สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำเอกสารแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ “Business Response Guidance on COVID-19” เผยแพร่ให้องค์กรธุรกิจ นำไปใช้เป็นแนวในการดำเนินการเชิงรุก เพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และรักษาไว้ซึ่งคุณค่าขององค์กรในระยะยาว
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) ทำให้ทุกภาคส่วน จำเป็นต้องมีมาตรการในการรับมือกับการระบาด เพื่อความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งลดผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ กับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง เผยว่า “สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ครั้งนี้ มีความรุนแรงและยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ องค์กรในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้ดูแลกิจการของตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ และดูแลผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด เราจึงได้จัดทำแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับเป็นแนวทางให้องค์กรได้นำไปใช้ดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของกิจการในช่วงสถานการณ์”
ด้าน วรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า “เอกสาร Business Response Guidance on COVID-19 สำหรับองค์กร ฉบับนี้ ประกอบด้วย 6 แนวทางการดำเนินงานซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และผู้ถือหุ้น ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน และใช้สื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์ วิทยากรสถาบันไทยพัฒน์ เสริมว่า “ในเอกสารแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ฉบับดังกล่าว ยังมี Checklist สิ่งที่ควรดำเนินการต่อผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 15 รายการ ที่จะช่วยให้องค์กรนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างสะดวก ช่วยให้การสื่อสารระหว่างทีมงานที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจน เข้าใจง่าย และยังสามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดความก้าวหน้าของการดำเนินงาน ที่ให้ผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง”
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจ ดาวน์โหลดเอกสารแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 “Business Response Guidance on COVID-19” (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org