ภาพ - ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤต COVID-19 ผ่านแนวคิด Futures Cone เครื่องมือคาดการณ์ เพื่อหาความเป็นไปได้ในอนาคต สรุปได้ 3 สถานการณ์ในอนาคต เผยมลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลงมากกว่า 60% แต่อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนในระยะยาว พบปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 62% จากขยะประเภทถุงและบรรจุภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% หวั่นปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ระลอกสอง แนะมุ่งเน้นการแก้ปัญหา ด้วยการปรับมุมมองการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เห็นคุณค่าในฐานะสินทรัพย์ของชุมชน
จากวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และวิถีการดำรงชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไป ดังที่ศูนย์อนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ วิกฤต COVID-19 ยังก่อให้เกิดผลกระทบอีกด้านที่อาจนึกไม่ถึง นั่นคือ “ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” แม้จะมีข่าวดีของการฟื้นตัวของสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น การที่คนทั่วโลกมุ่งประเด็นไปที่การแก้ไขปัญหา COVID-19 เป็นหลัก อาจทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถูกละเลยไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไกลตัว แต่ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ทุกคนจึงไม่ควรมองข้าม
ภาพ - โครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ (THE FORESTIAS)ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC เปิดเผยว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่สามารถชะลอปัญหานี้ได้ด้วยความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เริ่มจากระดับบุคคล อย่างการลดใช้พลาสติกให้น้อยลง ไปจนถึงภาพใหญ่ อย่างการออกแบบเมืองเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดมลภาวะ ใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรกับทุกชีวิตในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนจาก ซึ่งเป็นการออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีป่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิต เช่น นก งู หรือแม้กระทั่งหิ่งห้อย เพื่อสะท้อนมุมมองธรรมชาติกับความเป็นอยู่ของคนในเมืองให้มากที่สุด ภายใต้การออกแบบและช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง
ภาพ - ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC
ด้าน ดร.ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยใช้การวิเคราะห์ผ่านแนวคิด Futures Cone เพื่อหาความเป็นไปได้ในอนาคต สามารถสรุปเป็นสถานการณ์ในอนาคต หรือ ฉากทัศน์ของอนาคต (Future Scenarios) ได้เป็น 3 สถานการณ์ ดังนี้
1.อนาคตที่มีความเป็นไปได้สูง (Probable Futures) ผ่านการวิเคราะห์เชิงสถิติ แสดงให้เห็นถึงปริมาณมลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลงมากกว่า 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก โดยกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีมลพิษทางอากาศลดลง 54% และค่าเขม่าในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนลดลง 44% แต่การลดลงของมลพิษทางอากาศนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยั่งยืน เพราะจากข้อมูลสถิติย้อนหลังพบว่า การใช้พลังงานจากทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดหลังจากวิกฤตจากโรคระบาดคลี่คลาย ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าสภาพสิ่งแวดล้อมจะถูกทำลายเพิ่มขึ้นจากการใช้พลังงานอย่างมากหลังวิกฤตในครั้งนี้
2.อนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้ (Plausible Futures) จากที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัยของตนเองในช่วงล็อกดาวน์ นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนขยะของพลาสติกในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีปริมาณสูงถึง 3,432 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะสั่งอาหาร หรือสินค้าต่างๆ ให้มาส่งยังที่พักอาศัยของตนเอง ก่อให้เกิดขยะพลาสติกประเภทถุงและบรรจุภัณฑ์ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% นำไปสู่ฉากทัศน๋อนาคตของไทยที่ต้องรับภาระอันหนักหน่วงในการบริหารจัดการขยะพลาสติก และขยะที่จะหลุดรอดสู่ท้องทะเล
3.อนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ (Possible Futures) ข้อมูลจากศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต พบว่า ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ อาจนำไปสู่อุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม บริเวณบางจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย ซึ่งทางฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ได้วิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ว่า อุทกภัยน้ำท่วมดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค COVID-19 ระลอกสองได้ ซึ่งแม้ว่าผลการศึกษาในปัจจุบันจะพบว่า ความเสี่ยงของการแพร่กระจายไวรัสดังกล่าวผ่านทางน้ำยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการชี้ให้เห็นว่า ไวรัส COVID-19 สามารถแพร่กระจายในน้ำที่ปนเปื้อนด้วยอุจจาระได้เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์
จากทั้ง 3 ฉากทัศน์อนาคตข้างต้น สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากวิกฤตโรคระบาดต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมอย่างแยกออกไม่ได้ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) วิเคราะห์เพิ่มเติมถึงแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านเครื่องมือคาดการณ์อนาคต (Ride Two Curves) เพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงอนาคตจากรูปแบบหนี่งไปสู่ความเป็นไปได้รูปแบบหนึ่ง ซึ่งควรมุ่งเน้นการแก้ปัญหา ด้วยการปรับมุมมองการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าในฐานะสินทรัพย์ของชุมชน นำไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้น ภายใต้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีความยั่งยืนมากกว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมในรูปแบบปกป้องรักษา ซึ่งเน้นการบังคับใช้กฏหมายและบทลงโทษของรัฐเป็นเครื่องมือในการดูแลสิ่งแวดล้อมมากกว่าอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งอาจเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ
“วิกฤตในครั้งนี้หากมองในแง่ดีอีกมุมหนึ่งก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ และถือโอกาสให้เราปรับตัวเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เราทุกคนควรต้องมองย้อนกลับมา และควรมองในระยะยาวถึงเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และควรใส่ใจกับทุกพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในโลกใบนี้” ดร.ภัณณิน กล่าวทิ้งท้าย