xs
xsm
sm
md
lg

7 แนวทางรับมือของผู้ลงทุนต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ไม่เฉพาะในมิติสุขภาพโลก แต่ยังส่งผลทั้งในมิติชุมชน มิติเศรษฐกิจ และมิติการลงทุน


ภายใต้หลักการดูแลรักษาทุนในระยะยาว ผู้ลงทุนสามารถและควรลงมือช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ทั้งผลทางตรงด้านสาธารณสุข ความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) และความไม่เสมอภาคทางสังคมที่ยิ่งถลำลึก รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตที่มีสาเหตุจากผลกระทบดังกล่าว


วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและผู้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดรูปแบบของการถือครอง กลยุทธ์ที่ใช้ หรือบทบาทที่ดำรงอยู่ในห่วงโซ่การลงทุน การรับมือกับวิกฤตจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของบูรณภาพทั้งระบบ และผลตอบแทนทั้งมวลในระยะยาว มากกว่าการให้ความสำคัญกับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปเกี่ยวข้อง



การไหลออกของเงินลงทุนในช่วงสถานการณ์ อาจมีผลทำให้ผู้ลงทุนสถาบันที่จัดการแทนเจ้าของทรัพย์สิน (Asset Owners) และผู้ให้บริการจัดการเงินลงทุน (Asset Managers) ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านสภาพคล่อง รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากการไหลออกของเงินลงทุนและการตกต่ำของมูลค่าตลาดโดยรวม


กระนั้นก็ตาม ผู้ลงทุนสถาบันที่ยึดหลักของการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investment) สามารถและพึงใช้บทบาทของตนที่มีต่อบริษัทและรัฐบาล ผ่านกระบวนการตัดสินใจลงทุน สนับสนุนบริษัทในวิถียั่งยืนให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ภายใต้การคำนึงถึงประโยชน์ด้านสาธารณสุข และสมรรถนะด้านเศรษฐกิจในระยะยาว แม้จะต้องถูกจำกัดผลตอบแทนในระยะสั้นก็ตาม


หน่วยงาน PRI ซึ่งเป็นผู้จัดทำและเผยแพร่หลักการลงทุนที่รับผิดชอบในการสนับสนุนของสหประชาชาติ (United Nations-supported Principles for Responsible Investment: PRI) ได้จัดตั้งกลุ่มการร่วมทำงานระดับภาคี (Signatory Participation Group) เพื่อประสานงานและพัฒนาแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการรับมือสถานการณ์ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ในระยะสั้น และกลุ่มการปรับวางระบบด้วยการให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน


ในกลุ่มแรก เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เป็นภยันตราย ด้านวิกฤตสาธารณสุข การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และประเด็นด้านสุขภาพจิต


ในกลุ่มที่สอง เป็นการจัดทำแนวทางที่ผู้ลงทุนควรลงมือดำเนินการโดยทันที เพื่อช่วยเสริมสร้างระบบการเงินอนาคตที่พร้อมรับภัยคุกคามทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG และให้ลำดับความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในเชิงบวก

กรอบการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19
สำหรับแนวทางการรับมือของผู้ลงทุนสถาบันต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Investor Response Guidance on COVID-19 ที่สถาบันไทยพัฒน์จัดทำขึ้น ประกอบด้วย 7 แนวทาง ดังนี้

แนวทางที่ 1: สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น
ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ และบริษัทซึ่งยังคงให้ลำดับความสำคัญที่ค่าตอบแทนผู้บริหาร และ/หรือผลตอบแทนระยะสั้นแก่ผู้ถือหุ้น


วิธีที่บริษัทใช้ในการจัดการวิกฤตโควิด จะส่งผลไม่เพียงแต่มูลค่าและงบการเงินของกิจการ บริษัทที่จำกัดสิทธิลาป่วย (โดยได้รับค่าจ้าง) อย่างไม่เป็นธรรม ปลดพนักงานก่อนเหตุจำเป็นหรือทั้งที่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือจากรัฐ หรือไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย กำลังก่อความเสียหายโดยตรงและทันทีต่อบุคลากร ต่อเศรษฐกิจ และต่อผู้ลงทุน รวมถึงทำให้ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนิ่นช้าลงในท้ายที่สุด ส่วนบริษัทที่ให้ลำดับความสำคัญต่อการจัดการทุนด้านมนุษย์ จะช่วยหลีกเลี่ยงความเสียหายมิให้ขยายวงเพิ่มเติมและเสริมหนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น


