xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

มหาวิทยาลัยไทยแบบไหนที่จะไปรอด หรือ ไปไม่รอด?

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ภาพจาก pixabay.com
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


มหาวิทยาลัยไทยและมหาวิทยาลัยทั่วโลกกำลังเป็นขาลงเนื่องจากภาวะประชากรสูงวัยหรือ Aging society ที่เกิดขึ้นในยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในประเทศไทยเอง ยกเว้นจีนที่แม้จะมีปัญหา Aging society แต่มหาวิทยาลัยทั้งหมดเป็นของรัฐและมีนโยบายการวางแผนการศึกษาแบบรวมศูนย์ทำให้จำกัดการผลิตโดยพรรคคอมมิวนิสต์และเน้นไปที่ STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ที่ทำให้จีนก้าวกระโดดด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มหาวิทยาลัยไทยเน้นการเปิดสอนในสาขาวิชาที่เปิดสอนได้ง่ายต้นทุนต่ำคือสายสังคมศาสตร์ซึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีมากขนาดนี้และไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศ

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยไทยพยายามกระเสือกกระสนปรับตัวเพื่อเอาตัวรอด โดยวิธีการหลายอย่าง TCAS แต่ละรอบกรองร่อนออกจนไม่เหลือนักศึกษาที่จะให้กรองร่อนเข้ามา เด็กนักเรียนมีน้อยกว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัย หลายแห่งเริ่ม lay off อาจารย์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งปิดกิจการ ขายให้ทุนจีน ขายที่ดินทำคอนโดมิเนียม และอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำเพราะไปไม่รอด ความพยายามหลายอย่างของมหาวิทยาลัยไทยที่ผมเห็นและมองจากสายตาของคนนอกคิดว่ามีการปรับตัวหลายอย่างที่ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ ไม่น่าจะยั่งยืน และไม่น่าจะช่วยให้รอดได้แก่

หนึ่ง สร้าง course online หรือ e-learning ด้วยเนื้อหาเดิมๆ ในมหาวิทยาลัยที่ตกยุคตกสมัย ไม่มีใครอยากเรียน หรือที่แย่กว่านั้นเปิดสอนปริญญาตรีหรือปริญญาโทออนไลน์ โดยการ spoil เนื้อหา สอนแต่เนื้อหาง่าย ๆ ง่ายกว่าที่สอนเดิมในชั้นเรียน off line ในมหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ เสียอีก โดยคาดหวังว่าจะเป็นการอ่อยเหยื่อให้อยากมาเรียนในมหาวิทยาลัย เรียกว่า bait and switch หรือที่แย่กว่าเพื่อนคือการเห่อสร้าง smart classroom ในมหาวิทยาลัย เน้นการสร้างตึก อาคาร ห้องเรียน แต่ไม่ได้ปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอน หรือทำมหาวิทยาลัยให้เป็น smart city ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อีกเช่นกันในแง่ความอยู่รอด มีแต่ใช้เงิน ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากมายที่จะช่วยทำให้เกิดรายได้หรือทำให้มีชื่อเสียงที่จะดึงดูดนักศึกษาให้มาเรียน

วิธีการแบบนี้ ไม่ยั่งยืนแน่นอน เพราะ content คือพระราชาบนโลกออนไลน์ และคู่แข่งที่ทำ content ดี ๆ มีมากไม่ว่าจะเป็น Khan Academy, Courserra, Udacity, EdX, MIT open courseware และอื่น ๆ อีกมาก ถ้าไม่ทำ content ให้ดีวิธีการนี้จะฉาบฉวย ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่ยั่งยืน ยิ่งที่เน้นไปที่ทำ Smart Classroom หรือ Smart City โดยไม่มี Smart Content หรือ Smart Professor ยิ่งจะอาการหนัก ส่วน course online ที่ Spoil เนื้อหา ลดระดับความลุ่มลึก ทำให้ง่ายขึ้นกว่าที่สอนเดิมในมหาวิทยาลัย ยิ่งจะมีอาการหนักมาก เพราะจะกลายเป็นว่าเมื่อจบออกไปจะทำงานไม่ได้จริง และบริษัทต่าง ๆ จะพูดปากต่อปาก แม้กระทั่งคนเรียนก็เช่นกันก็จะพูดปากต่อปากไปเรื่อย ๆ มีมหาวิทยาลัยไทยจำนวนมากที่เลือกปรับตัวด้วยวิธีการที่ไม่ยั่งยืนและจะไม่ช่วยให้รอดแต่อย่างใดเช่นนี้เป็นจำนวนมาก ด้วยมีความเข้าใจผิดว่าการ Go online จะทำให้ทันสมัย ทำให้อยู่รอด แต่ในความเป็นจริง การ go online ใครที่พอมีเงินก็พอจะทำได้ และถ้าทุก ๆ คน go online กันได้หมด สุดท้ายก็ต้องตัดสินกันด้วย content อยู่ดี ไม่ใช่ที่ช่องทางในการเรียนการสอนออนไลน์แต่อย่างใด

