xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ไหวแล้ว!! “ศศิน”เสนอรัฐ ขอ“มือดี”จัดการวิกฤตฝุ่น “ดร.ธรณ์”แนะสารพัดทางแก้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ หรือ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงหลายวันมานี้ ทำให้คนกรุงเทพฯ มีปฎิกริยาและถามถึงการจัดการแก้ปัญหาของภาครัฐ ล่าสุดในวันนี้ (21 มกราคม 2563) “ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่น โพสต์แรก กล่าวว่า


สิ่งที่ชัดเจนในท่ามกลางสลัวฝุ่น
1. ผู้นำประเทศไม่มีจิตวิทยาในการบริหารจัดการภาวะวิกฤติ และวิกฤติศรัทธา ทั้งในแง่ทักษะการบริหาร และการสื่อสาร ที่สำคัญคือความจริงใจในเรื่องความห่วงใยประชาชน

2. การบริหารจัดการวิกฤติ ต้องใช้ "มือดี" เพื่อบรรเทาปัญหา หรือ อย่างน้อยที่สุด ทำให้มีความหวังบ้าง
ต้องดูไล่ลงมา มือดีต้องมีความรู้ กล้าตัดสินใจ มีทีมงาน และทุ่มเท
มือดีที่ว่า เป็นใคร

2.1 รองนายกที่ดูเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะต้องบูรณาการหลายกระทรวง วันนี้เรามีใครทำหน้าที่นั้น

2.2 รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเหมือนหนูถีบจักรประสานทุกฝ่ายให้สำเร็จ จาก รองนายกข้อ 2.1

2.3 รัฐมนตรีคมนาคมที่สามารถจัดการเรื่องรถควันดำ จำกัดรถบางประเภท และชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้า

2.4 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรที่สามารถจัดการเรื่องอ้อย

2.5 รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องจัดการเรื่องโรงงานอ้อย

2.6 รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ต้องตระหนักถึงวิกฤติการณ์ต่อสุขภาพคน

2.7 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่ต้องพัฒนาระบบข้อมูลและชงมาตรการที่ชัดเจน เร่งด่วน มีความหวัง

2.8 ผู้ว่า กทม. และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องวิ่งทำทุกอย่างที่ลดปัญหาและตัดสินใจเฉพาะหน้าโดยใช้ พรบ.สาธารณสุข เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ

พอคิดและลิสต์มาทั้งหมดในหัวข้อ 2 ก็ต้องย้อนไปดู ข้อ 1


โพสต์ที่สอง กล่าวว่า

อยากให้ทำ

1. กรุงเทพและปริมณฑลประกาศภาวะอันตรายต่อสุขภาพหยุดโรงเรียนก่อนสองสัปดาห์

2. ตั้งรองนายกฯคนใหม่ ที่รู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ให้ทำหน้าที่รักษาการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งวอร์รูมเพื่อบรรเทาปัญหา ทำงานทุ่มเทให้เราเห็น

3. หยุดการก่อสร้างที่ทำให้รถติดและมีรถบรรทุกเข้ามาในเมืองสองอาทิตย์

4. พื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูงต้องประกาศงดเข้าไปเพราะอันตราย ใครอยู่แถวนั้นขอความร่วมมืองดออกจากบ้าน

5. ทุกอำเภอที่มีการเผาอ้อย ให้ประกาศเขตพื้นที่เหตุเดือดร้อนรำคาญตาม พรบ.สาธารณสุข ให้ผู้ว่าทุกจังหวัดดำเนินการจัดการบรรเทาปัญหา

6. เปลี่ยนอธิบดีบางกรม เอามือทำงานตัวจริงมาใช้งานเรื่องกำหนดมาตรการต่างๆ ให้ปฏิบัติได้ตามกฎหมาย

7.หามือดีมาสื่อสารกับประชาชนว่าทำอะไรไปได้ผลอย่างไร

พ้นจากช่วงอากาศปิดแล้วค่อยมาว่ากันในระยะยาว”


เช่นเดียวกัน “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้า โพสต์ในเฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ถึงเรื่องของวิกฤตฝุ่นที่เกิดขึ้นในวันนี้ว่า

"ฝุ่นท่วมเมือง ทุกคนได้รับผลเท่าเทียมกัน พรุ่งนี้จะมีประเด็นเร่งด่วนเสนอเข้าครม. จึงชวนเพื่อนธรณ์มาดูว่าจะช่วยได้แค่ไหนครับ

เริ่มจากมาตรการจากกก.ควบคุมมลพิษ

จำกัดพื้นที่รถบรรทุก เรื่องนี้ช่วยได้แน่ถ้าทำได้ เพราะฝุ่นจากรถบรรทุกถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักกทม.

