xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คณะทำงาน4ฝ่ายเอาผิดใคร? แพร่เชื้อโรคระบาดม้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากเกิดโรคระบาดทำ "ม้าล้มตาย" มากกว่า 150 ตัว ทั้งใน จ.นครราชสีมา ลามไปถึงหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ ตลอดเดือนมีนาคม และต่อต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายน

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศ 2 ฉบับ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับ"โรคระบาดกาฬโรคแอฟริกาในม้า"

ฉบับแรก เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 3 เม.ย.63 ลงนามโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

อาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคาว่า “สัตว์”ในมาตรา 4 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 34 (4) แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 รมว.เกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563”

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (46) ของข้อ 3 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น ตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 14 พ.ย.61

“(46) ม้าลาย และรวมถึงสัตว์ในวงศ์อีไควดี (Family Equidae)”

ข้อ 4 ให้ม้าลาย และรวมถึงสัตว์ในวงศ์อีไควดี (Family Equidae)เป็นสัตว์ชนิดอื่น ตามมาตรา 34 (4) แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 25580

อีกฉบับเป็นประกาศ "กรมปศุสัตว์" เรื่อง ชะลอการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร ซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ประเภทม้า ลา ล่อ และอูฐ พ.ศ. 2563 ประกาศ ณ วันที่ 7 เม.ย.63 ลงนามโดย นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African horse plague หรือ African horse sickness) ในท้องที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กรมปศุสัตว์จึงได้ รายงานไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)ซึ่งโรคระบาดสัตว์ชนิดดังกล่าวสามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุจากการนำสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคหรือซากสัตว์ ซึ่งป่วยหรือตายด้วยโรคระบาดดังกล่าวไปยังท้องที่ต่าง ๆ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ ชนิดดังกล่าวมีโอกาสแพร่กระจาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงม้า ลา ล่อ และอูฐในประเทศ อาศัยอานาจตามความใน มาตรา 6 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ชะลอการนาเข้า ส่งออก หรือนาผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ประเภท ม้า ลา ล่อ และอูฐ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 8 เม.ย.63 ที่ผ่านมา

ในคราวเดียวกัน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ที่ไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าส่งออกโดยที่มีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness; ACHS)ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา กรณี ทำให้ "ม้าในฟาร์มเลี้ยงที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวล้มตายเป็นจำนวนมาก"

โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ยืนยันว่า สาเหตุมาจากโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เกิดจากเชื้อไวรัส RNA ชนิดไม่มีเปลือกหุ้มในวงศ์ Reoviridae สกุล Orbivirus สัตว์ที่ไวต่อโรคนี้ ได้แก่ ม้า ลา ล่อ และม้าลาย เชื้อไวรัสจะทำให้สัตว์แสดงอาการป่วยรุนแรงและตาย โดยมีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสซึ่งการระบาดของโรคนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และยังไม่ปรากฏสาเหตุที่แน่ชัดต่อการเกิดโรคดังกล่าวกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

จึงอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 23 และ มาตรา 116 แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประกอบกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 12 เม.ย.60 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์ป่าซากของสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกซึ่งออกตามความใน มาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะไม่พิจารณาอนุญาตให้นำเข้าส่งออกซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ชนิดสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า ตามบัญชีท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)วงศ์ม้า (Family)ลำดับที่ 257 ถึงลำดับที่ 265

กลุ่มที่ 2 ชนิดสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่าที่มิใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองและไม่ใช่สัตว์ป่าบัญชีท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ไซเตส (CITES) สัตว์ป่าจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม (MAMMALS) ลำดับที่ 6 ยีราฟทุกชนิดในสกุล Giraffa (Giraffa spp.),ลำดับที่ 7 ม้าลายเบอร์เซลล์ (Equus burchelli) และลำดับที่ 8 ม้าลายควากกา หลังออกประกาศ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่กำกับดูแล "กรมปศุสัตว์" เรียกข้าราชการปศุสัตว์ สัตวแพทย์หลายคน มาประชุมเพื่อกำหนดมาตรการหยุดยั้งโรคโดยตั้งเป้าว่า จะต้องยั้บยั้งให้เร็วที่สุด

การประชุมวันนั้น มีข้อสรุปรวมกัน 4 ข้อ คือ ต้องหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรค โดยห้ามมีการเคลื่อนย้ายม้า และม้าลาย โดยมีคำสั่งงด เคลื่อนย้าย เป็นเวลา 90 วันทั่วประเทศ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

