“ปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ก็เหมือนเรือรั่ว แทนที่เราจะด่าทอกัน ทำไมเราไม่ช่วยกันวิดน้ำออกจากเรือและวางมาตราการเพื่อไม่ให้เรือรั่วอีก ตอนนี้เป็นโอกาสดีด้วยซ้ำที่เราจะได้ทบทวนกฎหมายเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์” คำเปรียบเปรยนี้น่าจะเข้ากับสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์รอบด้านเกี่ยวกับปัญหาสวัสดิภาพสัตว์เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอที่เปิดโปงกระบวนการฝึกลูกช้างอย่างโหดร้ายทารุณเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาจนถึงกรณีที่กะทิไทยถูกกีดกันทางการค้าเพราะปัญหาการใช้แรงงานลิงที่กำลังตกเป็นที่ถกเถียงอย่างคุกรุ่นไม่แพ้กัน
คุณปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบายขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนานโยบายด้านสัตว์ป่ามาอย่างยาวนาน โดยปัจจุบันเขากำลังผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการแสดงและการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงปัญหาการใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงพร้อมแนะแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน
การใช้สัตว์ป่าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิง เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจแก่สัตว์หรือไม่ อย่างไร
การที่สัตว์ป่าต้องอยู่ในกรงเลี้ยงนั้นขัดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติและสัญชาตญาณสัตว์ป่าอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยง ต้องทุกข์ทรมานในหลายรูปแบบตั้งแต่เกิดยันตาย ทั้งการฝึกที่ต้องฝึกให้กลัว ให้เชื่อฟังคำสั่ง เพื่อที่จะทำการแสดงโชว์นักท่องเที่ยว เช่น การยืนสองขา การไต่ราวบันได เสือกระโดดลอดห่วง ล้วนแล้วแต่ขัดต่อพฤติกรรมตามธรรมชาติของเสือ และสร้างความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ
นอกจากนี้เสือในกรงเลี้ยงยังถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก ปกติพฤติกรรมของเสือโดยธรรมชาติจะต้องเดินประมาณ 16 - 32 กิโลเมตรต่อวัน แต่เสือในกรงเลี้ยงต้องอยู่ในพื้นที่คับแคบไม่กี่ตารางวาตลอดชีวิต หากใครเคยไปดูเสือในกรงเลี้ยงตามสถานที่ต่างๆ จะสังเกตเห็นว่าเสือจะเดินกลับไปกลับมาหรือวนอยู่ในกรงแคบๆ จากความเครียด ไม่มีโอกาสได้ล่าเหยื่อ แถมต้องกินอาหารซ้ำๆ และเสือพวกนี้ยังถูกผสมพันธุ์ ไม่ใช่เพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ แต่เพื่อป้อนกลับเข้าสู่ธุรกิจเป็นความบันเทิงของนักท่องเที่ยวนั่นเอง ลูกเสือเกิดมาต้องถูกพรากจากแม่ในขณะที่อายุเพียงสองถึงสามสัปดาห์ เพื่อเอามาถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวหรือให้นักท่องเที่ยวป้อนนม หรือที่อาจจะเคยเห็นกันในข่าวว่าบางที่เอาแม่เสือไปเลี้ยงลูกหมูโชว์นักท่องเที่ยวจนถูกต่อต้านและสั่งยกเลิกกันไป ซึ่งเบื้องหลังรอยยิ้มและความตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยว จริงๆ แล้วคือความทุกข์ทรมานของเสือที่ไม่ได้อยู่อย่างเสือในอุตสาหกรรมพวกนี้ คือสัตว์ต้องถูกนำมาหาผลประโยชน์ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนกระทั่งหมดลมหายใจในกรงเลี้ยง
ทำไมการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงถึงไม่ใช่การอนุรักษ์ และทำไมจึงไม่ควรผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง
นอกจากเรื่องความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าทำไมเราต้องหยุดหาประโยชน์จากเสือในลักษณะนี้ได้แล้ว การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงยังมีปัญหาด้านพันธุกรรม เพราะมักเป็นการผสมแบบเลือดชิด คือถูกผสมพันธุ์กันในวงศ์วานที่ใกล้ชิดเพราะอาศัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำให้เกิดความอ่อนแอทางพันธุกรรมตามมา เช่น กระดูกเปาะ
