xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอด ถ้ายังใช้การตลาดนำหน้าการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สิ่งที่ผมเคยพยากรณ์ไว้ว่ามหาวิทยาลัยไทยน่าจะไปไม่รอดมากกว่าครึ่งในบทความ มหาวิทยาลัยไทยจะอยู่รอดได้หรือไม่? (Link : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000051896) นับวันยิ่งใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อยๆ ภาวะประชากรถดถอยในประเทศไทยกำลังเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว Aged society หรือสังคมผู้สูงอายุเต็มวัย กำลังเข้ามาหาเรา แต่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษากว่า 300 แห่ง ตั้งแต่มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันพลศึกษา วิทยาลัยเกษตร (เดิม) วิทยาลัยนาฏศิลป์ (เดิม) มหาวิทยาลัยเอกชนอีกมากมาย ที่ขายที่ดินสร้างคอนโดมิเนียมไปก็มีแล้ว ที่บีบอาจารย์ลาออกก็มีแล้วครับผม

ตอนนี้อาการหนักกว่าเก่า ลดแลกแจกแถม ไอแพด ไอโฟน มีโปรโมชั่นรับส่วนลดแบบขายตรงถ้ามาเพื่อนมาเรียนด้วยกันได้ มีการแจกจ่ายเป้าหมายให้อาจารย์ไปหานักศึกษามาเรียน

มหาวิทยาลัยของรัฐเอง พอออกนอกระบบ ก็หาเงินแหลก รับนักศึกษาภาคสมทบจำนวนมากกว่าภาคปกติเสียอีก แล้วคุณภาพก็ตกต่ำลงไปเรื่อย ทำแบบนี้ต่อไป ชื่อเสียงที่เคยมีมาก็จะลดหายไปอีก

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยของรัฐในต่างจังหวัดบางแห่ง ไม่มีโอกาสจะคัดเลือกนักศึกษาเลย เพราะต้องการนักศึกษา 600 มีคนสมัครมา 700 เรียนไปตกไป รีไทร์ไป จบมาปีหนึ่ง 500 กว่า แล้วก็ไม่ได้จบในสี่ปี ก็ถูลากกันไป

ตอนนี้ขนาดวิศวกรรมศาสตร์ ยังไม่ต้องแย่งกันเรียนเลย อยากเรียนก็ได้เรียน

แต่ที่แย่ที่สุดคือสายสังคมศาสตร์ ไปไม่รอดเลย มหาวิทยาลัยเอกชนดังๆ ตอนนี้ขาดทุนย่อยยับกับสายสังคมศาสตร์ ด้วยเหตุที่มันต้นทุนต่ำ ใครๆ ก็ทำได้แต่มหาวิทยาลัยเอกชน ที่เปิดสอนแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พวกนี้กลับพออยู่ได้ นักศึกษายังเต็มพอควร ไม่ขาดทุน เลยเอามาถัวกันไปกับที่ขาดทุนสายสังคมศาสตร์ที่จำนวนนักศึกษาร่วงระนาว

หลักสูตร Executive MBA ของมหาวิทยาลัยรัฐเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงระเบิดเถิดเทิงคนแย่งกันเรียนทุกวันนี้เปิดสอนมีนักศึกษาเรียนกันอยู่ 12-13 คน ต่อรุ่น ทำให้ขาดทุนย่อยยับแต่ยังเป็นรายได้หลักของอาจารย์บางกลุ่มอยู่ก็เลยเปิดสอนกันไปชักเงินทุนคณะไปเรื่อยๆ ไม่ถึงจุดคุ้มทุน (break-even point) ด้วยซ้ำไป

อนาคตจะเป็นการศึกษาไทย ถ้ามองแบบมุมมองของธุรกิจ จะกลายเป็นทะเลแดงน้ำเดือด (Red ocean) กว่านี้ และภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยไทย ก็ไม่ได้ต่างกับเซลล์แมนขายปริญญา ถ้ายังจะใช้การตลาดนำการศึกษากันแบบนี้

ย้ำ การใช้ การตลาดนำการศึกษา ไม่ได้ต่างกับเซลล์แมนกะล่อน ไม่ได้ต่างกับแมงดาเรียกแขกเข้ามาใช้บริการ

ไม่ปรับปรุงหลักสูตร เนื้อหา คุณภาพคนสอน ให้มันดีจริง ให้ตรงกับการทำงานจริง ทันสมัย ใช้งานได้จริง ก็จบ ไปไม่รอดแน่นอน ขายของกำมะลอ เหมือน Loman ในอวสานเซลส์แมน ที่เขียนโดย Arthur Miller สุดท้ายก็หมดความน่าเชื่อถือแล้วไปไม่รอดในที่สุด แม้ศักดิ์ศรีก็ไม่มีเหลือ

ใน Red Ocean ผู้ที่จะอยู่รอด ไม่ทำให้ต้นทุนถูกกว่าก็ต้องแตกต่าง ฉีกตลาดออกมา สร้างตลาดใหม่ ออกมาจากตลาดเดิม มาสร้าง Blue Ocean ด้วยนวัตกรรม ด้วยความรู้ใหม่ ด้วยความแตกต่างและสร้างสรรค์จึงจะมีโอกาสจะอยู่รอด

ความรู้ดาดๆ ตอนนี้ เปิด Youtube ก็มีให้เรียนเยอะแยะ กระทั่งความรู้ระดับโลกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็เปิดเข้าไปเรียนได้ฟรีใน Courserra, Khan Academy, MIT open course ware ซึ่งพอ Virtual University พวกนี้มีมากๆ ต่อไป ความรู้ต้องลงไปลึกเป็นระดับ tacit knowledge ที่เป็นทักษะ ความชำนาญ เคล็ดลับฝีมือ ที่สอนกันไม่ได้ง่ายๆ ต้องจับมือทำ ต้องสอนแบบให้ feedback ถึงจะพอขายได้ ไม่เช่นนั้นก็ดูวีดีโอผ่านอินเทอร์เน็ทไม่ต้องเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยให้เสียเวลา ถ้าคนไทยภาษาอังกฤษดีกว่านี้มากเท่าใด มหาวิทยาลัยไทยยิ่งถึงวันอวสานไวมากขึ้นเท่านั้นถ้ายังไม่คิดจะปรับตัว

สาขาวิชาที่มีความเป็นวิชาชีพ มีความเป็นศาสตร์น้อย จะอยู่ลำบากมากขึ้น เพราะมันอ่านเองเรียนเองได้ พอสมควร ไม่ได้ยากมากนัก ส่วนศาสตร์ที่เรียนกันเองได้ยาก มีแนวโน้มจะอยู่รอด แต่ต้องปรับตัว ไม่ใช่สอนกันเหมือนสมัยตัวเองเรียนเมื่อ 30 ปีก่อน และไม่เคยรู้เลยว่าที่ตัวเองสอนจะเอาไปทำงานจริงๆ ได้อย่างไร

คุณภาพอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นปัจจัยสำคัญสุดที่จะทำให้หลักสูตรเป็นที่ต้องการถ้าเราไม่ได้คิดจะขายปริญญา แต่จะขายความรู้ !!!

การตลาดไม่ใช่วิชาเลวร้าย แต่หากไม่พัฒนาคุณภาพให้ดี ใช้แต่การตลาดขายของขายใบปริญญา อุดมศึกษาไทยจะไปไม่รอด และประเทศไทยก็จะไปไม่รอดด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น