ในวาระครบ 60 ปีแห่งการสถาปนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปักหมุดเปลี่ยนรูปแบบใหม่มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนการศึกษาคู่งานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมตอบโจทย์อนาคตประเทศ
โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง องค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาวิชาการที่นักศึกษาเรียนอยู่วันนี้อาจล้าสมัยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หลายอาชีพกำลังจะหายไปบ้างถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาชีพใหม่ก็ไม่อาจคาดเดาว่าเป็นอะไร ภาคการศึกษาเองก็ยังไม่แน่ว่าจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีหรือไม่ และหน้าตาสถาบันการศึกษาในอนาคตจะเป็นเช่นไร
ท่ามกลางสภาพความไม่แน่นอนและผันแปรตลอดเวลาเช่นนี้ มจธ. ก้าวรับความท้าทาย เร่งปรับตัวเองให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาให้ทันการณ์
“มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ผลิตบุคลากรสำหรับอนาคตและบริการวิชาการและงานวิจัยที่ตอบโจทย์สังคม มหาวิทยาลัยต้องมองไปข้างหน้า ตามให้ทันโลกแล้วสร้างคนที่ทำงานกับอนาคตที่ผันผวนรวดเร็ว มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเองและตลอดชีวิต ปรับตัวเร็วและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมในทุกระดับ” รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายที่มาของทิศทางในก้าวสู่ปีที่ 60 ของ มจธ. ที่มุ่งสู่ “สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต”
“ในแนวทางการเป็นมหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ มจธ. จะใช้ทรัพยากร บุคคล พันธมิตร เครือข่าย หรือโอกาสเพื่อพัฒนาให้สังคมและประเทศ ผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้นำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศทั้งในแง่รายได้มวลรวมและความยั่งยืน มีงานวิจัยที่ตอบโจทย์จริงของสังคมให้กับทุกภาคส่วนผมเชื่อว่า ถ้าเราทำได้ดี ก็จะมีความหมายและคุณค่ากับประเทศมากและเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตและสังคม”
ในการสร้าง “สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต”มจธ. ริเริ่ม
6 Initiatives ที่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ดังนี้
1. พัฒนากำลังคนและเร่งสร้างพันธมิตรสำหรับอนาคต (Developing human resources and accelerating partnerships for the future)
2. ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล (Digital transformation)
3. ธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและตระหนักถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม ทำหน้าที่ของตนเองภายใต้การเป็นพลเมือง (Effective governance and good citizenship)
4. สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Inspiring future leaders)
5. มหาวิทยาลัยสุขภาพดีและยั่งยืน (Healthy and sustainable university)
6. มุ่งสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ (Entrepreneurial university)
มหาวิทยาลัยนอกกรอบแห่งเวลา
โลกยุคใหม่ต้องการนิยามใหม่ของ “นักศึกษา” โครงสร้างประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นและยังมีศักยภาพ หรือคนในภาคการทำงานกว่า 38 ล้านคนก็ต้องการยกระดับศักยภาพของตนเองเพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตลอดเวลา มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill)หรือ ต่อยอดยกระดับทักษะ (up-skill)
“มจธ. จะมองแต่นักเรียนที่จบ ม.6 ไม่ได้ แต่ต้องมองคนที่อยู่ในระบบทำงานแล้วด้วย เพราะคนทุกคนมีความหมายและเป็นผู้นำที่สร้างงานที่มีคุณค่าและมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิมเป็นประโยชน์ให้สังคมได้” รศ ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ กล่าว
สมการใหม่ของระบบการศึกษาที่บางมดจะข้ามพ้นกรอบของ “เวลา” แบบเดิมๆ นอกจากมิติของอายุของนักศึกษาที่นับจากนี้จะเปิดรับผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัยหลายเจเนอเรชั่นแล้ว รูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนก็จะไม่ถูกจัดแบ่งเป็นภาคการศึกษา จำนวนหน่วยกิต รวมทั้งวิธีการวัดผลด้วยการสอบแบบเดิม ฯลฯ ก็ต้องปรับตามไปด้วย