สอง รับนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาแทนนักศึกษาไทย โดยเฉพาะนักศึกษาจีน หลายมหาวิทยาลัยทำเช่นนั้น สำหรับจีนนั้นเขาไม่ให้มีมหาวิทยาลัยเอกชน และนักศึกษาจีนที่เก่ง ๆ ก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเช่น ปักกิ่งหรือ ชิงหัว เป็นอาทิ หรือหากเก่งและพอมีสตางค์ก็ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเช่นใน สหรัฐอเมริกาหรือในยุโรป เป็นต้น นักศึกษาจีนที่มาเรียนในเมืองไทยคือนักศึกษาจีนที่มักจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยจีนไม่ได้และไม่มีฐานะทางการเงินดีเพียงพอที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว นักศึกษาจีนในไทยจึงไม่ได้เป็นครีมและไม่ได้มีสตางค์มากนัก ที่มาเพราะหวังจะหางานทำในเมืองไทย และค่าครองชีพในประเทศไทยนั้นต่ำกว่าในประเทศจีนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งแพงมาก

วิธีการแบบนี้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะว่าเราไม่ได้นักศึกษาจีนที่เก่ง ๆ หรือมีฐานะดี แต่ได้เศษ ๆ มาเรียนกับเรา โอกาสที่จะจบออกไปประสบความสำเร็จหรือสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยในฐานะศิษย์เก่าก็คงไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากการหลบหนีเข้าเมืองมาทำมาค้าขายถาวร ทำให้มหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาจีนเหล่านี้เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง หากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะบุกไปตรวจจับ หลายคนไม่ได้มาเรียน แต่มาขายของรอบ ๆ มหาวิทยาลัย และหากเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลจีนไม่ใช้การวางแผนการอุดมศึกษาแบบรวมศูนย์ไว้ที่พรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ปล่อยให้มหาวิทยาลัยของรัฐ ผลิตได้เพิ่มขึ้น หรือ ยอมให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศจีน วิธีการนี้ก็จะหมดสภาพ คือจะไม่มีนักศึกษาจีนอยากมาเรียนต่อในประเทศไทยอีกต่อไป

สาม ใช้วิธีการทางการตลาดแบบเต็มรูปแบบ hard sale เต็มที่ ลดแลกแจกแถม เช่น สมัครเรียนแจกไอโฟนหรือไอแพด หรือพาเพื่อนมาสมัครจะได้ส่วนลด หรือได้ค่าคอมมิชชั่น หรือวิธีการอื่นๆ อีกมาก บางมหาวิทยาลัยให้อาจารย์ไปหานักศึกษามาเรียนโดยให้ทำการตลาดกันเต็มที่ ผมเคยเขียนบทความ มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอด ถ้ายังใช้การตลาดนำหน้าการศึกษา เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นของสูงค่า ต้องวางตำแหน่งทางการตลาด (Market positioning) ให้ดี หากวางตำแหน่งแบบนี้คือใช้การส่งเสริมการขาย (promotion) มาก ๆ จะไร้ค่า เสียตำแหน่งทางการตลาด เป็นของโหล ไม่มีค่า ดูแย่ จ่ายครบ จบง่าย ไม่น่าภาคภูมิใจ กลายเป็นของเกรดต่ำ และขายไม่ออกในท้ายที่สุด

