xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสโคโรนาลามทั่วโลก ยิ่งต้องมี CSR และ ESG/ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ขณะนี้ธุรกิจการค้าหลายวงการกำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหม่ ที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) จนการค้าการลงทุนซบเซาหนัก แล้วยังต้องมาสนใจเรื่อง CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร?
นี่อาจเป็นคำถามล่าสุดหลังจากโดนปัญหากระแทกรุนแรงหลายระลอก จนต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาวะความผันผวนและไม่แน่นอนทางการค้าและการลงทุนที่ถดถอย เพราะสังคมที่เกี่ยวข้องขาดความเชื่อมั่น ผู้คนจึงพากันหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่รู้สึกเสี่ยงภัย และหาทางป้องกันตัวเองไว้ก่อน
การตกต่ำต่อเนื่องของราคาหุ้นทั่วโลก เพราะนักลงทุนไม่มั่นใจว่าราคาหุ้นที่ตกลงแล้ว ยังมีวันลดต่ำยิ่งกว่าอีก หรือที่ผู้คนพยายามเลี่ยงการไปอยู่ในที่มีคนคับคั่งหรือสุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์การค้า การท่องเที่ยว แม้แต่งานประชุม งานแสดงสินค้าที่จัดประจำหลายงานก็ยังประกาศเลื่อนการจัดออกไปจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย
ทางออกจึงอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่น โดยมีมาตรการและวิธีการเอาจริงเพื่อตอบโจทย์ให้คนมั่นใจได้ว่า “ปลอดภัย”


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคดิจิทัล การสืบค้นเข้าถึงข้อมูลทำได้สะดวกจนไม่มีอะไรปิดลับได้ การยืนยันว่าเป็นองค์กรที่บริหารกิจการได้อย่างน่าเชื่อถือ ก็ต้องทำธุรกิจอย่างมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ไม่ใช่มุ่งฉวยโอกาสทำกำไรสูงสุด แต่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ดีใน 3 มิติ หรือ ESG ซึ่งเป็นแนวทางไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
เพราะกระแสสังคมโลกและนักลงทุนยุคปัจจุบัน ต้องการลดความเสี่ยงด้านต่างๆ จึงมีแนวโน้มการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม ได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสังคมโดยรวม ที่ต้องสร้างคุณค่าร่วมและมุ่งสู่ความยั่งยืน
การประกอบธุรกิจยุคใหม่ จึงมิใช่มุ่งสร้างผลประโยชน์เพื่อผู้ถือหุ้น (Shareholder) เท่านั้น
ดังนั้น องค์กรที่ตระหนักในการสร้างคุณค่า 3 มิติ หรือ ESG ได้แก่ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม คือ E (Environmental) รับผิดชอบต่อสังคม คือ S (Social หรือ Stakeholder) และยึดหลักธรรมาภิบาล คือ G (Governance)
การมีธรรมาภิบาล คือ บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยปกป้องความเสี่ยงจากการทำผิดกฎหมายและไม่ถูกต่อต้าน
จึงสอดคล้องกับเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้แถลงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2563
การให้ความสำคัญกับ “ผู้มีส่วนได้เสีย” จึงกลายเป็นแนวคิด “Stakeholder Capitalism” หรือทุนนิยมเพื่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มในระบบเศรษฐกิจ จึงเป็น “ทุนนิยมสร้างสรรค์” ที่ผสานประโยชน์ที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียให้ดีที่สุด และในทิศทางที่ส่งเสริมความเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทในระยะยาวได้
แนวคิดดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยผู้นำองค์กรที่มีภาวะผู้ประกอบการที่มุ่งความยั่งยืน (Sustainapreneurship) ที่ขับเคลื่อนด้วนแนวทาง ESG มุ่งสู่ผลลัพธ์จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Impact)

