การดำรงอยู่ของพญาแร้ง แสดงถึงความครบครันของธรรมชาติ ด้วยบทบาทของ ‘เทศบาลประจำป่า’ คอยทำหน้าที่ทำความสะอาด โดยการกินซากสัตว์ที่ตายแล้ว ซึ่งทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ในปัจจุบัน พญาแร้งสูญหายไปจากธรรมชาติยาวนานกว่า 30 ปีมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังจะเป็นปฐมบทแห่งการฟื้นฟูพญาแร้งให้คืนสู่ป่าห้วยขาแข้ง ภายใต้โครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 4 องค์กร ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
จุดเริ่มต้นได้มีการนำพญาแร้งในกรงเลี้ยงที่มีอยู่ในประเทศ 5 ตัวมาผสมพันธุ์เพื่อให้เกิดหน่อเนื้อในการขยายพันธุ์และปล่อยคืนสู่ผืนป่า ส่วนความคืบหน้าล่าสุดมีการกำหนดเป้าหมายแล้วว่า อีก 2 เดือน เรือนหอของเจ๊มิ่ง (พญาแร้งแม่พันธุ์ จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง) และเฮียป๊อก (พญาแร้งพ่อพันธุ์ จากสวนสัตว์นครราชสีมา) ก็จะแล้วเสร็จ ทันเวลาฤดูผสมพันธุ์รอบใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยให้ทั้งคู่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรงเพาะพันธุ์ขนาดใหญ่ ที่หน่วยซับฟ้าผ่า กลางป่าห้วยขาแข้ง
ชัยอนันต์ โภคสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้อธิบายว่า ความหวังของโครงการตอนนี้ คือ ‘ป๊อก’ พญาแร้งเพศผู้จากสวนสัตว์นครราชสีมา ที่ถูกย้ายมาเทียบคู่กับ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียที่อยู่ในการดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง“ความหวังของเรา คืออยากให้เขามีลูกและทำรังวางไข่ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีกระบวนการศึกษาวิจัยแล้วว่า ห้วยขาแข้ง เป็นสถานที่ที่เหมาะสมและอำนวยต่อการฟื้นฟูพญาแร้งที่สุด เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และในอดีตเคยเป็นถิ่นฐานอาศัยของพญาแร้งเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว”
ขณะที่ ผศ.น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการฟื้นฟูประชากรพญาแร้ง ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่วงการอนุรักษ์ต้องทำ แต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามหลักทางวิชาการที่ว่า พญาแร้งเพศเมียเป็นผู้ครอบครองอาณาเขต และเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าตัวเองจะเลือกเพศผู้ตัวใดเป็นคู่ครอง
ดังนั้นตอนนี้จึงต้องให้ ‘มิ่ง’ พญาแร้งเพศเมียที่ไม่เคยต้องมือชายใดมาก่อน ทำความรู้จักมักคุ้นกับ ‘ป๊อก’ ซึ่งทางศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ให้พญาแร้งเพศผู้ที่ถูกอิมพอร์ตจากเมืองย่าโม อาศัยอยู่กรงข้างๆ มิ่งโดยมีเพียงรั้วตาข่ายโปรงแสงกั้นไว้ เพื่อให้ทั้งคู่มองเห็นซึ่งกันและกันได้
ในระหว่างการดูใจนี้ นักวิจัยจะต้องคอยเก็บข้อมูลและติดตามพฤติกรรมของทั้งคู่ ว่าพร้อมที่จะ ‘เข้าหอ’ แล้วหรือยัง ซึ่งหากป็อกและมิ่งมีเคมีตรงกันและพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน ทางคณะทำงานก็จะย้ายทั้งคู่มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน และเข้าสู่การผสมพันธุ์ในกรงขนาดใหญ่ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
“หากถึงขั้นตอนการผสมพันธุ์ เราจะย้ายทั้งคู่เข้าไปที่กรงขนาดใหญ่ที่หน่วยซับฟ้าผ่า เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ เพราะเราหวังว่าในอนาคตทั้งคู่จะผลิตลูกออกมาได้ ซึ่งจากข้อมูลพญาแร้งจะวางไข่ครั้งละ 1 ใบ และมีวงรอบการผสมพันธุ์ทุก 2 ปี (คือวางไข่ปีเว้นปี) ตอนนั้นเราก็จะดำเนินการเลี้ยงลูกของพวกมันให้โตข้ามปี แล้วก็ปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งมิ่งและป๊อกจะทำหน้าที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เป็นบรรพบุรุษของประชากรพญาแร้งในป่าห้วยขาแข้งต่อไป”
พญาแร้ง นกวงศ์ผู้ล่า
พญาแร้งเป็นนกขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ในวงศ์เหยี่ยว (Family Accipitridae) หรือนกวงศ์ผู้ล่า (Bird of Prey) มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ในประเทศไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
มีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มักหากินอยู่ตามพื้นที่โล่งแจ้ง โดยมักจะบินร่อนเป็นวงกลมบนท้องฟ้าระดับสูง สามารถร่อนกลางอากาศอยู่นานนับชั่วโมง โดยไม่ต้องกระพือปีก พบมากในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน พม่า และอินโดจีน
การทำหน้าที่ของพญาแร้งในฐานะนกเทศบาล พวกเขาเป็นผู้ที่ทำให้ระบบนิเวศในผืนป่าเกิดความสมดุล และคงความหลากหลายทางชีวภาพ หากที่ไหนมีพญาแร้งพื้นที่แห่งนั้นจะต้องมีซากสัตว์ และแสดงว่าต้องมีสัตว์ป่าผู้ล่าอาศัยอยู่ ทำให้เห็นว่านกเทศบาลตัวนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าใหญ่
นอกจากการมีอยู่ของพญาแร้งจะแสดงให้เห็นถึงความครบครันของธรรมชาติแล้ว การกำจัดซากสัตว์ของพญาแร้ง ย่อมเป็นการตัดวงจรการขยายพันธุ์ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้นๆ ซึ่งหากมองในมุมด้านสุขอนามัย พญาแร้งจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในฐานะผู้ดูแลสุขภาพของผืนป่าให้ปลอดภัยปราศจากโรคร้าย
อย่างไรก็ตาม ในด้านความเชื่อของมนุษย์ สัตว์ตระกูลแร้งมักถูกมองในแง่ลบเกี่ยวกับเรื่องความตาย และถือเป็นสัตว์อัปมงคล หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯ อธิบายว่า เดิมทีคนไทยได้รับข้อมูลเรื่องความเชื่อมากกว่าหลักข้อเท็จจริง เพราะในอดีตการพัฒนาด้านการวิจัยสัตว์ป่ายังมีน้อย และส่วนใหญ่เรื่องราวของสัตว์กินซากชนิดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อออกไปในด้านลบมาโดยตลอด
ดังนั้นจึงมีความเชื่อฝังลึกว่า พญาแร้งหรือแร้งชนิดอื่น ๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งความอัปมงคล แต่เชื่อว่าหากวงการวิชาการและองค์กรสื่อสารมวลชน ร่วมมือกันเผยแพร่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณูปการของพญาแร้ง ประชาชนหรือคนในชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า ก็ย่อมจะมีมุมมองและทัศนคติที่ดีขึ้นต่อสัตว์ตระกูลนกล่าเหยื่อชนิดนี้ให้กลับมาคงอยู่กับธรรมชาติ
ข้อมูลและภาพอ้างอิง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, เพจเฟซบุ๊ก โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”