สี่ ทู่ซี้ ดื้อดึง ไม่ยอมปิดสาขาวิชาที่ไม่ผ่านในแง่คุณภาพ และไม่มีคนเรียน เพราะต้องการรักษาฐานเสียงทางการเมืองในมหาวิทยาลัยหรือไม่มีใครกล้าทุบหม้อข้าวของอาจารย์ที่ตกยุค ไม่มีการ re-skill และ up-skill อันนี้ก็เป็นเรื่องประหลาด หลายคณะหลายมหาวิทยาลัยจะทู่ซี้ขายหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่ตกยุค ตกสมัยไม่มีคนอยากจะเรียนแล้ว พูดง่าย ๆ เป็นร้านค้าหรือธุรกิจที่จะเอาของเน่า ๆ ของเสีย ๆ หรือของพัง ๆ ที่ขายไม่ได้ออกมาวางขายหน้าร้าน จะขายยังไง จะโฆษณายังไงก็ไปไม่รอด ควรโละทิ้งแล้วทำของใหม่ที่ดีกว่ามาขาย ควรปิดสาขาวิชาที่ไม่ผ่านในแง่คุณภาพและไม่มีคนเรียน ไปให้หมด ส่งอาจารย์ที่ตกยุคไป re-skill หรือ up-skill มาสอนสิ่งที่โลกปัจจุบันต้องการ ไม่ใช่สอนสิ่งที่ตัวเองเรียนมาเมื่อ 20 ปี ก่อนในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีใครใช้งานแล้ว อย่างนี้คือไม่ปรับตัว มีแต่ตายกับตาย

ห้า มหาวิทยาลัยที่พยายามเปิดสาขาใหม่ ๆ ที่คิดว่าจะมีคนเรียน โดยไม่มีพื้นฐานหรือความสามารถด้านนั้น ๆ เพียงพอ วิธีการนี้ทำกันมาก เหล้าเก่าในขวดใหม่ อาจารย์ยังไม่ได้มีความรู้ใหม่อะไร ไม่ได้มีความชำนาญในสาขาวิชาใหม่ ๆ อย่างแท้จริง อาศัยไปลอกหลักสูตรใหม่ ๆ จากต่างประเทศและจากมหาวิทยาลัยอื่นในไทยที่ก้าวหน้าไปก่อนเพื่อนมาเป็นต้นแบบ แท้จริงยังกำมะลอ ไม่เป็นของจริง คนไปเรียนสักพักก็จะทราบว่าที่มหาวิทยาลัยนี้เปิดสอนสาขาวิชาใหม่ ๆ นั้น ไม่ได้มีตัวจริง และไม่ได้มีของจริง เป็นการตบตาหลอกขายของ ที่ไม่นานคนก็จะเริ่มรู้ว่าถูกหลอก วิธีการแบบนี้ไม่ยั่งยืน ใครจะยอมให้หลอกไปได้ตลอดกาล ต้องมีตัวจริง เสียงจริง ต้องไปทำวิจัยและไปทำงานที่ปรึกษาด้านนั้นๆ มาก่อนถึงจะมาสอนได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนสอนไม่เคยทำงานในสิ่งที่สอนเลยเป็นแค่การกางตำรามาสอนหรือลอกขี้ปากมาสอน แต่ทำไม่ได้จริง

ทั้งหมดนี้คือมหาวิทยาลัยแบบที่ไปไม่รอด แม้จะพยายามปรับตัวแล้วก็ตาม มาลองพิจารณากันดูว่ามหาวิทยาลัยแบบไหนที่จะไปรอด

หนึ่ง มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง มีทรัพย์สิน มีทุนเดิม สะสมมาดี คนไทยและนักเรียนไทยก็ยังบ้าแบรนด์อยู่เสมอ หากมีตรายี่ห้อดี มีชื่อเสียงสะสมมาดี ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เมื่อได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายก็มีโอกาสได้ครีมของประเทศ ทำให้ผลิตบัณฑิตได้ดีมีคุณภาพและมีโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วทำงานได้ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงกลับคืนมาให้สถาบันที่ตนจบมา นอกจากนี้การมีทรัพย์สินจำนวนมากดังเช่นมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต้องมี Endowment มหาศาลทำให้มหาวิทยาลัยมีทุนจะส่งอาจารย์ไปเรียนต่อในสาขาวิชาที่ขาดแคลน มีทุนทำวิจัย หรือมีทุนที่จะไปต่อยอด ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเอื้อเฟื้อทุนการศึกษาในนักศึกษาที่ขาดแคลนได้ก็ย่อมทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนั้นมีข้อได้เปรียบและดึงดูดใจ ว่าง่าย ๆ ว่ามีบุญเก่าให้กินได้อีกยาวนาน แต่มหาวิทยาลัยเช่นที่ว่านี้ ต้องไม่หลงลำพองไปว่า การเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ มีชื่อเสียง มีทรัพย์สินมากมหาศาลก็อาจจะหมดทุนและหมดบุญได้ หากมัวแต่กินบุญเก่า และไม่สร้างบุญใหม่ให้ดีขึ้นมา