บิดเบี้ยว ภูมิคุ้มกันต่ำ และสุขภาพไม่แข็งแรง โดยเมื่อไม่นานมานี้มีกรณีเสือของกลางที่เพิ่งตายไปกว่า 86 ตัว พบว่าป่วยเป็นอัมพาตลิ้นกล่องเสียงและหัดสุนัข แต่เราไม่ได้โทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าดูแลเสือไม่ดี เราแค่พยายามชี้ให้เห็นว่าการอนุญาตให้ยังคงมีการผสมพันธุ์เสือในกรงนั้นก่อผลร้ายมากว่าผลดีและเป็นต้นทางของปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
ยิ่งไปกว่านั้นเสือที่ผสมพันธุ์เชิงพาณิชย์กันอยู่ขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่นของป่าไทย เพราะฉะนั้นปล่อยคืนสู่ป่าไม่ได้ เพราะไม่สามารถอยู่ในระบบนิเวศของเมืองไทยได้ และเสือพวกนี้มีชีวิตในกรงขังตั้งแต่เกิดจนตายราวๆ 10 - 20 ปี เปรียบเหมือนคนที่ติดคุก 20 ปีโดยไม่มีความผิดใดๆ ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ จะมาพูดไม่ได้เลยว่าการผสมพันธุ์เสือเป็นการช่วยพัฒนาสายพันธุ์เสือ เป็นแค่การอ้างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น
ตอนนี้กระแสโลกได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างไร
อุตสาหกรรมที่หาประโยชน์จากสัตว์ป่าในประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วสวนทางกับกระแสโลก เราอาจจะเคยเชื่อกันมาตลอดว่านักท่องเที่ยวอยากมาชมการแสดงสัตว์ป่า แต่งานวิจัยที่ของเราพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเลือกที่จะไม่ชมการแสดงของสัตว์ป่าหากมีตัวเลือกอื่นๆ ให้พวกเขา และงานวิจัยอีกชิ้นก็พบว่าการเข้าไปดูเสือหรือชมโชว์เสือ แทนที่จะสนุกแต่นักท่องเที่ยวหลายคนกลับรู้สึกหดหู่ใจต่อสิ่งที่พวกเขาเห็นมากกว่า
ทางองค์กรฯ ทำงานร่วมกับบริษัททัวร์มากกว่า 250 แห่งทั่วโลกที่ให้คำมั่นสัญญากับเราว่าจะไม่โปรโมตหรือขายแพ็กเกจที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานของสัตว์ป่า โดยบริษัทด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอย่าง TripAdvisor ทำการประกาศยกเลิกการขายทริปท่องเที่ยวที่มีการแสดงของสัตว์ป่าแล้ว และที่สำคัญตอนนี้มีถึง 56 ประเทศที่มีกฎหมายหรือนโยบายในการยกเลิกการนำสัตว์ป่ามาเป็นนักแสดง เพราะฉะนั้นสำหรับประเทศไทยเองก็ควรขยับและปรับตัวรับ เทรนด์เหล่านี้ เพราะหากเราไม่เริ่มแก้กันตั้งแต่วันนี้ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยก็คงจะติดลบในสายตาชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของเสือหรือสัตว์ป่าอื่นๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือไม่ อย่างไร
จากวิกฤตโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถดูแลสัตว์ป่าได้อย่างมั่นคงและมีสวัสดิภาพ โดยในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีสถานที่ปิดตัวทิ้งร้าง หรือบางแห่งทิ้งให้เสืออยู่ในกรงแคบๆ และสกปรก เสี่ยงต่อความหิวโหยและความเครียดเป็นอย่างมาก ซึ่งเรามองว่าสถานที่เลี้ยงเสือเหล่านี้สอบตกทั้งหมด เพราะขนาดตอนเศรษฐกิจดีๆ การท่องเที่ยวขยายตัว คุณยังใช้งานเสืออย่างโหดร้ายทารุณและดูแลได้ไม่ดีพอ พอเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักกะทันหันแบบนี้ ผลเสียก็ตกมาอยู่กับเสือและสัตว์ป่าที่สวัสดิภาพยิ่งแย่ลงไปกว่าเดิม และสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องตอกย้ำว่าเราจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการนำเสือเข้าสู่อุตสาหกรรมแบบนี้
สำหรับคนทั่วไป อยากเปรียบเทียบให้เห็นอีกตัวอย่างหนึ่ง คือในช่วงล็อกดาวน์จากวิกฤตโควิด-19 หลายคนคงจะรู้ดีกว่าการถูกขังให้อยู่แต่บ้าน ไม่สามารถออกไปทำกิจวัตรประจำวัน ทำมาหากิน เดินห้าง ดูหนังได้ตามปกตินั้นมันอึดอัดแค่ไหน เสือในกรงเลี้ยงก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน เพราะสำหรับเราแค่ไม่กี่สัปดาห์เรายังแทบทนไม่ได้ แล้วเสือเหล่านี้ที่ถูกขังตลอดชีวิตจะทรมานขนาดไหน
