xs
xsm
sm
md
lg

ไอเดียกรีน! “ใช้ขยะดักขยะ” กลุ่มรักษ์เลไทย นำอวนเก่าชาวประมงทำเป็นข่ายสกัดขยะตกทะเล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นำอวนเก่าของชาวประมง มารีไซเคิลเป็นข่ายดักขยะ
เมื่อไม่นานนี้ กลุ่มรักษ์เลไทย” ร่วมกันจัดการขยะบริเวณปากแม่น้ำที่จะไหลลงสู่ทะเลพัทยา จ. ชลบุรี ถือว่าเป็นแนวทางเปลี่ยนเราเปลี่ยนโลก ด้วยการลงมือทำจริงด้วยยุทธวิธีแบบบ้านๆ ศึกษาจากภูมิปัญญาชาวเลที่น้องๆ ในกลุ่มนี้เรียกกันว่า “ใช้ขยะดักขยะ”


นำโดย ‘อมรา วิจิตรหงษ์’ อดีตนักวินเซิร์ฟแชมป์โลกชาวไทย เธอเป็นนักกีฬาไทยอีกคนหนึ่งที่ก้าวเข้ามาสู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่จุดประกายให้เกิดกิจกรรมเก็บขยะบนชายหาด หลังจากที่เธอสังเกตเห็นว่าพบขยะจำนวนมากกระจายอยู่ตามชายหาด และลงมือเก็บขยะด้วยตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง


“ภูมิทัศน์ชายหาดที่มีขยะไม่น่ามอง พอน้ำทะเลขึ้น ก็หอบเอาขยะต่างๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่แทบไม่ย่อยสลายกลับลงทะเลไปอีก หลายคนก็รู้ดีว่าขยะพลาสติกอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเต่าทะเล”

อมรา วิจิตรหงษ์ ขณะอธิบายให้เยาวชนกลุ่มรักษ์เลไทย



อมรา วิจิตรหงษ์
อมรา กล่าวว่ากิจกรรมจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “กลุ่มรักษ์เลไทย” ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตระหนักและเข้าใจว่าขยะทะเล อันตรายอย่างไรต่อระบบนิเวศ และย้อนมาทำอันตรายแก่มนุษย์ แต่สิ่งที่จะช่วยได้คือการสกัดขยะตั้งแต่ต้นทาง คือ ขยะบนบก เราทุกคนควรทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง ลงถังขยะ หากปล่อยให้ขยะบนบกตกสู่ทะเลแล้วจะเก็บลำบาก แถมสิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดเก็บ


กิจกรรมนี้คาดหวังจะกระตุ้นเยาวชนไทยหันมาใส่ใจดูแล “ขยะทะเล” และเห็นว่าอวนเก่าของชาวประมงที่ไม่ใช้และปล่อยทิ้งเป็นขยะ ยังสามารถรีไซเคิลโดยนำมาประดิษฐ์ใหม่ให้เป็นข่ายดักขยะก่อนไหลลงสู่ทะเลได้ เพียงนำอุปกรณ์อย่างเชือกไนลอน อิฐ ก้อนหินมาประกอบใหม่ให้เป็นข่ายดักขยะตามลำน้ำก่อนไหลสู่ทะเล”

อดีตแชมป์โลกนักวินเซิร์ฟ ย้ำอีกว่า “ขยะบางส่วนไม่ได้มาจากที่ชายหาดแห่งนี้แต่มาตามกระแสน้ำ จึงทำให้เราไม่สามารถมาเก็บขยะได้ทุกวันเนื่องจากมีปริมาณขยะมาก ในขณะที่พี่กำลังเล่นวินเซิร์ฟ ก็ได้เห็นปลาตาย เต่าตาย โลมาตายเป็นร้อย จากขยะและของเสียที่ปล่อยลงสู่ท้องทะเล แล้วหลังจากนี้ลูกหลานของพวกเราจะอยู่อย่างไร พวกเราต้องเริ่มลงมือทำแม้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ การเก็บขยะที่พวกเราทำไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยตรง การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือพวกเราต้องลดปริมาณการใช้ เพื่อให้เกิดขยะให้น้อยที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัญหาอย่างแท้จริง ไม่อย่างงั้นเราจะเก็บขยะเท่าไรก็ไม่มีวันหมดอย่างแน่นอน”




กำลังโหลดความคิดเห็น