ปัญหา “สวัสดิภาพสัตว์” ก็เหมือนเรือรั่ว แทนที่เราจะด่าทอกัน ทำไมเราไม่ช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือและวางมาตรการเพื่อไม่ให้เรือรั่วอีก ?? “ปัญจเดช สิงห์โท” ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนานโยบายด้านสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน และปัจจุบันกำลังผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการแสดงและการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง
ผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุถึงปัญหาการใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงผ่าน 10 คำถาม พร้อมแนะแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน
1. การใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่สัตว์หรือไม่ อย่างไร
การที่สัตว์ป่าต้องอยู่ในกรงเลี้ยงนั้นขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติและสัญชาตญาณสัตว์ป่าอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง ต้องทุกข์ทรมานในหลายรูปแบบตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งการฝึกที่ต้องฝึกให้กลัว ให้เชื่อฟังคำสั่ง เพื่อการแสดงโชว์นักท่องเที่ยว เช่น ยืนสองขา ไต่ราวบันได กระโดดลอดห่วง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก ตามธรรมชาติเสือต้องเดิน 16 - 32 กิโลเมตรต่อวัน เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่คับแคบไม่กี่ตารางวาตลอดชีวิต สังเกตเห็นได้ว่าเสือจะเดินกลับไปกลับมาหรือวนอยู่ในกรงแคบๆ เพราะความเครียด ไม่มีโอกาสได้ล่าเหยื่อ ต้องกินอาหารซ้ำๆ และในการผสมพันธุ์ ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ แต่เพื่อป้อนกลับเข้าสู่ธุรกิจเป็นความบันเทิงของนักท่องเที่ยวนั่นเอง
ลูกเสือต้องถูกพรากจากแม่เมื่ออายุเพียง 2-3 สัปดาห์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปหรือป้อนนม ซึ่งเบื้องหลังรอยยิ้มและความตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยว แท้จริงคือความทุกข์ทรมานของเสือที่ไม่ได้อยู่อย่างเสือ ในอุตสาหกรรมนี้สัตว์ต้องถูกนำมาหาผลประโยชน์ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนกระทั่งหมดลมหายใจในกรงเลี้ยง
2. ทำไมการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงจึงไม่ใช่การอนุรักษ์ และไม่ควรผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง
จากการผสมในสายเลือดที่ใกล้ชิดหรือแบบเลือดชิด เพราะอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำให้เสือในกรงเลี้ยงเกิดความอ่อนแอทางพันธุกรรมตามมา เช่น กระดูกเปราะหรือบิดเบี้ยว ภูมิคุ้มกันต่ำ สุขภาพไม่แข็งแรง โดยเมื่อไม่นานมานี้มีกรณีเสือของกลางที่เพิ่งตายไปกว่า 86 ตัว พบว่าป่วยเป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียงและหัดสุนัข ชี้ให้เห็นว่าการผสมแบบเลือดชิดก่อผลร้าย
ยิ่งกว่านั้น เสือที่ผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่นของป่าไทย เพราะฉะนั้น ปล่อยคืนสู่ป่าไม่ได้ เพราะไม่สามารถอยู่ในระบบนิเวศของเมืองไทยได้ พูดไม่ได้เลยว่า การผสมพันธุ์เสือเป็นการช่วยพัฒนาสายพันธุ์เสือ เป็นแค่การอ้างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น
3. ตอนนี้กระแสโลกได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างไร
อุตสาหกรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่าในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วสวนทางกับกระแสโลก เพราะอาจจะเคยเชื่อกันมาตลอดว่านักท่องเที่ยวอยากมาชมการแสดงสัตว์ป่า แต่งานวิจัยพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเลือกที่จะไม่ชมการแสดงของสัตว์ป่าหากมีตัวเลือกอื่นๆ ให้พวกเขา และงานวิจัยอีกชิ้นพบว่า การเข้าไปดูโชว์เสือ แทนที่จะสนุก แต่นักท่องเที่ยวหลายคนกลับรู้สึกหดหู่ใจต่อสิ่งที่เห็นมากกว่า
องค์กรฯ ทำงานร่วมกับบริษัททัวร์มากกว่า 250 แห่งทั่วโลก ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่โปรโมตหรือขายแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่า โดยบริษัทด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอย่าง TripAdvisor ประกาศยกเลิกการขายทริปท่องเที่ยวที่มีการแสดงของสัตว์ป่าแล้ว และที่สำคัญมีถึง 56 ประเทศที่มีกฎหมายหรือนโยบายยกเลิกการนำสัตว์ป่ามาเป็นนักแสดง ฉะนั้น ประเทศไทยควรขยับและปรับตัวรับเทรนด์เหล่านี้ ไม่ให้ภาพลักษณ์ติดลบในสายตาต่างชาติมากขึ้น
4. วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพเสือหรือสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร
วิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมั่นคงและมีสวัสดิภาพ โดยในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีสถานที่ปิดตัวทิ้งร้าง หรือบางแห่งทิ้งให้เสืออยู่ในกรงแคบๆ สกปรก เสี่ยงต่อความหิวโหย และเครียดอย่างมาก
5. เสือในกรงเลี้ยงในประเทศไทยมีมากไหม
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ เมื่อปี 2561 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยงประมาณ 1,422 ตัว และในกรงเลี้ยงส่วนบุคคลอีก 196 ตัว โดยในสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีเสือถึง 200-300 ตัว และหน่วยงานภาครัฐของไทยเคยได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากคณะกรรมการอนุสัญญา CITES ว่าให้เร่งลดจำนวนเสือในกรงเลี้ยง
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว ยังมีสถานที่อีกจำนวนหนึ่งที่มีเสือแต่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการสวนสัตว์สาธารณะ แต่กลับมีรายได้เพียงพอต่อการทำธุรกิจ จึงน่าแปลกใจว่าแล้วพวกเขาทำอะไรกับเสือ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ประเทศใกล้บ้านของไทยอย่างจีนและเวียดนามมีการค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนเสือที่ถูกขายในตลาดมืด ส่วนหนึ่งมีแหล่งต้นทางมาจากประเทศไทย จึงเป็นมูลเหตุให้สงสัยและตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงไม่ใช่แค่เพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิง แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าซึ่งมีมูลค่ามหาศาลด้วย
6. ทำไมไม่ปิดสถานที่ที่มีเสือเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหา
ทางองค์กรฯ ไม่ได้รณรงค์ให้ปิดสถานที่เหล่านี้แบบฉับพลัน แต่มองว่าการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนคือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายเพื่อปิดช่องว่าง และมีมาตรการที่สามารถตัดวงจรการป้อนเสือเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตได้ นั่นคือ “การยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง” โดยตอนนี้กำลังใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายผ่านรัฐสภา มีผู้สนับสนุนแล้วกว่า 10,000 คน
7. การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต้องแก้ตรงไหน และครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง
มีการเสนอแก้ไขใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก “การห้ามนำสัตว์ป่ามาเป็นนักแสดงที่ขัดกับหลักพฤติกรรมของสัตว์” จะเห็นได้ว่า กฎหมายในปัจจุบัน แม้แต่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ยังไม่มีมาตราใดที่กำหนดเรื่องนี้เป็นข้อห้าม
ประเด็นที่สอง “การแก้มาตรา 8 และมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562” ที่ยังเปิดช่องให้มีการอนุญาตให้ผสมพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองได้ โดยใช้คำว่า “สัตว์ป่าคุ้มครองที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ” หากเขียนไว้แบบนี้เท่ากับเปิดโอกาสให้มีช่องทางการค้าสัตว์ป่าได้ และพ.ร.บ.ฉบับนี้อาจจะขัดเจตนารมณ์ของการคุ้มครองสัตว์ป่า เพราะดูเหมือนว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้อง “ผู้ค้าสัตว์ป่า” โดยส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเชิงธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการแบ่งประเภทสวนสัตว์ และให้อำนาจในการเพาะพันธุ์ เช่น สวนสัตว์พาณิชย์และสวนสัตว์เฉพาะทางสามารถขาย หรือแลกเปลี่ยน รวมทั้งหาประโยชน์จากสัตว์ป่าได้อย่างเต็มที่ และไม่จำกัดจำนวน
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ เสือเป็นสัตว์ตามบัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES ห้ามซื้อขาย แต่ในบ้านเรากลับจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้ผสมพันธุ์ได้ ทางองค์กรฯ จึงมีคำถามสำคัญว่านี่เป็นการพยายามต่อวงจรของการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากสัตว์ป่าในประเทศไทยหรือไม่ เพราะการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง และอาจโยงไปถึงการลักลอบค้าขายชิ้นเสือผิดกฎหมายด้วย
หากประเทศไทยไม่มีความชัดเจนในการกำหนดรายชื่อชนิดสัตว์ที่สามารถหรือไม่สามารถผสมพันธุ์ได้อย่างชัดเจน อาจจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต เพราะไม่ได้มาตรฐานหรือขัดกับหลักการของ CITES
8. ภาครัฐตื่นตัวกับปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน
สำหรับกรมอุทยานฯ พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูลเสือ การจัดทำฐานข้อมูลลายเสือ การตรวจดีเอ็นเอเสือ แต่ปัญหาการใช้เสือเพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิง การผสมพันธุ์เสือ ตลอดจนการลักลอบค้าขายชิ้นส่วนเสือ ยาวนานหลายสิบปี เปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่เห็นแค่ยอด จึงต้องร่วมกันแก้ไขอย่างมีทิศทาง โดยภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น
9. หากประเทศไทยยุติการผสมพันธุ์เสือจริง จะกระทบต่อรายได้ของคนงานหรือคนในชุมชนหรือไม่ มีแนวทางจัดการปัญหานี้อย่างไร
หากจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ก็มีเวลา 10 - 20 ปี ในการดูแลเสือรุ่นสุดท้าย ตลอดจนวางยุทธศาสตร์เพื่อออกจากธุรกิจนี้ ซึ่งรวมถึงการรองรับแรงงานที่จะตกงานจากสถานประกอบการอย่างเหมาะสมและยุติธรรมด้วย และขอยืนยันว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตกอยู่กับนายทุนที่เป็นเจ้าของ บวกกับสถานที่เหล่านี้มีบริการครบวงจร เก็บค่าเข้าชม ขายของที่ระลึก มีร้านอาหารของตัวเอง ดังนั้น ชุมชนโดยรอบแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยอยู่แล้ว
10. มีอะไรเสนอแนะทิ้งท้ายหรือไม่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีเจตนาดีต่อการท่องเที่ยวไทย การพูดถึงปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นการพยายามชี้ให้เห็นปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขร่วมกัน หากไทยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงตามมาตรฐานสากล สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ให้รับผิดชอบ เป็นมิตรต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และยั่งยืน จนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกได้ ผลดีก็อยู่กับการท่องเที่ยวและคนไทยทุกคนที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้