เสือในกรงเลี้ยงในประเทศไทยมีเยอะไหม มีที่ไหนใหญ่ๆ บ้าง
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ เมื่อปี 2561 ระบุว่าประเทศไทยมีจำนวนเสือที่อยู่ในกรงเลี้ยงประมาณ 1,422 ตัว และในกรงเลี้ยงส่วนบุคคลอีก 196 ตัว ซี่งหากลองเอาไปเปรียบเทียบกับสากลแล้วถือว่าเป็นจำนวนที่มากเกินความจำเป็น เพราะเราไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมีเสือมากมายอยู่กันอย่างแออัดขนาดนี้ โดยสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีเสือถึงสองสามร้อยตัว และหน่วยงานภาครัฐของไทยเองก็เคยได้รับจดหมายแจ้งเตือนจากคณะกรรมการอนุสัญญา CITES ว่าให้เร่งลดจำนวนเสือในกรงเลี้ยง
นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ยังมีสถานที่อีกจำนวนหนึ่งที่มีเสือแต่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการสวนสัตว์สาธารณะ แต่ดันมีรายได้เพียงพอต่อการทำธุรกิจ จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่าแล้วพวกเขาทำอะไรกับเสือ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าประเทศใกล้บ้านของไทยอย่างจีนและเวียดนามมีการค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าผิดกฎหมายจำนวนมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนเสือที่ถูกขายในตลาดมืดในเวียดนาม ส่วนหนึ่งมีแหล่งต้นทางมาจากประเทศไทย จึงเป็นมูลเหตุให้เราสงสัยและตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงไม่ใช่แค่เพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิง แต่ยังอาจจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าซึ่งมีมูลค่ามหาศาลด้วย
ทำไมไม่ปิดสถานที่ที่มีเสือเหล่านี้ไปเลยเพื่อแก้ปัญหา
ทางองค์กรฯ ไม่ได้รณรงค์ให้ปิดสถานที่เหล่านี้แบบฉับพลัน แต่มองว่าการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนคือการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายเพื่อปิดช่องว่าง และมีมาตรการที่สามารถตัดวงจรการป้อนเสือเข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตได้ ซึ่งมาตรการนั้นก็คือการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงนั่นเอง โดยตอนนี้เรากำลังใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญในการลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมายผ่านทางรัฐสภา มีประชาชนที่เห็นด้วยกับเราและร่วมลงชื่อสนับสนุนเรามากกว่า 10,000 คนแล้ว ซึ่งทางองค์กรฯ กำลังประสานงานเพื่อส่งมอบให้รัฐสภาต่อไป
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายในที่นี้ แก้ตรงไหน และครอบคลุมเนื้อหาอะไรบ้าง
เราเสนอแก้ไขใน 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกคือการห้ามนำสัตว์ป่ามาเป็นนักแสดงที่ขัดกับหลักพฤติกรรมของสัตว์ จะเห็นได้ว่ากฎหมายในปัจจุบัน แม้แต่ พ.ร.บ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ยังไม่ได้มีมาตราใดๆ ที่กำหนดเรื่องนี้เป็นข้อห้ามเอาไว้
ประเด็นที่สองที่คือการแก้มาตรา 8 และมาตรา 28 ของ พ.ร.บ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ยังเปิดช่องให้มีการอนุญาตให้ผสมพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองได้ โดยใช้คำว่าสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งทางองค์กรฯ เป็นห่วงว่าหากเขียนไว้แบบนี้ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้มีช่องให้มีการค้าสัตว์ป่าได้ ทั้งนี้ รวมไปถึง พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจจะขัดเจตนารของการคุ้มครองสัตว์ป่า คือดูเหมือนว่าเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อปกป้อง “ผู้ค้าสัตว์ป่า” โดยส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อเชิงธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการแบ่งประเภทสวนสัตว์ และให้อำนาจในการเพาะพันุธุ์ เช่น สวนสัตว์พานิชย์และสวนสัตว์เฉพาะทางที่สวนสัตว์พานิชย์สามารถขาย หรือแลกเปลี่ยน รวมทั้งหาประโยชน์จากสัตว์ป่าได้อย่างเต็มที่ และไม่จำกัดจำนวน บ่งบอกให้เห็นว่าเราส่งเสริมธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งองค์กรฯ มีความเป็นห่วงอย่างมากต่อประเด็นดังกล่าว