มีคำสั่งตั้งคณะทำงาน 4 ฝ่าย ให้ "รองอธิบดีกรมปศุสัตว์" ร่วมลงพื้นที่กับกรมอุทยานฯ เจ้าของฟาร์มม้า เร่งเจาะเลือดม้า ตามที่เจ้าของม้าต้องการจะให้เจาะกี่ตัว คณะทำงาน 4 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนเจ้าของฟาร์มม้า ที่ รัฐมนตรีแต่งตั้ง "จะลงพื้นที่สุดสัปดาห์นี้ทันที"

หลังประชุมรับข้อมูลแต่ละคอกม้า มีคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต้นตอการเกิดโรค เพราะเพิ่งอุบัติในไทยครั้งแรก คณะทำงานยังต้องตรวจสอบว่า สัตว์ชนิดใดที่เป็นพาหะ "นอกจากม้าลาย" เกิดโรคจากสัตว์อะไรก่อน มาจากไหน จึงมาเกิดโรค

เย็นวันนั้น รศ.นพ.นพดล สโรบล เจ้าของฟาร์มหมอปอ นายอุเทน ชาติภิญโญ เจ้าของคอกม้าอรวรรณ และหุ้นส่วนรัตนะภรณ์ รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อดีตคณบดีคณะประมง เป็นตัวแทนคอกม้าทั้งหมด ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ รมช.เกษตรฯ ให้ เร่งผลักดันให้โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า อยู่ใน พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เพื่อให้ "กรมปศุสัตว์" มีอำนาจเต็มที่ ,ให้ออกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายม้า ,ห้ามนำเข้าม้าลาย สัตว์ป่า และให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ตัวแทนเจ้าของคอกม้า ทั้งที่เพาะพันธุ์ ม้าสวยงาม เพาะพันธุ์ เป็นม้าแข่ง พูดไปในทิศทางเดียวกันว่าปัญหามาจาก "ม้าลาย"ที่นำเข้าไทยแน่นอน ม้าลาย ที่เข้ามาเป็นพาหนะ สามารถกำจัดเชื้อในตัวเอง ได้ภายใน 40 วัน โดยมีแมลงดูดเลือด ตัวริ้น เหลือบ ยุง แมลงวัน ไปกัด "ม้าลาย" จึงเป็นตัวแพร่เชื้อ มาติด ม้า ลา ล่อ ซึ่งเชื้อนี้ไม่ติดสัตว์อื่น

กลุ่มเจ้าของม้า เห็นพ้องว่า สิ่งสำคัญที่อยากรู้ คือ ต้นตอมาจากไหน ใครนำเข้า ที่ใช้ช่องโหวตของ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์

"เพราะม้าลายไม่ได้อยู่ในบัญชีใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ม้าลายที่ขายกันอยู่กว่า 9 สายพันธุ์ ไม่อยู่ในไซเตซ เมื่อขนย้ายมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ จะสามารถเคลื่อนไปไหนก็ได้เหมือน หมา แมว ทั่วไป"

ตัวแทนเจ้าของคอกม้า กลุ่มนี้ ให้ข้อมูลด้วยว่า

“หน่วยงานรัฐต้องตรวจสอบอย่างละเอียดย้อนหลังในระยะ เดือนธ.ค.62 เดือน ม.ค.- ก.พ.63 มีการนำเข้าม้าลายกี่ตัว เอาไปไว้ที่ไหน ยังมีการกระจายส่งต่อไปประเทศจีน น่าสังเกตุว่า "สวนสัตว์ชื่อดัง ได้นำเข้ายีราฟมาสองตัว หลุดตกน้ำตายไป 1 ตัว อีกตัวนำไป จ.ปราจีนบุรี เจาะเลือดพบว่า "มีโรคนี้" แต่เป็นข่าววงใน ไม่มีการเผยแพร่แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ช่วงเดือน ก.พ.63 มีการนำเข้าม้าลาย ขายไปที่หัวหิน ตัวละ 6-7 แสนบาท และมีข่าวที่ออกมา ด้วยว่านำเข้าม้าลายฝูงนี้ เพื่อส่งไปจีน แต่ผลเลือดเป็นบวก จึงส่งไปจีนไม่ได้

คณะทำงาน 4 ฝ่าย จึงต้องร่วมกันตรวจสอบระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา มีการนำเข้าม้าลาย จากที่ไหน ทุกตัวมีบันทึกไว้หมด และ ยีราฟ ที่ตกน้ำตาย ปลายเดือน ม.ค. จากคนบางคนใช้ช่องโหวตนำเข้า ลามไปถึงการค้าสัตวป่าของไทย มีชื่อเสียงไม่ดี มาตลอด เหมือนเป็น "HUB" การค้าสัตว์ป่า "ไม่ทราบว่าเกี่ยวพันกับฟาร์มของนักการเมืองดัง หรือไม่" รศ.นพ.นพดล ตั้งข้อสังเกตุ

ตัวแทนคอกม้าอีกท่านหนึ่ง "นายอุเทน ชาติภิญโญ" ยืนยันว่าจะยื่นฟ้องร้อง "กรมอุทยานฯ" เพราะเชื่อว่า เป็นหน่วยงานที่อนุญาตให้นำเข้าสัตว์ป่ามาจากแอฟริกา ซึ่งไม่ใช่มีแต่ม้าลาย กวาง และสัตว์อื่น ๆ"

หลายคอกเสียหายไปแล้วมากกว่า 50 ล้านบาท และอาจจะสูงขึ้นถึง 100 ล้านบาท

ทีนี้มาดู"ไทม์ไลน์" ที่ กรมปศุสัตว์ ให้ข้อมูลไว้

กรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้ง "ม้าตาย" เมื่อวันที่ 26 มี.ค.โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการด่วนให้ชุดสอบสวนโรคเข้าพื้นที่ทันที พบว่ามีการโรคเกิดเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ฟาร์มฮอร์แอนดิแลนด์ ฟาร์มแรนโชว์ ฟาร์มไพบูลย์ชัย ฟาร์มอารียา ฟาร์มโบนันซ่า และหน่วยเกษตรกรรมปากช่อง ได้เกิดโรคมาเกือบๆ เดือน มากกว่า 11 ฟาร์ม

"ม้าชื่อดังราคาแพงทยอยล้ม เช่น ม้าใจสิงห์ อดีตแชมป์หลายสนาม มูลค่าหลายล้านบาท หรือ ม้า YIELD NO GROUND ยอดพ่อม้าในตำนานม้าแข่งเมืองไทย เป็นต้น"

27-28 มี.ค. กรมปศุสัตว์ ถึงจะทราบเรื่อง เกิดจากแมลงดูดเลือด การเคลื่อนย้ายม้า ออกจากจุดเกิดโรค เช่น พบโรค จ.ชัยภูมิ ส่งผลตรวจเลือดที่ สถาบันสุขภาพสัตว์ เพื่อขอยืนยันว่าเป็น "โรคกาฬโรคแอฟริกา"

29 มี.ค. ม้าที่เลี้ยง เพื่อบริการนักท่องเที่ยว เขตชายหาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ล้มตาย ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พบอีก 14 ฟาร์ม

31 มี.ค. ม้าพื้นที่ อ.ปากช่อง ตายเพิ่ม 79 ตัว กรมปศุสัตว์ ได้รับการยืนยันว่าเป็น "โรคกาฬโรคแอฟริกา"

ขณะที่ กลุ่มเจ้าของฟาร์ม ยื่นหนังสือผ่าน กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เข้ามาตรวจสอบ

1 เม.ย. ม้าตายเพิ่มเรื่อย ๆ ใน 18 ฟาร์ม พื้นที่ จ.นครราชสีมา เช่นเดียวกับ เขตหัวหิน ม้าก็ตายเพิ่มกว่า 10 ตัว

2 เม.ย. "กรมปศุสัตว์" ทำได้เพียง ตั้งจุดสกัด และชุดตะเวน ลักลอบ ขนย้าย

3 เม.ย. กรมปศุสัตว์ ออกมาตรการคุมโรค ได้บูรณาการกรมอุทยานฯ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ผู้ประกอบการต้องหยุด การเคลื่อนย้าย

4 เม.ย. มีความพยายาม นำเข้า "วัคซีนเชื้อเป็น" เข้ามาควบคุมโรค โดยเร่งหารือผู้เชี่ยวชาญ ทุกฝ่ายและองค์กรอนามัยโลก(โอไออี ) ฝ่ายวิชาการ กำลังหาข้อสรุป ลงรายละเอียดทุกด้านเพราะการใช้วัคซีน มีทั้งข้อดีข้อเสีย

3-7 เม.ย. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศข้างต้น

10 เม.ย. มีการประชุมรับข้อมูล จากข้อร้องเรียนของ เจ้าของฟาร์ม

11 เม.ย. เป็นต้นไป คณะทำงาน จะเดินหน้าสแกนหาสาเหตุ "ม้าตาย-ต้นตอ "ม้ายลาย" มาจากไหน ใครนำเข้า ??

จนถึงตอนนี้ คงเริ่มแล้ว คณะทำงาน 4 ฝ่าย ที่มี เจ้าของม้าและทีมสัตวแพทย์ ทั้งภาครัฐ อาจารย์สัตวแพทย์ และทีมงาน ที่ระดมกำลังให้การหาทางสู้อย่างเต็มกำลัง พอๆ กับทีมแพทย์ ที่กำลังต่อสู้กับ "โควิด-19"


กำลังโหลดความคิดเห็น