ยังไม่ถึงขวบปีที่ภาคธุรกิจ (โดยกลุ่ม Business Roundtable) ได้มีการประกาศครั้งใหญ่ที่จะผละจากความสำคัญที่มีต่อผู้ถือหุ้นเป็นลำดับแรก วิกฤตครั้งนี้ถือโอกาสเฉพาะสำหรับบริษัทในการเร่งลงมือปรับบทบาทที่มีต่อพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และชุมชน ให้มีลำดับความสำคัญเหนือความต้องการระยะสั้นของผู้ถือหุ้น
เอกสารใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UNGC) จะช่วยให้ผู้ลงทุนทราบแนวทางปฏิบัติที่ดีของกิจการในการรับมือกับวิกฤตโควิด ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรใช้ข้อมูลจากการรายงานของสื่อ แหล่งข้อมูลจากภาคประชาสังคม และผู้ให้บริการข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เน้นเปิดเผยข้อพิพาท / ข้อเล่าลือที่เกิดขึ้น เพื่อระบุถึงวิธีปฏิบัติที่ต่ำเกณฑ์ และยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้องผ่านการสานสัมพันธ์ ถ้อยแถลงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี หรือการแสดงออกเชิงรุกด้วยการออกเสียงค้านคณะกรรมการบริษัท การออกเสียงไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจง หรือเรียกให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในกรณีร้ายแรง เป็นต้น แต่หากเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี ก็ควรได้รับคำชมเชย อาทิ บริษัทที่ปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิม มาผลิตสิ่งที่จำเป็นในช่วงสถานการณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจทางการแพทย์ อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ ฯลฯ


ผู้ลงทุนควรผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว มากกว่าโบนัสของฝ่ายบริหาร การซื้อ(หุ้น)คืน และเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้น

Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงาน และ/หรือดูแลความมั่นคงทางการเงินของกิจการ•ใช้ข้อมูล ESG จากแหล่งภายนอกที่น่าเชื่อถือ เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทซึ่งมีวิธีปฏิบัติที่ต่ำกว่าเกณฑ์•ผลักดันให้มีการจัดการด้านการเงินที่รับผิดชอบ ซึ่งเอื้อให้บริษัทดำเนินการจัดลำดับความสำคัญกับพนักงาน ผู้รับจ้าง ผู้ส่งมอบ และสุขภาวะของบริษัทในระยะยาว

แนวทางที่ 2: สานสัมพันธ์ในจุดที่ภัยอื่นถูกปกปิด ทิ้งไว้เบื้องหลัง หรือทำให้เลวร้ายลงด้วยวิกฤตที่เกิดขึ้น
ผู้ลงทุนควรสานสัมพันธ์กับบริษัทและรัฐบาลที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือในจุดที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอุปทานและอุปสงค์ และห่วงโซ่อุปทาน ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น


ผู้ลงทุนควรจับตาดูกรณีที่บริษัทและรัฐบาลฉวยโอกาสในการตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ในช่วงสถานการณ์ที่สาธารณชนและสื่อกำลังให้ความสนใจกับการรับมือโรคโควิด 19


ผู้ลงทุนควรประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น อาทิ ความต้องการเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการทำลายป่าที่เกี่ยวโยงกับสายอุปทานถั่วเหลือง ปศุสัตว์ และน้ำมันปาล์ม หรือการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าที่ส่งถึงบ้าน (กับประเด็นข้อกังวัลด้านความปลอดภัยต่อการปนเปื้อนเชื้อโควิดในระหว่างทาง) ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ทำให้การทำงานในคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการส่งพัสดุ มีสภาพเลวร้ายลงกว่าเดิม



ข้อมูลที่เปิดเผยจากบริษัท รายงานจากสื่อ และจากผู้ให้บริการข้อมูล ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เน้นเปิดเผยข้อพิพาท / ข้อเล่าลือที่เกิดขึ้น สามารถใช้เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมและยกขึ้นเป็นข้อกังวลได้


Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• สานสัมพันธ์กับบริษัทที่ใช้การปิดบังวิกฤตเพื่อเลี่ยงการถูกตรวจสอบ หรือฉวยโอกาสตัดสินใจหรือประกาศในเรื่องที่โดยปกติต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ•ประเมินความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบอุปสงค์-อุปทานที่ไปเพิ่มความเสี่ยงในประเด็นด้านอื่นให้รุนแรงขึ้น เพื่อยกเป็นข้อกังวลไปยังบริษัทที่ลงทุนซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
แนวทางที่ 3: ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์ในประเด็นอื่น
ผู้ลงทุนควรปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทที่อยู่ในระหว่างการจัดการวิกฤตโดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 มากกว่าประเด็นอื่นในช่วงสถานการณ์


การหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบควรมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 และการรับมือกับสถานการณ์ การอภิปรายในประเด็นอื่นๆ ควรเลื่อนออกไปตามที่เป็นไปได้ เพื่อเอื้อให้คณะกรรมการและฝ่ายจัดการ มีความสามารถที่จะเน้นเรื่องการจัดการวิกฤตเป็นสำคัญ
แม้เป็นการสานสัมพันธ์ในเรื่องโควิด 19 โดยที่มิได้มีหลักฐานแสดงว่าบริษัทมีพฤติกรรมขาดความรับผิดชอบ ผู้ลงทุนควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะให้เวลาและให้โอกาสบริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการให้ก้าวผ่านวิกฤติ

Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• ปรับลำดับความสำคัญของการสานสัมพันธ์กับบริษัทในช่วงสถานการณ์ โดยเน้นที่ประเด็นโควิด 19 เหนือประเด็นอื่นในระหว่างการจัดการวิกฤต•ปรึกษาหารือกับบริษัทและสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ต่อแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ความสามารถที่จะจัดการตามแนวทางของกิจการ