แต่เรื่องนี้ย่อมกระทบทำให้การก่อสร้างล่าช้า ซึ่งต้องดูว่าบรรเทาความเดือดร้อนยังไง โดยเฉพาะการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาคเอกชนที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า เช่น คอนโด หากสร้างช้าลงผิดสัญญาแล้วจะทำไง

ควบคุมรถควันดำ - ทำได้จริงย่อมได้ผล โดยเฉพาะรถของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ/เอกชนเกี่ยวข้องกับรัฐ/คู่ค้า ฯลฯ

ปัญหาคือถ้าทำเลยให้ได้ผลในพริบตา เชื่อว่าคงมีรถจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์และไม่สามารถวิ่งได้ จะเกิดผลกระทบทันที ซึ่งอันนี้ต้องวัดใจว่ากล้ามั้ย

แต่เรื่องที่ควรทำแน่ คือทำต่อเนื่องหวังผลข้ามปี เพื่อชะลอไม่ให้เกิดปัญหาแรงอีกในปีหน้า

แน่นอนว่าต้องใช้เงินเยอะเลย แต่ถ้าไม่ทำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็แรงเช่นกัน

เผาไหม้ในที่โล่ง อันนี้น่าทำเร็วสุด เพราะดูจากผลกระทบแล้วไม่มาก อีกทั้งก็ไม่ควรเผาอยู่แล้ว จัดหน่วยตรวจเร็วจัดการเร็วก็ไม่ลงทุนมาก

ตรวจโรงงาน น่าทำเช่นกัน แม้โรงงานไม่ใช่สาเหตุหลักในกทม. แต่ก็ไม่ได้เสียอะไรมากมายในการตรวจ

ลดราคาน้ำมันดีเซลพรีเมี่ยม น่าทำครับ สามารถทำได้ทันทีด้วย แม้จะขาดรายได้เข้ากองทุนบ้าง แต่เชื่อว่าคุ้ม

น้ำมันเครื่อง หากมีมาตรการจูงใจให้คนไปเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และเร่งรัดหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด น่าจะช่วยได้บ้างเช่นกัน

แอป Air4Thai อาจไม่เหมาะสมในบางกรณี เพราะหลายคนต้องการดูตอนนี้ไม่ใช่ค่าเฉลี่ย อีกทั้งต่างชาติก็ไม่ใช้หรอก เขาใช้แอปอินเตอร์ซึ่งคนไทยก็ทำเช่นนั้น

หากเราต้องการให้คนใช้ ต้องทำแอปของเราที่ตอบโจทย์คนใช้ ทำเป็นแอปเฉพาะเมืองใหญ่และมีเครื่องวัดกระจายให้มากสุด (แต่ละเครื่องไม่ต้องแพงมาก)


เร่งกม.มลพิษทางอากาศให้ผ่านสภา เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในกม.จะทำให้เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างตรงจุด

เอาสายไฟลงใต้ดิน ปลูกต้นไม้เยอะๆ แล้วไม่ต้องตัด แน่นอนว่าทำอยู่ แต่เร่งขึ้นมากเท่าไหร่ก็ช่วยมากขึ้นเท่านั้น

ปลูกต้นไม้ในที่รัฐเพิ่มขึ้นเยอะๆ อันนี้ไม่แพง ทำได้เลย กำหนดพื้นที่สีเขียวในที่ดินรัฐในกทม.ปริมณฑลเป็น KPI

จัดมาตรการเร่งด่วนเรื่องรถไฟฟ้า/จักรยานยนไฟฟ้า ตอนนี้เขาก็ทำอยู่ แต่อาจมองภาพกว่างหลายด้าน ถ้ามีแบบเฉพาะเน้นมลพิษฝุ่นอาจเห็นภาพชัดขึ้นและทำได้เร็วขึ้น

ยังมีอีกมากมายที่หลายฝ่ายคิดไว้แล้วแต่ยังผลักดันไม่ได้ผลเต็มที่ ก็ขอให้มาตรการต่างๆ ทั้งระยะสั้น/ยาว เดินหน้าไปเร็วๆ

เพราะฝุ่นส่งผลต่อทุกคน ทุกกิจการ แม้กระทั่งถนนคนเดินที่รัฐบาลเอามาเป็นตัวนำร่องกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น เราต้องลงทุนและเอาจริง

ที่สำคัญคือต้องช่วยกันทุกฝ่าย ในหลายประเทศที่เขาทำสำเร็จ ทุกคนก็ช่วยกันยอมรับและปรับตัวครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น