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มจธ. ปรับหลักสูตรการเรียนให้มีความยืดหยุ่นและเปิดให้บุคคลภายนอกมาลงเรียนในวิชาหรือหลักสูตรของมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา หรือมีหลักสูตร “ตามใจคุณ” (Individual learning)ที่นักศึกษาจัดสำรับความรู้ของตัวเองได้ แต่อนาคต มจธ. จะสลายความเป็นคณะหรือภาควิชาและปรับหลักสูตรให้เป็นหน่วยย่อย (module) มากขึ้นเพื่อให้นักศึกษาเลือกเรียนตามความสนใจและความสามารถ สร้างสำรับการเรียนรู้เพื่อตอบโจทย์การทำงานของตัวเอง
รศ ดร.บัณฑิต อธิบายว่า ระบบการศึกษาจะไม่เน้นใบปริญญา แต่เน้นสร้างศักยภาพให้นักศึกษาเอาความรู้มาใช้ทำงานและประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้น การเรียนแต่ละวิชาจะใช้เวลาตามศักยภาพของบุคคลนั้นจะไม่มีการกำหนดว่าเรียนหลักสูตรนี้ต้องจบภายในกี่ปี คนเรามีความสามารถต่างกัน ต้องการระยะเวลาเรียนต่างกัน เราจะดูให้เขาเรียนจนทำได้และทำเป็น ซึ่งการวัดผลก็จะเป็นตามวิทยฐานะ (credentials) ว่าความสามารถของนักศึกษาในระดับนี้ทำอะไรได้และในคุณภาพอย่างไร
ที่สุดของการนอกกรอบของเวลาคือการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
“เราจะมีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา นักศึกษามาเรียนได้ทักษะแล้วก็ออกไปทำงาน เมื่อทำงานเห็นว่าต้องการทักษะเพิ่มขึ้น ก็กลับมาเรียนเพิ่มได้เรื่อยๆ เป็น Lifetime university คือมหาวิทยาลัยเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต“รศ. ดร.บัณฑิต กล่าว
งานวิจัยคู่การศึกษาตอบโจทย์จริงของสังคม
ก้าวสู่ปีที่ 60นี้ มจธ. จะยังคงสานต่อแนวทางนี้ บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมคู่กับการศึกษา ทำงานกับพันธมิตรต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคมทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม รัฐ เอกชน สังคมอย่างมูลนิธิโครงการหลวง ฯลฯ ในฐานะหุ้นส่วนในการศึกษา (partnership) ร่วมสร้างและพัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เหมาะกับอนาคต
“รูปแบบนี้เป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษาและภาคการทำงาน และนำไปสู่โอกาสในการเกิดโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกันเพื่อยกความสามารถของเราให้แข่งกับต่างประเทศได้” รศ. ดร. สุวิทย์ กล่าว
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ขยายความแนวทางการวิจัยและนวัตกรรมเป็นตัวหลักคู่กับการศึกษาว่า “เราไม่ต้องการคนที่อ่านตำราแล้วมายืนสอน อาจารย์ต้องทำงานกับภาคเอกชน ชุมชนและสังคมเพื่อรู้โจทย์และความต้องการจริงของภาคส่วนนั้นๆ แล้วทำวิจัยร่วมกันโดยพานักศึกษาไปร่วมทำด้วย ภาคสังคมต่างๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการวิจัยที่มาจากปัญหาจริงและแนวทางออกที่ใช้ได้จริง ส่วนนักศึกษาก็จะได้พัฒนาทักษะ วิธีคิดที่จะทำงานกับโจทย์จริง และวัฒนธรรมการทำงาน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาของเราจบออกไปจะได้พร้อมทำงานได้ตั้งแต่วันแรก”
นอกจากการวิจัยกับหลายภาคส่วนในสังคมแล้ว มจธ. ยังมีสนามทดลองปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab)ที่นักศึกษาจะไปศึกษาความต้องการและปัญหาของชุมชนที่อยู่ห่างไกล แล้วเอาวิชาการของมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือ
“การเห็นและเข้าใจสังคมจะทำให้นักศึกษาได้แรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับต่างๆ ที่ตนเองอยู่ได้ด้วยตัวเอง” รศ ดร.บัณฑิต รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ กล่าวเสริม
มหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยที่สุขภาพดีและยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล
“สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต” ไม่เพียงเน้นที่การปรับรูปมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างกำลังคนและนวัตกรรมงานวิจัย แต่ยังหมายถึงการเปลี่ยน มจธ. ทั้งระบบ ทั้งเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยที่สุขภาพดีและยั่งยืน และการบริหารที่มีธรรมาภิบาล
ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร/ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง กล่าวถึงการปรับตัวสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัลว่า ไม่ได้หมายความเพียงการมีเทคโนโลยีที่ให้บริการเกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้นแต่เป็นการเชื่อมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของทุกคนใน มจธ.ไม่ว่าเรื่องการเดินทาง สุขภาพ หรือแม้แต่คุณภาพอากาศในห้องเรียนเป็นต้น