แนวทางที่ 4: สนันสนุนอย่างเปิดเผยต่อการรับมือทางเศรษฐกิจโดยรวม
ผู้ลงทุนควรใช้เสียงในฐานะมหาชน ผลักดันรัฐบาลและบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม
ด้วยเสียงอันเป็นที่ยอมรับในภาคการเงิน ผู้ลงทุนควรแสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐในระดับที่จำเป็นต่อการทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสมในด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจโลก
การส่งสัญญาณประชาคม สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารความคาดหวังไปยังบริษัทที่ลงทุน (Investees) โดยไม่ทำให้เกิดการหันเหการใช้ทรัพยากรของบริษัทไปจากการจัดการวิกฤต
ผู้ลงทุนสามารถแสดงทัศนะผ่านทางเว็บไซต์ ถ้อยแถลงผ่านสื่อ และในการประชุมสามัญประจำปี เป็นต้น


Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• แสดงการสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อความช่วยเหลือของรัฐที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและเหมาะสม•ใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น ผลักดันบริษัทให้ลงมือดำเนินการเพื่อส่วนรวมอย่างเหมาะสม โดยที่ไม่กระทบต่อการใช้ทรัพยากรของบริษัทสำหรับการจัดการวิกฤต
แนวทางที่ 5: มีส่วนร่วมในการประชุมสามัญประจำปีเสมือนจริง (Virtual AGMs)
ผู้ลงทุนควรใช้ช่องทางเสมือนจริงในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแลบริษัทที่ลงทุน (Investees) ได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง


การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meetings: AGMs) เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ลงทุนในการซักถาม และเน้นการสนับสนุนต่อเรื่องการจัดการทุนด้านมนุษย์ที่รับผิดชอบ การให้ลำดับความสำคัญในการจัดการทางการเงินระยะยาวเหนือการจ่ายปันผลและการซื้อ(หุ้น)คืน การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการในการจัดการวิกฤตและการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ รวมทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ลงทุนในการเน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่นอกเหนือจากเรื่องโควิด 19 ซึ่งบริษัทมิอาจเพิกเฉย อาทิ ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency)


ขณะที่การใช้ช่องทางการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีออนไลน์ได้ถูกหยิบยกเป็นข้อกังวลด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance) มาก่อนหน้านี้ แต่ในสภาพการณ์ปัจจุบัน ผู้ลงทุนพึงใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวทดแทนการประชุมแบบซึ่งหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าการควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนยังคงดำเนินต่อไปอย่างเหมาะสม


Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• ใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์ในการเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เพื่อควบคุมดูแล (Oversight) บริษัทที่ลงทุนได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง•เน้นย้ำประเด็นความสำคัญที่บริษัทมิอาจเพิกเฉย นอกเหนือจากเรื่องโควิด 19 ทั้งประเด็นความไม่เสมอภาคที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ

แนวทางที่ 6: พร้อมรับคำขอความช่วยเหลือต่อการสนับสนุนทางการเงิน
ผู้ลงทุนควรเปิดช่องให้การสนับสนุนบริษัท ลูกหนี้ และรัฐบาล ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และด้วยการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้


เนื่องจากบริษัทได้รับแรงกดดันทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะมีสินทรัพย์ที่ลงทุนประเภทใด อาจได้รับการร้องขอให้ช่วยในเรื่องการผ่อนปรนหนี้หรือข้อผูกพันทางการเงินจากเงื่อนไขปกติ ซึ่งตามธรรมดา จะมีการพิจารณาเป็นรายกรณีไป แต่ถ้าหากทำได้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้การช่วยเหลือผ่อนผันให้มากเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมอย่างสอดประสานกัน
ผู้ลงทุนที่มีโอกาสสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ ควรที่จะเข้าร่วมโดยไม่รีรอ

Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• ให้การสนับสนุนบริษัท และลูกหนี้ ด้วยการให้ความยืดหยุ่นในข้อตกลงทางการเงิน และการให้การสนับสนุนทางตรงเพิ่มเติม หากเป็นไปได้•เข้าร่วมสนับสนุนรัฐบาลในการให้ทุนสำหรับรับมือกับสถานการณ์ตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อช่วยสอดประสานให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว

แนวทางที่ 7: คงจุดเน้นที่มุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน
ผู้ลงทุนควรปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน
ผู้ลงทุนควรทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่ากิจกรรมการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว รวมทั้งคำนึงถึงข้อกังวลเกี่ยวกับผลที่อาจเกิดขึ้นจากการขายชอร์ต (Short Selling) หรือการยืมหลักทรัพย์มาเพื่อขายทำกำไรในภาวะตลาดขาลง ที่ทำให้สถานการณ์ทรุดหนักยิ่งขึ้น

Checklist - สิ่งที่ควรดำเนินการ• ปรับมุมมองระยะยาวในการดูแลการลงทุน (Stewardship) ให้อยู่ในแนวเดียวกับมุมมองระยะยาวในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน•ทบทวนสถานะและการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งที่กระทำผ่านผู้จัดการลงทุนภายนอก เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนได้ถูกปรับให้ตอบโจทย์ความจำเป็นทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว