไม่น้อยกว่า 15,000 คน และส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ไม่น้อยกว่า 10,000 คน

4) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬา งบประมาณทั้งสิ้น 3,415.7 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรง โดยส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้และตระหนักถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อทักษะในการดำรงชีวิต ส่งเสริมการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาและการประกอบกิจกรรมนันทนาการของประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน พัฒนาบุคลากรด้านพลศึกษา กีฬา นันทนาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา ให้มีความสามารถและทักษะความเป็นเลิศด้านกีฬา สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกกำลังกาย
การกีฬาและนันทนาการ ส่งเสริมการพัฒนานักกีฬาของชาติตั้งแต่ระดับเยาวชนที่มีความถนัด และมีทักษะด้านการกีฬาสู่ความเป็นเลิศและกีฬาเพื่อการอาชีพ 21,000 คน รวมถึงส่งเสริมการฝึกหัดว่ายน้ำของเยาวชน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำของเยาวชนซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงปิดภาคการศึกษา

5) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม งบประมาณทั้งสิ้น 1,789.2 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทั้งประเทศมีคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทยที่ดีงาม รวมทั้งมีจิตสำนึกที่ดีและค่านิยมที่พึงประสงค์ มีความรักและความภูมิใจในความเป็นไทย ส่งเสริมชุมชนและท้องถิ่นในการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม ไม่น้อยกว่า 590,000 รายการ พัฒนาสืบสานมรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สังคมไทยมีความสุข และนำไปสู่การเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากลให้เป็นที่ยกย่องและยอมรับของนานาชาติ

6) การสนับสนุนด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 31,578.9 ล้านบาท เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ มีทักษะ มีความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ มีคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ โดยจัดสวัสดิการสนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิด - 6 ปี ไม่น้อยกว่า 1,966,000 คน สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ด้วยดิจิทัล 5 ระบบ ปรับปรุงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษา ไม่น้อยกว่า 11,100 โรงเรียน ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ไม่น้อยกว่า 32,800 โรงเรียน และเยาวชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน พัฒนาโรงเรียนคุณภาพทุกตำบล ไม่น้อยกว่า 8,200 โรงเรียน สร้างความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
สื่อออนไลน์ โครงข่ายสังคมออนไลน์อย่างถูกต้อง ไม่น้อยกว่า 186,600 คน ควบคู่กับการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 12,000 คน

7) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์งบประมาณทั้งสิ้น 73,944.5 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา และมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านให้กับนักเรียนในระดับก่อนประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 905,000 คน ในระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 3,080,900 คน มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 1,669,700 คน และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 941,500 คน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่น้อยกว่า 1,300 โรงเรียน สนับสนุนการคืนครูให้นักเรียนสำหรับนักเรียนพิการ จ้างธุรการ ภารโรง และพี่เลี้ยงเด็กพิการ ไม่น้อยกว่า 15,000 อัตรา สนับสนุนเด็กผู้มีความสามารถพิเศษได้รับการพัฒนาศักยภาพ ไม่น้อยกว่า 22,400 คน รวมทั้งขยายโอกาสทางการศึกษาสายอาชีพให้ทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานสู่สากล จำนวน 429 แห่ง พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 11,600 คน และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณทั้งสิ้น 417,039.2 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 795,806.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดความพออยู่ พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนไทยทุกคน
สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข การศึกษา เตรียมความพร้อมที่จะรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ สนับสนุนความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานของประชาชน และส่งเสริมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งสนับสนุนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น โดยจำแนกตามแผนงาน ดังนี้

1) การเสริมสร้างพลังทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 8,395.8 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง โดยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการสร้างครอบครัวที่แข็งแรง เด็กและเยาวชนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมบทบาทสตรีในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และพัฒนาทักษะอาชีพให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย พัฒนาคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไม่น้อยกว่า 249,000 ราย รวมทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พัฒนา อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่โครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ 112,800 ไร่ ส่งเสริมการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 11,900 ราย สร้างค่านิยมความเป็นไทย เสริมสร้างองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งเรียนรู้มรดกทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมคงอยู่อย่างยั่งยืน

2) การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งบประมาณทั้งสิ้น 319,232.8 ล้านบาท เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องการให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น โดยมีกิจกรรมสาธารณะที่สำคัญ ได้แก่ สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่นักเรียนโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1,085,000 คน เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ไม่น้อยกว่า 761,100 คน สนับสนุนอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวัน ให้เด็กวัยเรียน ไม่น้อยกว่า 5,524,000 คน สนับสนุนเบี้ยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ไม่น้อยกว่า 1,050,000 คน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 10,000,000 คน เบี้ยยังชีพคนพิการ ไม่น้อยกว่า 1,980,000 คน รวมทั้งปรับปรุงซ่อมแซมถนน แหล่งน้ำขนาดเล็ก ลานกีฬาและสนามกีฬา และส่งเสริมการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในท้องถิ่น

3) การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ งบประมาณทั้งสิ้น 23,413.6 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแบบบูรณาการครอบคลุมทุกมิติ การพัฒนาของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระดับภาค และระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำของความเจริญเติบโตระหว่างพื้นที่ โดยสนับสนุนให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน เชื่อมโยงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

4) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย งบประมาณทั้งสิ้น 944.3 ล้านบาท เพื่อเตรียมประชากรอายุ 25
ถึง 59 ปี ให้มีความพร้อมก่อนเข้าสังคมสูงวัย ไม่น้อยกว่า 23 ล้านคน และเพื่อให้ผู้สูงวัยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยผู้สูงอายุได้รับการเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพ มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 77,000 คน พัฒนาผู้สูงอายุและสร้างเครือข่ายความคุ้มครองทางสังคม 148,500 คน ผลิตสื่อและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างความตระหนักรู้ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ 3,220 แห่ง ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม ไม่น้อยกว่า 11.7 ล้านคน โดยพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน ดูแลสุขภาพช่องปาก บริการฝังรากฟันเทียมสำหรับผู้สูงอายุ จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 223 แห่ง พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3,800 คน เพื่อขยายผลการดูแลผู้สูงอายุ 57,000 คน

5) การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก งบประมาณทั้งสิ้น 2,688.9 ล้านบาท เพื่อให้ชุมชนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากร โดยมีการดำเนินการ 3 แนวทาง คือ การพัฒนาศักยภาพประชากรกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต โดยพัฒนาศักยภาพผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกิน 204,000 ราย ด้วยการบริหารจัดการที่ดินทำกินแก่เกษตรกร และผู้ด้อยโอกาส เกษตรกรได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก.4- 01 จำนวน 54,000 ราย เพิ่มประสิทธิภาพกองทุนชุมชนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต 150,000 ราย ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างขีดความสามารถ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร 4,000 ราย สนับสนุนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่องและเกษตรกรรุ่นใหม่ ขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ 50,300 ราย ยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชนได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง 21,700 ราย ส่งเสริมและสร้างทักษะในการประกอบอาชีพทั้งในและนอกภาคเกษตร 1,330 ราย ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจ 500 ราย การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุมชน โดยพัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่มและผลิตภัณฑ์ชุมชน สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนได้รับการพัฒนา 1,700 กลุ่ม ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรในระดับชุมชน 306 ผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการสร้างความรู้ด้านการสร้างมูลค่า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับผลิตผลทางการเกษตร 1 จังหวัด 1 ชุมชนเกษตร พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP 6,436 ผลิตภัณฑ์ การพัฒนากลไกการตลาดและระบบบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ส่งเสริมการพัฒนาระบบเครือข่ายตลาดเกษตรกร การประชาสัมพันธ์ตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ สนับสนุนตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่นเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในตลาดและชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้เป็นหมู่บ้านทำมาค้าขาย พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และธุรกิจชุมชนอย่างเป็นระบบสู่ความยั่งยืน ส่งเสริมการพัฒนากลไกและโครงสร้างดูดซับมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้กลับสู่ท้องถิ่น โดยส่งเสริมช่องทางการตลาด เสริมสร้างความเข้มแข็งธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย พัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

