xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเจ้าย่านเยาวราชร่วมลดวิกฤต PM2.5 ลดเผาธูป-เผากระดาษ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว.สนับสนุนทีมวิจัยมหาวิทยาลัยศิลปากรสำรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาศาลเจ้าและสิ่งแวดล้อมในชุมชนย่านเยาวราช ชี้ PM2.5 และค่าเสียงเกินมาตรฐาน โดยนำร่องที่วัดเล่งเน่ยยี่ด้วยการลดจำนวนกระถางธูปและกระดาษไหว้เจ้า ด้าน อ.คฑาชี้จีนยุคใหม่ไม่ใช้ธูปเยอะ แนะให้จิตมุ่งที่องค์พระมากกว่าจำนวนธูปกราบไหว้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดกิจกรรมการสำรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาศาลเจ้าและสิ่งแวดล้อมในชุมชนย่านเยาวราช เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ภายใต้โครงการ “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ณ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เพื่อสำรวจค่าฝุ่น PM2.5 และวัดระดับค่าเสียง อันจะนำไปสู่การค้นหารูปแบบการจัดการมลภาวะทางอากาศบนฐานวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ย่านเยาวราช-เจริญกรุง

จากการลงพื้นที่ของคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรนำโดย รศ. ดร.นันทนิตย์ วานิชาชีวะ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้จัดการปกครองและคณะกรรมศาลเจ้าในพื้นที่ และการสำรวจทางกายภาพ พบว่าพื้นที่เยาวราช-เจริญกรุงเป็นแหล่งวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ บนพื้นฐานจากความศรัทธาของชาวไทยเชื้อสายจีนและกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นจุดศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงความเชื่อระหว่างพิธีกรรมตามประเพณีปฏิบัติกับสินค้าและบริการต่างๆ แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาความเจริญและความเป็นเมือง ส่งผลให้บทบาทของศาลเจ้าลดทอนลงพร้อมกับถูกตั้งคำถามจนเกิดข้อร้องเรียนและข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับศาลเจ้า เช่น ปัญหาฝุ่นควันและเศษผงจากการเผาไหม้ของเครื่องกระดาษ นำไปสู่จุดบั่นทอนความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการสร้างการดำรงอยู่และการดำเนินงานของศาลเจ้า

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง เผยว่าของไหว้ต่างๆ และควันธูปทำให้ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้ไหว้อาจจะต้องลดจำนวนการจุดธูปเพื่อช่วยกันรักษาคุณภาพอากาศ โดยการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองพบว่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากอยู่ในวัดนานๆ ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น ทุกคนควรตื่นตัวในการแก้ปัญหา ตระหนักรู้และร่วมกันรณรงค์ว่าจะไหว้เจ้าอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังตรวจวัดระดับเสียงตามชุมชน วัดต่างๆ และริมถนนย่านเยาวราช พบว่า มีค่าเฉลี่ยประมาณ 80-90 เดซิเบล โดยแหล่งกำเนิดเสียงสำคัญคือ ไมโครโฟนและยานพาหนะ ขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 70 เดซิเบล ผลกระทบในเบื้องต้นก่อให้เกิดความรำคาญและอาจทำให้หูอื้อ สูญเสียการได้ยินชั่วคราว แต่ถ้าได้ยินเสียงดังติดต่อกันนานๆ อาจหูตึง การได้ยินเสื่อมลง ซึ่งเป็นผลกระทบของเมืองที่สำคัญ ทั้งนี้ หลังตรุษจีนจะวัดค่าเสียงและฝุ่นอีกครั้ง เพื่อเปรียบเทียบค่าความแตกต่างที่ได้ระหว่างช่วงที่มีกิจกรรรมกับช่วงสถานการณ์ปกติ

ด้าน อ.คฑา ชินบัญชร ซึ่งมาร่วมพิธีไหว้เจ้าเนื่องในเทศกาลตรุษจีน กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจมากว่าจีนใหม่ไม่ใช้ธูปเยอะ โดยยกตัวอย่างวัดและศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงในไทเปใช้ธูป 1 ดอกเท่านั้น ถ้าอยากทำบุญ เทียนก็จุดเพียง 1 คู่ แต่คนไทยยังมีความเชื่อเรื่องความหมายตามจำนวนการจุดธูป ปัจจุบันถ้าเราคิดว่าธูปเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ ความสำคัญคือจิตของเราต้องมุ่งถึงองค์พระหรือองค์เทวะ ไม่ใช่จำนวนธูปว่ามีกี่ดอก ที่สำคัญหากสำลักควันธูปก็คงไม่มีสมาธิในการกราบไหว้ขอพร ที่ใดๆ ในโลกมีแต่โลกร้อนและค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จึงต้องมองว่าการที่เราใช้จิตและปฏิบัติในเรื่องของจิตใจที่ดีงาม เข้าถึงคุณธรรมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะประสบความสำเร็จ ถ้าอยากลดโลกร้อนก็ต้องลดจำนวนธูปและเครื่องกระดาษในการสักการะ

พระธวัชชัย แก้วสิงห์ ดร.ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ระบุว่าตั้งแต่ก่อนมีวิกฤต PM2.5 ทางวัดได้สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในการปรับเปลี่ยนลดจำนวนกระถางธูปและเตาเผากระดาษ เพราะตระหนักถึงสุขภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่น่ากลัว โดยคณะกรรมการวัดและเจ้าอาวาสได้กำชับให้ลดการเผาของสักการะในช่วงเทศกาล ปัจจุบันเหลือกระถางธูป 5 กระถาง จากเดิม 10 กระถาง มีคนคอยเก็บธูปตลอด และให้ตั้งอยู่บริเวณด้านนอก เนื่องจากในบริเวณวัดแออัด รวมถึงการประกาศประชาสัมพันธ์และติดป้ายแจ้งนักท่องเที่ยวเป็นภาษาจีนติดตามเสาด้วย นอกจากนี้ยังติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเท ในอนาคตอาจจะลดจำนวนกระถางธูปและกระดาษให้เหลือน้อยที่สุด ก่อนนี้ทางวัดได้รวบรวมนำกระดาษไปเผาทิ้งในบริเวณชานเมืองกลางแจ้ง แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ห้ามทำเช่นนั้น ทางวัดก็ตระหนักถึงเรื่องนี้และจะหากระบวนการปรับเปลี่ยนเพื่อลด PM2.5 ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย โดยวัดและสำนักงานเขตจะร่วมกันปรับเปลี่ยนวิธีการให้ไวที่สุด อาจจะไม่จุดธูปเลย หรือจุดธูปไร้ควัน หรือจุดเพียงกระถางเดียว

ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์ นักวิจัยจากคณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า กรณีปัญหาฝุ่นควันและเศษผงในการเผาไหม้ของเครื่องกระดาษในการสักการะบูชาที่มีศาลเจ้าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง ถูกตอกย้ำจากสภาพปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ทำให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ต่างมีนโยบายและมาตรการส่งตรงมายังศาลเจ้าในพื้นที่ ทั้งการขอความร่วมมือและการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ลดการใช้ธูป การเผาเครื่องกระดาษ และการประกอบพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละออง ส่งผลให้ศาลเจ้าหลายแห่งต้องสร้างระบบการจัดการต่อนโยบายซึ่งส่งตรงมาจากรัฐ

“ประเพณีวัฒนธรรมเราคงห้ามไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราจึงต้องร่วมกันแสวงหารูปแบบการจัดการแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ คณะวิจัยจะทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การจัดการศาลเจ้าอื่นๆ ของประเทศ รัฐจะต้องสร้างพื้นที่สำหรับการเผาที่สมบูรณ์ และจัดการกับวัตถุดิบที่ประกอบพิธีกรรมให้ไร้มลพิษอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีวัดมังกรกมลาวาสเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการเริ่มจัดการปัญหา เพราะเป็นผู้นำทางความคิดทางวัฒนธรรมจีน และจะหารือกับเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าธูปไทยสร้างมลพิษมากกว่าธูปจีน เพราะทำจากไม้ไผ่เมื่อเผาจะมีควันจำนวนมากและย่อยเป็นผุยผง ส่วนธูปจีนทำจากไม้กำยาน มีการเผาไหม้เต็มที่และรวดเร็ว”







อ.คฑา ชินบัญชร เผาจีนยุคใหม่เผาธูป เผากระดาษน้อยลง

ผศ.ดร.รัฐพล อ้นแฉ่ง



ความดังของเสียง

ดร.วุฒิชัย อารักษ์โพชฌงค์


กำลังโหลดความคิดเห็น