สอง มหาวิทยาลัยที่ปรับตัวได้ไว สอนเนื้อหาทันสมัย อาจารย์มีการ re-skill และ up-skill เพื่อมาสอนในสิ่งที่อุตสาหกรรมและประเทศต้องการ หรือสาขาที่ขาดแคลน มีคุณภาพ จบไปทำงานได้เลย มหาวิทยาลัยต้องคิดหลักสูตรหรือเนื้อหาวิชาที่ตรงกับความต้องการของประเทศ ก้าวให้ไว อาจารย์ต้องไวมากในการ re-skill และ up-skill เพื่อมาสอนเนื้อหาวิชาใหม่ ๆ ที่สังคม ธุรกิจ และประเทศต้องการ การร่างและการสร้างหลักสูตรต้องรวดเร็ว ทำของที่ดีและทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาด หรือแม้กระทั่งชี้นำสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในวงการหรือในธุรกิจหรือในประเทศ ให้ก้าวหน้า ต้องเป็น change leader หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในทางวิชาการ เพื่อเปลี่ยนประเทศและสังคม ก้าวหน้าค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ก้าวหน้าก่อนกาลเวลามากเกินไป ตีเหล็กต้องร้อนและถูกจังหวะพอดี ๆ ในเวลาที่เหมาะสม

สาม มหาวิทยาลัยที่มี Network หรือ connection ในลักษณะของสหกิจศึกษา เป็น มหาวิทยาลัยของธุรกิจ (corporate university) ที่ธุรกิจเติบโต ด้วย อันที่จริง มหาวิทยาลัยเช่นนี้ดึงดูดนักเรียนมาก เพราะเป็นผู้ว่าจ้างงานหลังจบ นักศึกษาที่จบไปแล้วได้งานทันทีแน่นอน โดยมีบริษัทที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้จ้างงาน ยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือมหาวิทยาลัยปัญญาภิวัฒน์ ที่มีสหกิจศึกษากับ CP-All หรือ 7-11 นักเรียนนิยมเรียนมาก เพราะมั่นใจได้ว่าจบไปจะมีงานทำทันที กลายเป็นว่านักการศึกษาต้องเป็นนายจ้างและนักธุรกิจด้วย จะช่วยดึงดูดนักเรียนได้มาก ยิ่งธุรกิจโตและมีการว่าจ้างมากเท่าใด corporate university ยิ่งดึงดูดใจนักเรียนมากเท่านั้น หัวใจสำคัญคือสอนไปแล้วนักศึกษาที่จบไปต้องได้งานทันทีหลังจบ

สี่ มหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ทำงานวิจัยที่ได้สิทธิบัตร ร่วมมือกับอุตสาหกรรม ผลิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแบบนี้ยังไม่มีในประเทศไทย แต่ในไต้หวันมีอยู่หลายแห่ง บางแห่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคเลย อุตสาหกรรมมาจ้างมหาวิทยาลัยผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อจดสิทธิบัตร และผลิตของที่ต้องเอาไปขายได้หรือ commercialize ได้ นักศึกษาปริญญาเอกเป็นมือทำวิจัยให้อาจารย์ ได้ทุนเรียนฟรี โจทย์วิจัยชัดเจนตั้งแต่ก่อนเข้ามาเรียน อาจารย์ มหาวิทยาลัย และนักศึกษาได้ส่วนแบ่งจากทรัพย์สินทางปัญญาและยอดขายจากนวัตกรรมและสิทธิบัตรที่ตนเองคิดค้นขึ้น อาจารย์แต่ละคนมี lab และมีบริษัทผลิตนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยในไทยที่พยายามเดินตามแนวทางนี้อยู่ค่อนข้างชัดเจนคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี หรือบางมด ซึ่งคงใช้เวลาอีกสักพัก วิธีการนี้ยั่งยืนเพราะได้ค่าตอบแทนยาวๆ จากสิทธิบัตร และได้คนเก่งมาเรียนเพื่อสร้างสิทธิบัตรและนวัตกรรม แต่ต้องเด่นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ หรือการแพทย์ จึงจะใช้ตัวแบบนี้ในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัยให้อยู่รอดได้

