xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เอสซีจี เล็งขยายผลปีหน้าอีก 700 ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี นำร่องโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ที่มาบตาพุด เชื่อมต่อ “บ้าน-วัด-โรงเรียน-ธนาคารขยะ” และ นำแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ของเอสซีจี มาช่วยอำนวยความสะดวก คาดช่วยเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล ลดปริมาณขยะฝังกลบ ตอบโจทย์การให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งเป้าปีหน้าจะขยายผลอีก 700 ครัวเรือน





แนวทางดำเนินโครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ”คือ การสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และให้ชุมชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีสอนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งขยะให้ถูกต้อง
ธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า โมเดลการจัดการขยะภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ต้องการเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดปริมาณการฝังกลบขยะ โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการฯ คือ การสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และให้ชุมชนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีสอนการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งขยะให้ถูกต้อง มีการคัดแยกขยะเปียก และขยะรีไซเคิล รวมถึงไม่ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง
ปัจจุบัน “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เริ่มนำร่องที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านโครงการ “บ-ว-ร” (หมายถึง บ้าน-วัด-ชุมชน) บ้าน คือ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัด คือวัดโขดหิน และโรงเรียน คือโรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยมีธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ เป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกการรีไซเคิลของชุมชน
ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ และมีแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจร โดยช่วยวางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง ประกอบด้วย 5 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่
1. การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและคำนวณยอดเงินจากการซื้อขาย
2. การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มและสะสมคะแนน
3. การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย
4. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธการซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น
5. การจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ที่สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผลและดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel

ธนวงษ์ อารีรัชชกุล
“ในปี 2563 เอสซีจี มีแผนจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อีก 700 ครัวเรือนในชุมชนเดิม นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ชุมชนใหม่ ที่มีใจพร้อมจะเดินหน้าเป็น ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปเพื่อให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองไร้ขยะอย่างสมบูรณ์”
ธนวงษ์ กล่าวอีกว่า “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” นำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับชุมชน โดยการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น และเกิดประสิทธิภาพตั้งแต่การผลิต การใช้ และการวนกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของโลกได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้ใหม่ได้มากยิ่งขึ้น คือ การบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง มีการคัดแยกขยะ และทิ้งให้ถูกที่ โดยไม่หลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมและแม่น้ำลำคลอง”

โครงการ  “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ”  ที่มาบตาพุด เชื่อมต่อ “บ้าน–วัด–โรงเรียน–ธนาคารขยะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น