“ที่สำคัญ การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลต้องคิดเรื่องการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ออกแบบการทำงานเพื่อพัฒนาอนาคตให้ดีขึ้นด้วย ถ้าเราไม่มีข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ เราไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะมิติไหน ที่ดีที่สุดก็คือให้ข้อมูลนั้นเกิดจากการใช้งานของคนในชีวิตประจำวัน อันนี้ก็เป็นแนวคิดของการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเป็นดิจิทัล”
ในส่วน“มหาวิทยาลัยสุขภาพดี” ผศ.ดร.ประเสริฐ อธิบายว่า “มจธ.เดินไปข้างหน้าและยั่งยืนได้ด้วยบุคลากรและนักศึกษา ที่มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีความรู้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุขและ ปลอดภัย และที่สำคัญคือการฝังหัวใจสีเขียว (greenheart)ให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคคลากร”
“ความเป็น greenheart คือเข้าใจเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อม ผลกระทบของการใช้พลังงาน ผลกระทบของเรื่องของความปลอดภัยในองค์กร และการมีจิตเป็นอาสา เหล่านี้จะสร้างให้ทุกคนใน มจธ. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย”
ธรรมาภิบาลเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมา รศ. ดร. สุวิทย์อธิการบดี กล่าวว่า มจธ. มีระบบธรรมาภิบาลที่ดี มีการเลือกคนมาทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ มีการตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอ การทำงานระหว่างสภามหาวิทยาลัยและผู้บริหารเป็นอิสระต่อกันแต่ในอนาคตข้างหน้า ผศ.ดร.ประเสริฐ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร เพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยต้องสร้างพื้นที่และช่องทางเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของมหาวิทยาลัยให้สาธารณะรับรู้และช่วยตรวจสอบธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัยด้วย
หนทางสู่ “สังคมปริวรรต พิพัฒน์สังคม” มีความท้าทายของโลกยุคเดิมที่ มจธ. ต้องก้าวข้าม แต่ด้วยสปิริตของชาวบางมดที่มีความกล้าอย่างนักบุกเบิก มีความเป็นมืออาชีพ ความซื่อตรงเชื่อถือได้ และการคำนึงถึงประโยชน์ชาติเป็นอันดับแรก ผศ.ดร.ประเสริฐ มั่นใจว่า เพียง 5 ปีข้างหน้า สิ่งที่ริเริ่มในวันนี้จะปรากฏผล เมื่อชาวบางมดทำงานแบบ “มด”อันเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมขององค์กร
“เวลาทำงาน มดจะรวมทีมกันเพื่อไปทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเสร็จภารกิจนั้นก็แยกย้าย เราต้องมี Ant team ซึ่งจะไม่เหมือนการทำงานของราชการที่เป็นแบบหน้าที่ตายตัว หลายงานในปัจจุบันและอนาคตตอบไม่ได้ด้วยวิธีการตามตำแหน่งหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องการคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากหลายหน่วยงานมารวมทีมกันเฉพาะภารกิจเพื่อจัดการให้งานลุล่วง
“นี่คือการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่สำคัญ เราไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นทำแต่ในโอกาสครบ 60 ปี เป็นการเริ่มศักราชของการบริหารจัดการแบบนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถมากขึ้น” ผศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย
6 Initiatives เป็นคำตอบของการศึกษาแห่งทศวรรษนี้
เพราะ เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจเข้ามาแทนการเรียนการสอนได้แต่การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
(Experiential learning) และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (soft skills)เป็นสิ่งที่ต้องเรียนผ่านปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ซึ่งเป็นจุดเด่นของมจธ. ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา และการพัฒนานักศึกษา และ บุคลากรในสถาบันด้วยแนวทาง 6 Initiatives จะกลายเป็นระบบการจัดการการศึกษาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศอุดมศึกษาในอนาคตต่อไปของมหาวิทยาลัย ที่มีเป้าหมาย คือการพัฒนาคนไปพร้อมกับสังคมโลกอย่างยั่งยืน
“นักศึกษาต้องมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เช่นการทำงานเป็นทีมได้ รู้แพ้รู้ชนะ สื่อสารกับคนรู้เรื่อง
แสดงออกและนำเสนอความคิดได้ รวมถึงคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องการให้นักศึกษามีโจทย์ปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง มีแนวคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการที่ใช้ทักษะประสบการณ์ตอบโจทย์สังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งหากนักศึกษามีทักษะเหล่านี้ติดตัว เขาจะพัฒนาตัวเองได้ตลอดชีวิต” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว