การจะทำงานใดๆ ให้สำเร็จได้นั้น ผู้นำโดยลำพังอาจไม่สามารถทำได้ ผู้นำต้องมีเพื่อนร่วมงาน ทีมงานที่ดี มีศักยภาพคอยสนับสนุน ผู้นำจึงต้องรู้ถึงความสำคัญกับการพัฒนาทีมงานตนเอง โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากดูว่างานที่ทีมงานต้องรับผิดชอบนั้นต้องมีทักษะอะไรบ้าง และเมื่อดูแล้วทีมงานยังขาดทักษะไหนอยู่บ้าง หรืออาจจะเห็นว่ายังมีส่วนไหนที่ยังทำได้ไม่ดี ก็จะพยายามพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ เป็นการมุ่งเน้นในการพัฒนาทีมงานเพื่อปิดจุดอ่อน
อีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาทีมงาน คือการที่ผู้นำที่มุ่งเน้นการสร้างขวัญกำลังใจ ผู้นำที่เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีจุดแข็งมีข้อดีอยู่อย่างมากมาย เป็นผู้นำเชิงบวก การเป็นผู้นำเชิงบวกมุ่งเน้นหาจุดแข็ง หาข้อดีของทีมงาน ดูจากสิ่งที่มีอยู่และพยายามที่จะขยายผลจากจุดแข็งที่มีอยู่
การเป็นผู้นำเชิงบวก “ผู้นำจับถูก” ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เป็นการฝืนธรรมชาติ เราต้องเริ่มจากการที่เราตระหนักรู้ถึงโอกาส เพราะในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่นั้น มีเรื่องดีๆ มากมาย แต่เพียงเพราะเราอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะมองหา และโดยปกติแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ เรามักจะสังเกตเห็นข้อบกพร่องหรึอจุดด้อยได้อย่างง่ายดาย เราถูกฝึกมาให้แก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรียนหนังสือในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และในการจะแก้ปัญหา ขั้นตอนแรกๆ ก็คือหาให้เจอว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ปัญหาคืออะไร มนุษย์เราจึงถูกฝึกมาให้หาปัญหา หาข้อบกพร่อง โดยไม่รู้ตัวเราถูกฝึกให้เป็นผู้นำที่เน้นการจับผิด
สำหรับท่านที่ต้องการเป็น “ผู้นำจับถูก” เพื่อพัฒนาจากจุดแข็ง จากโอกาส จากสิ่งที่มีอยู่ สามารถเริ่มได้จาก 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. เริ่มต้นจากผู้นำ กรอบความคิดที่เชื่อว่าทุกคนมีข้อดีอยู่ มีจุดแข็งอยู่ และเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้นำควรจะรู้
2. ผู้นำสามารถเริ่มจากการสังเกตทีมงาน ดูว่าทีมงานแต่ละบุคคลมีความสามารถอะไร เขาทำอะไรได้ดี เขาชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษ
3. ผู้นำหาโอกาสที่จะพูดคุยกับทีมงาน เพื่อที่จะรู้ว่าเขาชอบ มีทักษะอะไรเป็นพิเศษ
การพัฒนาคนจากจุดแข็ง สามารถสร้างเสริมขวัญกำลังใจให้กันทีมงานเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อเจอแล้ว เราควรจะเสริมต่อยอดจุดแข็ง ให้เด่นชัดมากขึ้น โดยตัวอย่างการดำเนินการมีดังนี้
1. แลกเปลี่ยน แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับจุดแข็ง ทักษะความสามารถพิเศษของทีมงานให้กับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ทราบ
2. สนับสนุนให้ทำสิ่งที่เขาชอบ อาจเป็นลักษณะกิจกรรมกลุ่ม ชมรม ซึ่งในทีมงานอาจมีความสนใจในบางเรื่องที่คล้ายกัน เข่นการอ่านหนังสือ เล่นดนตรี ร้องเพลง สะสมแสตมป์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทีมงาน
3. เปิดและให้โอกาสให้ลงมือทำงานนั้น ๆ และสนับสนุนให้พัฒนาทักษะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
4. ท้าทายทีมงานให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยนำเอาจุดแข็งของตนเองมาพัฒนาต่อยอดงานที่รับผิดชอบอยู่ โดยผู้นำมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้ทีมงานได้มีโอกาสทดลองดำเนินการ
การเป็นผู้นำเชิงบวก การพัฒนาจากจุดแข็ง เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนมีความสุข
การพัฒนาคนจากจุดแข็งจะทำให้เกิดขวัญกำลังใจ เกิดความสุขในการทำงาน คนเราทุกคนต้องการที่จะมีความสุข มีความสำเร็จในสิ่งที่ทำ
อย่างไรก็ดี ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การจะเป็นผู้นำจับถูกหรือผู้นำเชิงบวกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นการฝึนธรรมชาติ ผู้นำต้องมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมาก ผู้นำต้องมีความอดทน เชื่อมั่น และต้องมีความสามารถที่จะอดกลั้นรอดูผลที่จะเกิดขึ้น
โดย - ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการออกแบบการสร้างผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง และผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Social Lab Thailand