อีกข้อสังเกตหนึ่งของเราคือเสือเป็นสัตว์ตามบัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES ห้ามซื้อขาย แต่ในบ้านเรากลับจัดอยู่ในประเภทสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้ผสมพันธุ์ได้ ทางองค์กรฯ จึงมีคำถามสำคัญว่านี่เป็นการพยายามต่อวงจรของการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จากสัตว์ป่าในประเทศไทยหรือไม่ เพราะอย่างที่เล่ามาแล้วว่าการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรง และอาจโยงไปถึงการลักลอบค้าขายชิ้นเสือผิดกฎหมายด้วย
หากประเทศไทยไม่มีความชัดเจนในการกำหนดรายชื่อชนิดสัตว์ที่สามารถหรือไม่สามารถผสมพันธุ์ได้อย่างชัดเจน อาจจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้ เพราะมันไม่ได้มาตรฐานหรือขัดกับหลักการของ CITES
ภาครัฐตื่นตัวกับปัญหานี้มากน้อยแค่ไหน
จริงๆ แล้วต้องขอชื่นชมความพยายามของภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ ที่พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำฐานข้อมูลเสือ การจัดทำฐานข้อมูลลายเสือ การตรวจดีเอ็นเอเสือ แต่ปัญหาการใช้เสือเพื่อการท่องเที่ยวและความบันเทิง การผสมพันธุ์เสือ ตลอดจนการลักลอบค้าขายชิ้นส่วนเสือ มันหมักหมมมานานหลายสิบปี เปรียบเหมือนปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็งที่ตอนนี้เราเห็นแค่ยอด ฉะนั้นจึงต้องค่อยๆ ร่วมกันแก้ไขอย่างมีทิศทาง โดยภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น
หากประเทศไทยยุติการผสมพันธุ์เสือจริง จะกระทบต่อรายได้ของคนงานหรือคนในชุมชนหรือไม่ มีแนวทางในจัดการปัญหานี้อย่างไร
อย่างที่ได้นำเสนอไปว่าเราไม่ได้มุ่งเน้นการปิดสถานที่ที่มีเสืออย่างฉับพลัน ดังนั้นหากจะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว พวกเขาก็มีเวลาถึง 10 - 20 ปีในการดูแลเสือรุ่นสุดท้าย ตลอดจนวางยุทธศาสตร์เพื่อออกจากธุรกิจนี้ ซึ่งรวมไปถึงการรองรับแรงงานที่จะตกงานจากสถานประกอบการอย่างเหมาะสมและยุติธรรมด้วย
และคำถามที่ว่ากระทบรายได้ของคนในชุมชนหรือไม่ ขอยืนยันว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักตกอยู่กับนายทุนที่เป็นเจ้าของ บวกกับสถานที่เหล่านี้มีบริการครบวงจร มีเก็บค่าเข้าชม ขายของที่ระลึก มีร้านอาหารของตัวเอง ดังนั้นชุมชนโดยรอบแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยอยู่แล้ว
มีอะไรเสนอแนะทิ้งท้ายหรือไม่
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีเจตนาดีต่อการท่องเที่ยวไทย โดยการพูดถึงปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์ของเราเป็นการพยายามชี้ให้เห็นปัญหาเพื่อนำมาแก้ไขร่วมกัน เพราะในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากมาย ทั้งช้าง เสือ ลิง เราจึงอยากเห็นภาครัฐขยับและปรับตัว ตอบสนองด้วยข้อมูล เหตุผล และพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
หากไทยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงตามมาตรฐานสากล สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ของเราให้รับผิดชอบ เป็นมิตรต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และยั่งยืน จนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกได้ ผลดีก็ไม่ได้ตกไปอยู่กับใครที่ไหนเลย แต่คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและคนไทยทุกคนเองที่จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ไปโดยปริยาย