xs
xsm
sm
md
lg

ZSL ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ร่วมเฝ้าป้องกันภัยคุกคามเสือโคร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - กลุ่มอนุรักษ์สัตว์วงศ์แมวนานาชาติ ประเทศไทย เข้าพบ หน.เขตฯ สลักพระ นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย และพิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อเสริมการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับเสือโคร่งที่พบครั้งแรก

จากกรณี นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จ.กาญจนบุรี ได้รายงานการพบเสือโคร่งในพื้นที่เขตฯ จากการตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่างานวิจัย จากองค์กรสัตววิทยาแห่งลอนดอน Zoological Society of London (ZSL) โดยเมื่อวันนี่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางทีมงาน ZSL ได้นำภาพบันทึกจากกล้องดักถ่ายโครงการเสือโคร่งมาลงบันทึกไว้ที่ห้องข้อมูล ในจำนวนภาพทั้งหมดได้พบเสือโคร่ง จำนวน 3 ตัว จากการตรวจสอบฐานข้อมูลต่างๆ ประกอบกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ จ.อุทัยธานี ปรากฏว่าเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว ที่พบมีรายละเอียดดังนี้

ตัวแรก รหัส HKT270M (Male) เป็นภาพถ่ายเสือโคร่งเพศผู้ พบบริเวณพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ปลาสร้อย เป็นเสือที่มาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตัวที่ 2 รหัส TWT130M (Male) เป็นภาพถ่ายเสือโคร่งเพศผู้ พบบริเวณพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยล้อ เป็นเสือที่มาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และตัวที่ 3 รหัส SLT001M (Male) เป็นภาพถ่ายเสือโคร่งเพศผู้ ที่พบเจอใหม่ในบริเวณพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าสลักพระ (เขาเสือ) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เจ้าหน้าที่ ZSL จึงได้ตั้งชื่อเสือโคร่งตัวใหม่นี้ว่า SLT001M (สลักพระไทเกอร์ 001) โดยได้พบเจอที่เขตฯ สลักพระเป็นครั้งแรก และไม่ปรากฏว่าพบเจอที่ใดมาก่อน

ล่าสุด วันนี้ (12 มี.ค.) น.ส.กฤษณา แก้วปลั่ง ผอ.องค์กรแพนเทอรา (PENTHERA) ประเทศไทย พร้อมด้วยนายอเล็กซานเดอร์ ก็อดฟรีย์ ผู้จัดการโปรแกรม แพนเทอรา (PENTHERA) ประเทศไทย รวมทั้งทีมงาน Panthera - กลุ่มอนุรักษ์สัตว์วงศ์แมวนานาชาติ ประเทศไทย เข้าพบนายไพฑูรย์ อินทรบุตร ที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หมู่ 4 ต.วังด้ง อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัย และพิจารณาหาแนวทางร่วมกันเพื่อเสริมการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นกับเสือโคร่งที่พบ

ทั้งนี้ น.ส.กฤษณา แก้วปลั่ง ผอ.องค์กรแพนเทอรา (PENTHERA) ประเทศไทย เปิดเผยภายหลังว่า การพบเสือโคร่งครั้งแรกในเขตฯ สลักพระ ในฐานะคนทำงานก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะพบทีเดียวถึง 3 ตัว อีกทั้งเสือโคร่งทั้ง 3 ตัวยังเป็นเสือวัยรุ่นอีกด้วย โดยเสือ 1 ใน 2 ตัว มาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแห้ง จ.อุทัยธานี และอีก 1 ตัวมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ส่วนเสือโคร่งตัวที่พบในเขตฯ สลักพระครั้งแรก หากมีการศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุม อาจจะทราบได้ว่าเสือโคร่งตัวนี้มาจากที่ใด และที่ตื่นเต้นอีกประการหนึ่งก็คือ มันทำให้เราเห็นเส้นทางการเดินทางของเสือในพื้นที่เชื่อมต่อกัน และนั่นหมายถึงว่า งานในส่วนการป้องกันมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะเสือสามารถเดินมาจากห้วยขาแข้ง และจากทุ่งใหญ่ฯ มาถึงที่นี่ด้วยความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้พูดคุยกัน เราก็ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเข้าพื้นที่ไปล่าสัตว์ รวมทั้งเรื่องของปศุสัตว์ ดังนั้น เราต้องการที่จะขอความร่วมมือไปยังชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเจอเสือก็ขอให้รีบส่งข่าวให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยเร็ว

สำหรับประชากรเสือโคร่งทั้งประเทศในปัจจุบันนั้นพบว่า ที่ห้วยขาแห้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรฯ มีมากที่สุด จึงอยากให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นเหมือนมรดกโลก ไล่มาตั้งแต่อุทยานฯ เขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานฯ เฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานฯ ไทรโยค มาถึงเขตฯ สลักพระ ซึ่งเป็นพื้นที่กระจายของเสือโคร่งที่มาจากทุ่งใหญ่ฯทและห้วยขาแข้ง เพราะเขตฯ ทุ่งใหญ่ และเขตห้วยขาแข้งมีจำนวนเสือโคร่งมากที่สุด ซึ่งเสือโคร่งทั้ง 3 ตัวที่พบจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่านี่คือพื้นที่ป่าเชื่อมต่อที่สำคัญ

ด้าน นายอเล็กซานเดอร์ ก็อดฟรีย์ ผู้จัดการโปรแกรม แพนเทอรา (PENTHERA) ประเทศไทย เปิดเผยว่า เราเข้ามาสำรวจประชากรเสือโคร่งในเขตฯ สลักพระได้ประมาณ 4-5 ปีแล้ว โดยสำรวจมาเรื่อยๆ และมาในปีนี้เราได้เพิ่มระดับการสำรวจให้ใหญ่ขึ้น จนกระทั่งพบเสือโคร่ง 3 ตัว ซึ่งมันมีอยู่ 2 ตัวที่มาจากพื้นที่มรดกโลก คือ จากห้วยขาแข้งและเขตฯ ทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก ส่วนเสือโคร่งตัวที่เราเรียกรหัส SLT001M (Male) เป็นเสือโคร่งตัวใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน และในขณะนี้เรากำลังติดตามประชากรเสือโคร่งในเขตฯ สลักพระอยู่

ส่วนนายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยว่า การที่คณะทีมงานแพนเทอรา (PENTHERA) ประเทศไทย ที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์สัตว์วงศ์แมวนานาชาติ ได้เข้ามาทำงานด้านวิจับเพื่อให้เห็นความสมบูรณ์ของป่า และการมาพบในครั้งนี้เขามีจุดประสงค์ที่จะเข้ามาช่วยซัปพอร์ตในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องประชากรของเสือ รวมทั้งเรื่องของสัตว์ป่าที่มีสิทธิใกล้ที่จะสูญพันธุ์ หรือสัตว์ป่าที่โดนคุกคาม

สำหรับพฤติกรรมของเสือมักจะไม่ออกนอกพื้นที่ ยกเว้นปศุสัตว์บางจุด ที่ชาวบ้านนำสัตว์เลี้ยงลักลอบเข้าไปเลี้ยงโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเราจะพยายามผลักดันให้ชาวบ้ายนำสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่ เพราะการปศุสัตว์จะทำให้มีปัญหา เพราะการล่าเหยื่อของเสีอจะมองว่าปศุสัตว์เป็นเหยื่อที่ล่าง่ายที่สุด ยกเว้นเหยื่อที่เป็นสัตว์ป่าจะมีมากก็ตาม

ซึ่งเราจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบว่า การที่เข้าไปใช้พื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์โดยผิดกฎหมายอยู่แล้ว จะต้องนำสัตว์เลี้ยงออกนอกพื้นที่เพื่อลดการสูญเสียของสัตว์เลี้ยงรวมทั้งตัวชาวบ้านเองด้วย และนอกจากนี้ ยังเป็นการลดการปะทะกับเสือโคร่งด้วย อย่างหนึ่งที่อยากจะบอกให้ชาวบ้านได้เข้าใจว่า การที่เสือมานั้นไม่ใช่ว่าจะเกิดอันตรายกับคน เพราะเสือเขาไม่ได้มาคุกคามคน แต่เสือจะมาล่ากินสัตว์ในพื้นที่มากกว่า และการที่พบเสือจะทำให้มองเห็นว่าศักยภาพของจังหวัดกาญจนบุรี มีความเข้มแข้งที่มีป่าที่สมบูรณ์ขึ้น และที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของเราก็คอยปราม และคอยติดตามรวบรวมรายชื่อของชาวบ้านที่เลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้งรายชื่อภัยคุกคาม เพื่อนำเสนอให้ฝ่ายความมั่นคงต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น