ห้า มหาวิทยาลัยที่จิ๋วแต่แจ๋ว มี distinctive competence เก่งเรื่องเดียว แต่เก่งจริง สมัยก่อน ถ้าก่อสร้างต้องอุเทนถวาย ถ้าเครื่องกลต้องช่างกลปทุมวัน ถ้าด้านบัญชีต้องพาณิชย์พระนคร ถ้าภาพถ่าย-การพิมพ์ต้องเทคนิคทุ่งมหาเมฆ ถ้าศิลปะต้องเพาะช่าง มีความเก่งโดดเด่นด้านเดียว ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่เปรอะไปสารพัด เป็นมหาวิทยาลัยโหลๆ และไม่เก่งจริงสักอย่าง ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่จะอยู่รอด ต่อให้เล็กๆ แต่เจ๋งเป้ง เก่งด้านเดียวจริงๆ สอนได้ดีที่สุด เก่งที่สุดด้านนั้นก็จะยังอยู่ได้ เพราะ อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล ไม่ใช่พยายามเป็นมหาวิทยาลัยโหลๆ สอนได้เหมือนทุกมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง และการมีขนาดใหญ่ยิ่งเปลือง อุ้ยอ้าย ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งมีโอกาสรอดยาก ต้อง Small but beautiful เล็กแต่สวยสดงดงาม ใครก็อยากเรียน เพราะเก่งจริงเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ใช่เป็ดที่ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่เก่งจริงสักอย่าง

หก มหาวิทยาลัยที่ยอมเจ็บตัวผ่าตัดตัวเอง โดยการควบรวมให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งปันทรัพยากร เพิ่มคนเก่ง แต่การควบรวมย่อมต้องมีการเฉือนไขมันหรือติ่งเนื้อที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นต้องเอาคนออก คณบดีหรือตำแหน่งอธิการบดี หรือตำแหน่งบริหารก็จะลดลง ค่าตอบแทนก็จะลดลง ไม่มีใครยอมใคร บางแห่งสองมหาวิทยาลัยเล็กๆ อยู่รั้วติดกัน ต่างไม่ได้เรื่องทั้งคู่ แต่ก็แข่งกัน ไม่ยอมรวมกัน เพื่อให้ใหญ่ขึ้น เก่งขึ้นดีขึ้น เพราะเป็นศึกศักดิ์ศรีและศึกแย่งชิงตำแหน่ง หรือเกิดจากความกลัวที่จะต้องมีคนต้องถูกให้ออกไป แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวสถานการณ์จะเป็นนายของทุกคน พอไปไม่รอดจริงๆ ก็จะถูกยุบหรือควบรวมไปเอง ให้อยู่รอดได้ แต่จะเจ็บปวดยิ่งกว่าเพราะเราต้องเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง

เจ็ด มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการศึกษาต่อเนื่อง การ Re-training การ Re-skill การ up-skill น่าจะไปรอด เพราะทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเน้นสอนเด็กนักเรียนมากกว่าสอนผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว ในขณะที่หนึ่ง โลกจะเข้าสู่ Aging society อย่างรุนแรง สอง การระเบิดดิจิทัล (Digital Disruption) จะทำให้คนตกงานอีกมากมาย ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะเก่งขึ้นมากจนแทนคนทำงานได้ในหลายๆ งาน และทำให้คนตกงาน ตกยุคมีมากขึ้น หน้าที่ของมหาวิทยาลัยต่อสังคมประการหนึ่งก็คือการสอนให้คนมีทักษะที่ดีพอที่จะกลับไปทำงานได้อีกครั้ง ตลาดนี้จะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก แต่มหาวิทยาลัยเองโดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอนต้องปรับตัวไม่ให้ตัวเองตกยุคเสียก่อนจึงจะทำหน้าที่นี้ได้สำเร็จ

ก็อยากฝากให้มหาวิทยาลัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายไปลองคิดดูว่าตนเองได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือยังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวใดๆ เลย ท้ายที่สุดทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยจะไปไม่รอด ท่านจะไม่ได้ไปต่อ เตรียมหางานใหม่เถิดหากยังไม่ลงมือทำอะไรเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น