ปัจจุบันประเทศไทยมีเสือในกรงเลี้ยงในสวนเสือต่างๆ ทั้งหมด 1,570 ตัว ส่วนใหญ่เป็นเสือที่ไม่ใช่สายพันธุ์ท้องถิ่น เช่น เสือโคร่งลูกผสมเบงกอล และเสือโคร่งลูกผสมไซบีเรีย การผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงเป็นเพียงการเพิ่มจำนวนเสือ เพื่อผลประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น เช่น การป้อนนม การอุ้มเสือ การถ่ายรูปคู่กับเสือ และการแสดงโชว์ต่างๆ และจากกรณีวัดเสือ เคยมีการพบซากลูกเสือและชิ้นส่วนของเสือเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ และใช้ในวัตถุประสงค์ในการทำยา (Traditional Medicine) และอาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหาประโยชน์ทางการค้าจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายได้
นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย นำทีมโครงการรณรงค์ด้านสัตว์ป่า เข้าพบนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ รัฐสภาไทย ยื่นแก้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บางมาตรา เพื่อให้ครอบคลุมการยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดการขับเคลื่อนด้านนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพสัตว์และการนำสัตว์ป่ามาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเสือว่า ผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนของการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง คือ พันธุกรรมของเสือ อันเป็นผลมาจากการผสมเลือดชิด หรือเรียกว่าการผสมพันธุ์ระหว่างสัตว์ที่เป็นเครือญาติกัน จะทำให้เสือมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ บางตัวก็มีความผิดปกติด้านรูปร่างหรือสมอง ถือเป็นเรื่องที่สัตว์เหล่านี้ไม่สมควรจะได้รับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความเมตตาต่อสัตว์ และที่สำคัญที่สุดคือการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการใช้หลักอิสระ 5 ประการ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ด้านสุขภาพ การได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ และไม่อยู่ในความทุกข์ทรมาน
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า กิจกรรมการเรียกร้องยุติการผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยง เราได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวร่วมกับภาคีกับประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงกฏหมาย ที่ต้องการให้สัตว์ป่าหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ทั้งนี้การยื่นเสนอร่างกฏหมายและข้อคิดเห็น ให้กับรัฐสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการผลักดันไม่ให้มีการอนุญาตผสมพันธุ์เสือในกรงเลี้ยงอย่างถาวร
บรรยายภาพ - นายสมศักดิ์ สุนทรนวภัทร หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (ที่สามจากขวา) นำทีมโครงการรณรงค์ด้านสัตว์ป่า นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย (ขวาสุด) นายฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า (ซ้ายสุด) และสัตวแพทย์หญิง ชนัดดา เครือประดับ ผู้ประสานงานโครงการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ที่สองจากซ้าย) เข้าพบนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (ที่สองจากขวา) ณ รัฐสภาไทย ยื่นแก้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บางมาตรา
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รัฐสภาฯ มีความยินดีที่ได้รับมอบข้อเสนอจากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและประชาชนผู้ริเริ่มในเรื่องข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และขอชื่นชมกับทางผู้ริเริ่มและเสนอกฎหมายแก้ไข พรบ. นี้ในมาตรา 28 ในเรื่องของการขยายพันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือ หลังจากนี้ ประธานสภาฯ จะรับยื่นข้อเสนอดังกล่าวและพิจารณาในทางกฎหมายฉบับนี้ ถูกต้องหรือไม่ หรือเข้าหลักการในหมวด 3 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากที่ตรวจสอบแล้ว ทางประธานสภาฯ ก็จะแจ้งไปทางผู้ริเริ่มได้ดำเนินการต่อไป ถ้าไม่ถูกต้องก็จะแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป และเมื่อถูกต้องแล้ว ทางคณะผู้ริเริ่มฯ จะต้องหาผู้สนับสนุนตามกฎหมายต่อไป
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงชื่อสนับสนุนโครงการสัตว์ป่าไม่ใช่นักแสดง (Wildlife. Not Entertainers.) เพื่อยุติการนำสัตว์ป่ามาใช้เพื่อการแสดงและปลดหล่อยความทุกข์ทรมาณของสัตว์ป่าในกรงขังได้ที่ https://worldanimalprotection.or.th/wildlife-not-entertainers