6 ทิศทาง CSR ปี 2563 ที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้วิเคราะห์แนวโน้มไว้มีดังนี้ :
1.การพัฒนาบทบาทพนักงานที่เป็นมากกว่า “ทรัพยากร” (Resources) แต่เป็น “ทุน” (Capital) ของกิจการ
จะมีการสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสมแก่พนักงานในหลายรูปแบบ มีแนวทางพัฒนาบทบาทของพนักงานที่ไม่จำกัดเพียงแค่สถานะลูกจ้างหรือผู้บริหาร แต่สามารถเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ประกอบการในสังกัดของกิจการ (Intrapreneur) ที่ช่วยให้องค์กรเติบโตจากภายใน แต่มีความยืดหยุ่นเหมือนทำงานอยู่ภายนอกองค์กร ทั้งนี้ กิจการเป็นผู้ลงทุนและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้กับพนักงานที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการในสังกัด

2.การส่งมอบคุณค่าร่วมจาก “กระบวนการธุรกิจ” ในรูปแบบ (CSR-in-process) มาสู่ “ตัวผลิตภัณฑ์” ในรูปแบบ CSR-in-product
จะมีการพิจารณาแนวทางการส่งมอบคุณค่าร่วมในรูปแบบ CSR-in-product หรือการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในตัวผลิตภัณฑ์ ที่มาจากการปรับแกนหลักของธุรกิจ (Core Business) ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีความเป็นมิตรต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ ที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของกิจการในระยะยาว

3.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเป็นธรรมและมีจริยธรรม
ในทศวรรษ 2020 ขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ จะไม่ได้วัดกันที่ความสำเร็จขององค์กร แต่เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่เกิดจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกิจการในทิศทางที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายขององค์กร

4.การสนับสนุนและพัฒนาชุมชน จากรูปแบบ CSR-after-process มาสู่ CSR-in-process
การนำกระบวนการหรือกิจกรรมทางธุรกิจมาใช้สนับสนุนและพัฒนาชุมชน จะกลายเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นด้วยการมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบผลงาน ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และในแง่ของการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในชุมชน ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
5.การให้คุณค่ากับผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้าน ESG ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลก
เป็นที่คาดหมายว่า บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะมีการวิจัยข้อมูลและการจัดทำบทวิเคราะห์บริษัทในประเด็นด้าน ESG รวมทั้งการแนะนำหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่ไม่น้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป และการลงทุนนั้นยังช่วยเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกในทางที่ดีขึ้นด้วย

6.การทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาที่ยั่งยืน
กิจการที่ต้องการความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องแสวงหากระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่กิจการมีแหล่งดำเนินงานหรือสถานประกอบการตั้งอยู่ ในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 17 ในแง่ของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership for Sustainable Development)

ข้อคิด....
ไม่ว่าผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจนธุรกิจการค้าและตลาดหุ้นไทยจะถดถอย ซบเซาขั้นวิกฤตขนาดไหน แต่โอกาสสำหรับองค์กรใฝ่ดีและมีการปรับตัวบริหารความเสี่ยงได้ยังไปได้
แอนดี้ โกรฟ อดีต CEO บริษัทอินเทล “บิดาแห่งแนวคิด OKRs” เคยกล่าวไว้ว่า
“ในภาวะวิกฤติ...กิจการแย่ๆ จะถูกทำลาย กิจการดีๆ จะอยู่รอด
แต่กิจการที่ยอดเยี่ยม จะใช้สถานการณ์วิกฤตินั้น พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม”
ถ้าเลือกจะเป็นกิจการที่อยู่รอดและยอดเยี่ยม หากผู้นำองค์กรมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และมีจุดมุ่งหมายในการสร้างคุณค่าต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ก็จะนำพาองค์กรไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้
ด้วยค่านิยมและจุดยืนแบบ “ทุนนิยมสร้างสรรค์” ดังกล่าว บทบาทองค์กรท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ย่อมได้รับความเชื่อถือในกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงได้ และชื่นชมในความเอื้อเฟื้อเอาใจใส่ต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม
suwatmgr@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น