6) การสร้างหลักประกันทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 288,298.7 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยได้รับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์ฯ (เหมาจ่ายรายหัว) ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวจาก 3,600 บาท เป็น 3,719.23 บาท ให้กับประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ ไม่น้อยกว่า 47.6 ล้านคน และเพิ่มบริการล้างไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยเครื่องอัตโนมัติ ส่งเสริมการสร้างหลักประกันสังคมและสวัสดิการสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบให้สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ครอบคลุมผู้ประกันตนสำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบ ไม่น้อยกว่า 17.02 ล้านคน รวมทั้งสร้างความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคง 6,200 ครัวเรือน บ้านพอเพียง 15,000 ครัวเรือน พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ไม่น้อยกว่า 995 ครัวเรือน รวมทั้งผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ 30,000 คน ช่วยเหลือคุ้มครอง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน 110,805 คน พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ 61,390 คน จัดทำเคหะชุมชน และบริการชุมชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 3,094 หน่วย จัดหาอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่น้อยกว่า 5,055 หน่วย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในราคาสินค้าและบริการอย่างเหมาะสม

7) การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา งบประมาณทั้งสิ้น 83,968.0 ล้านบาท เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึงตามสิทธิที่กำหนดไว้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เรียนฟรี 15 ปี ) 10,356,400 คน สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทางไกลผ่านดาวเทียม ไม่น้อยกว่า 14,600 แห่ง และเทคโนโลยีทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ 14,800 แห่ง ตลอดจนสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ 2,700 โรงเรียน ส่งเสริมกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและพัฒนาได้เต็มศักยภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพ

8) มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม งบประมาณทั้งสิ้น 3,827.0 ล้านบาท เพื่อให้มีระบบและกลไกช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐและโอกาสทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

9) การสนับสนุนด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 52,313.3 ล้านบาท เพื่อยกระดับ
คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร โดยจัดสวัสดิการตามแนวทางประชารัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญและประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสภาพ 3 ล้านคน สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือด้านหนี้สิน และส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมทั้งสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ

10) การดำเนินภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 4,136.4 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณะภาครัฐอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและทั่วถึง เสริมสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานในและนอกระบบให้มีหลักประกันทางสังคม ได้รับการคุ้มครอง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามกฎหมาย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่ทางวัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในโครงการพระราชดำริมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณทั้งสิ้น 8,587.3 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 118,315.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อมบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยการสร้างการเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับ
การพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การขับเคลื่อนและผลักดันนโยบาย แผน และมาตรการด้านการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จำแนกตามแผนงานได้ดังนี้

1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณทั้งสิ้น 66,738.2 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคผ่านการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อระบบประปา 67,162 ครัวเรือน สร้างความมั่นคงด้านน้ำทั้งภาคการผลิต ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมให้มีต้นทุนน้ำใช้อย่างสมดุล และเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ 196.2 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น 376,586 ไร่ การจัดการน้ำท่วมและบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ 820,095 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐาน 16 แหล่ง และพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 119 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 7,815 แห่ง และปลูกป่าฟื้นฟู 20,900 ไร่ รวมทั้งช่วยเหลือและแก้ปัญหาภัยแล้ง การผลักดันให้มีกฎหมายหลัก กฎหมายรอง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

2) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 3,731.4 ล้านบาท เพื่อให้ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยพัฒนากลไกและมาตรการในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายชีวภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ต้นน้ำอย่างเหมาะสม รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 103,594,720 ไร่ และส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร 36,150 ไร่ จัดกิจกรรมชุมชนไม้มีค่าและพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพและอนุรักษ์ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด สร้างเครือข่ายราษฎรพิทักษ์ป่า แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า สนับสนุนการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์ ฟื้นฟู พันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์ พันธุ์พืชที่ถูกคุกคาม 415 ชนิด เพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวด้วยการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรม กำหนดสิทธิในที่ดินแก่ประชาชน ด้วยการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน ไม่น้อยกว่า 201,000 ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท

3) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล งบประมาณทั้งสิ้น 359.6 ล้านบาท เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับการปรับปรุง ฟื้นฟูและสร้างใหม่ โดยพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนกิจกรรมทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล ฟื้นฟูปะการังและหญ้าทะเลโดยการปลูกเสริม 210 ไร่ และรักษาระบบนิเวศและสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนคุ้มครอง อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง 3,151 กิโลเมตร

4) การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ งบประมาณทั้งสิ้น 1,102.1 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่น้อยกว่า 53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ด้วยการสร้างความร่วมมือของภาคีต่างๆ เสริมสร้างขีดความสามารถในการลดมลพิษภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากโรงงานอุตสาหกรรม
การลงทุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ รวมทั้งการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

5) การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 450.6 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศมีการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและของเสียอย่างเป็นระบบ จัดการมลพิษที่แหล่งกำเนิด จัดการคุณภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด พัฒนาเครื่องมือและกลไกในการป้องกันและลดมลพิษ เพิ่มศักยภาพการจัดเก็บ ขนส่ง ระบบการจัดการน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตราย ขยะติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จัดทำระบบการอนุญาตการระบายมลพิษ โดยครอบคลุมกิจกรรมการจัดการมลพิษทางน้ำ อากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน ขยะมูลฝอย การจัดการสารเคมีในภาคการเกษตร รวมถึงการใช้มาตรการเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ก่อมลพิษ

6) การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณทั้งสิ้น 11.6 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยมีคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ผลักดันให้มีการจัดโครงสร้างเพื่อขับเคลื่อนประเด็นร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ สนับสนุนการเสริมสร้างคุณลักษณะชีวิตที่พึงประสงค์ให้เป็นที่ยอมรับในบริบทของพื้นที่ และสนับสนุนการกระจายอำนาจและส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านการรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7) การสนับสนุนด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 13,353.7 ล้านบาท
เพื่ออนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยสนับสนุนแหล่งน้ำเพื่อการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำชลประทาน การจัดรูปที่ดินเพื่อการชลประทาน และการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ

8) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 13,802.4 ล้านบาท โดยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การป้องกันไฟป่า พัฒนาแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์พันธุ์พืช และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรแร่ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งบประมาณทั้งสิ้น 18,765.7 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 556,528.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 16.9 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ การบริหารจัดการการเงิน
การคลัง การบริหารงานภาครัฐที่ทันสมัย และการบริหารจัดการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ ตลอดจนการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยความเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ จำแนกตามแผนงานได้ ดังนี้

1) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบประมาณทั้งสิ้น 609.1 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย ส่งผลให้ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) อยู่ในอันดับ 1 ใน 57 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 50 คะแนน โดยการปลูกฝังวิธีคิด และปลุกจิตสำนึกให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตมีค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนากลไก มาตรการ แนวทางในการป้องกันการทุจริตในองค์กรของหน่วยงานของรัฐและเอกชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตและประพฤติ
มิชอบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานคดีทุจริตให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สังคมไทยมีภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์สุจริตดีขึ้น ภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

2) รัฐบาลดิจิทัล งบประมาณทั้งสิ้น 2,003.4 ล้านบาท เพื่อยกระดับภาครัฐและพัฒนาทักษะดิจิทัลบุคลากรของรัฐไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล โดยการบริหารงานและการทำงานของภาครัฐเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัล พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลภาครัฐอย่างน้อย 6 แพลตฟอร์ม เพื่อการบริการประชาชนที่ดีขึ้น และให้ภาครัฐมีระบบดิจิทัลกลางที่สำคัญและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้หลายหน่วยงาน มีการทำงานร่วมกันในรูปแบบบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและการให้บริการของหน่วยงาน

3) การพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ งบประมาณทั้งสิ้น 18,184.7 ล้านบาท
เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการและมีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล โดยการพัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า สะดวก โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนการทำงาน รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ไม่มีข้อจำกัดของเวลา พื้นที่ และกลุ่มคน รวมทั้งมีการเชื่อมโยงระบบบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนปรับปรุงระบบการอนุมัติและอนุญาตของภาครัฐ เพื่อยกระดับการพัฒนาภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล พัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐให้เป็นรัฐบาลที่ทันสมัย มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับบริบทการพัฒนาประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การปฏิบัติ และภาครัฐได้รับการประเมินสถานการณ์เป็นระบบราชการ 4.0 ระดับพื้นฐาน พัฒนาระบบบริหารกำลังคนให้มีความคล่องตัว ยึดระบบคุณธรรม สามารถตอบสนองความต้องการในการปฏิบัติงาน สร้างความก้าวหน้าให้กับบุคลากรตามความรู้ ความสามารถและศักยภาพ โดยการพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความสามารถสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านดิจิทัล สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ สุจริต มีจิตบริการ และมีความเป็นมืออาชีพ

4) การพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม งบประมาณทั้งสิ้น 3,514.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย จัดทำกฎหมายที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เอื้ออำนวยต่อการบริหารราชการแผ่นดิน การให้บริการประชาชน การประกอบธุรกิจ และการแข่งขันระหว่างประเทศ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางกฎหมาย มีการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งการอำนวยความยุติธรรมโดยความเสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรม คุ้มครองผู้ด้อยโอกาส โดยการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม

5) การสนับสนุนด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณทั้งสิ้น 5,501.5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักธรรมาภิบาล มีส่วนร่วมปลูกฝังค่านิยม ความซื่อสัตย์สุจริต ความมัธยัสถ์ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เสริมสร้างกลไก การกำกับ ติดตามการบริหารราชการแผ่นดินของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเสริมสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงาน สนับสนุน การจัดการงบประมาณให้สนองต่อนโยบายและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลให้ครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา พัฒนาทรัพยากร ระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ ให้ทันสมัย ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่าง
มืออาชีพ พัฒนาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของทั้งภาครัฐและประชาชน

6) การดำเนินงานภารกิจพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณทั้งสิ้น 430,387.9 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานภารกิจด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า โดยการพัฒนาระบบการบริการประชาชน ระบบการบริหารจัดการงานยุติธรรม ศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ รัฐสภา รวมทั้งค่าใช้จ่ายตามสิทธิ และประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐที่กำหนดไว้ในงบกลาง

อาทิ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ และเงินสมทบของลูกจ้างประจำ และค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณทั้งสิ้น 96,327.9 ล้านบาท
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 433,279.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.1 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รายจ่ายงบกลาง จำนวน 139,825.6 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรงและภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ รวมทั้งบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 293,454.3 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000.0 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 194,454.3 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐให้เกิดเสถียรภาพทางการคลังและการเงินรวมทั้งการรักษาวินัยทางการคลังสำหรับเอกสารประกอบได้มีการจัดทำให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 และมาตรา 11 ดังนี้

1. คำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

2. รายรับรายจ่ายเปรียบเทียบระหว่างปีที่ล่วงมาแล้ว ปีปัจจุบันและปีที่ขอตั้งงบประมาณรายจ่าย แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 1 (เล่มคาดส้ม)

3. คำอธิบายเกี่ยวกับประมาณการรายรับและวิธีหาเงินส่วนที่ขาดดุล แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 2 (เล่มคาดเขียว)

4. คำชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ซึ่งรวมถึงการแสดงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 (เล่มคาดแดง) และฉบับที่ 4 (เล่มคาดเหลือง)

5. รายงานเกี่ยวกับสถานะทางการเงินโดยรวมของรัฐวิสาหกิจ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)

6. รายงานเกี่ยวกับสถานะเงินนอกงบประมาณและแผนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณโดยรวมของหน่วยรับงบประมาณ แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 7 (เล่มคาดชมพู)

7. คำอธิบายเกี่ยวกับหนี้ของรัฐบาลทั้งที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและหนี้ที่เสนอเพิ่มเติม แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 5 (เล่มคาดม่วง)

8. ผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณ ของปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้ว แสดงไว้ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 6 (เล่มคาดน้ำเงิน)

9. ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น