ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เมื่อจะตายก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ บ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”
ข้อเขียนในบทความชื่อ “คุณภาพแห่งชีวิต, ปฏิทินแห่งความหวัง, จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ “อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ยังคงเป็นข้อเขียนที่ทรงพลัง เพราะฉะนั้นจงอย่าแปลกใจที่ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “ฝุ่นพิษ PM 2.5” จน “กรุงเทพฯ” ได้รับเกียรติขยับขึ้นเป็น “อันดับ 5” ของเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกและแฮชแท็ก #ฝุ่นกรุงเทพ ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ของทวิตเตอร์ ผู้คนในสังคมจะหยิบยกเอาข้อเขียนท่อนนี้มานำเสนอกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์
ทั้งนี้ ถ้าจะสรุป “สาเหตุ” กันแบบ “ไม่อ้อมค้อม” ก็สามารถฟันธงไปได้ทันทีว่า เป็นเพราะ “ตัวผู้นำ” ที่แก้ไขสถานการณ์ด้วย “ยุทธศาสตร์ซื้อเวลารอลมว่าว” คือให้คลี่คลายไปเองตามธรรมชาติก็คงจะไม่ผิด
แล้วตัวผู้นำที่ว่าก็เป็นไปใน “ทุกระดับชั้น”
กรมควบคุมมลพิษทำอะไรนอกเหนือจากการออกมารายงานตัวเลข PM 2.5 แถม “อธิบดี” ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “ที่เห็นทุกวันนี้เป็นหมอกของความชื้นไม่ใช่หมอกควัน ผมมีสุขภาพดี หากฝุ่น PM 2.5อยู่ในช่วงสีส้มผมไม่ใส่ mask มาทำงานหรอก พวกที่มาโชว์แพ้ฝุ่นต่างๆ ดรามาทั้งนั้น ฝุ่นอยู่กับเรามานาน ผมไปเช็กปอดยังไม่เห็นเป็นไรเลย” ซึ่งเป็นเป็นถ้อยคำที่ขาด “วุฒิภาวะ” หรือที่ศัพท์สมัยใหม่ บอกว่า “พูดเพื่อ?
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่อำนาจสั่งการในทุกจังหวัด ต้อง “เทกแอ็กชั่น” อย่างเต็มที่ มิใช่ “ลอยตัว” โดยเฉพาะ “การเผา” ที่สามารถใช้ยาแรงได้ทันที
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีปัญหาที่สุดก็ไม่ต่างกัน กระทั่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลุกลามจึงออกมาประกาศปิดโรงเรียนและให้ข้าราชการเหลื่อมเวลาทำงาน รวมถึงมีมาตรการอื่นๆ ออกมา
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “รัฐบาล” ที่นำโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพราะต้องยอมรับความจริงว่า การรับมือ PM 2.5 ไม่สามารถดำเนินงานได้ด้วยหน่วยงานเดียว หากแต่ต้องบูรณาการและสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือ ปีที่แล้ว ประเทศไทยก็เจอสถานการณ์ลักษณะนี้ แถมยังมี “แผนชาติ” ในการแก้ไขปัญหาออกมาเป็นเรื่องเป็นราว แต่ปีนี้ฝุ่นพิษ PM 2.5 กลับยิ่งเลวร้าย นั่นหมายความว่า การปฏิบัติงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ “มีปัญหา”
ไม่มี “ทีม” ที่พร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน ไม่มีระบบการสื่อสารสาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้ทันท่วงที
“ศศิน เฉลิมลาภ” ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับการจัดการปัญหาฝุ่นเอาไว้ว่า สิ่งที่ชัดเจนในท่ามกลางสลัวฝุ่นก็คือ 1. ผู้นำประเทศไม่มีจิตวิทยาในการบริหารจัดการภาวะวิกฤต และวิกฤตศรัทธา ทั้งในแง่ทักษะการบริหาร และการสื่อสาร ที่สำคัญคือความจริงใจในเรื่องความห่วงใยประชาชน 2. การบริหารจัดการวิกฤต ต้องใช้ “มือดี” เพื่อบรรเทาปัญหา หรือ อย่างน้อยที่สุด ทำให้มีความหวังบ้าง
ทั้งนี้ ศศินได้ขยายความคำว่า “มือดี” เอาไว้ว่า ต้องเป็นคนมีความรู้ กล้าตัดสินใจ มีทีมงาน และทุ่มเท
“มือดีที่ว่าเป็นใคร 2.1รองนายกฯ ที่ดูเรื่องสิ่งแวดล้อมเพราะต้องบูรณาการหลายกระทรวง วันนี้เรามีใครทำหน้าที่นั้น 2.2 รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเหมือนหนูถีบจักรประสานทุกฝ่ายให้สำเร็จ จาก รองนายกข้อ 2.1 2.3 รัฐมนตรีคมนาคมที่สามารถจัดการเรื่องรถควันดำ จำกัดรถบางประเภท และชะลอการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2.4 รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรที่สามารถจัดการเรื่องอ้อย 2.5 รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องจัดการเรื่องโรงงานอ้อย 2.6 รัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ต้องตระหนักถึงวิกฤติการณ์ต่อสุขภาพคน 2.7 อธิบดีกรมควบคุมมลพิษที่ต้องพัฒนาระบบข้อมูลและชงมาตรการที่ชัดเจน เร่งด่วน มีความหวัง 2.8 ผู้ว่า กทม. และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องวิ่งทำทุกอย่างที่ลดปัญหาและตัดสินใจเฉพาะหน้าโดยใช้ พรบ.สาธารณสุข เรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญ”ศศินกล่าวและทิ้งท้ายเอาไว้อย่างแยบคายว่า “พอคิดและลิสต์มาทั้งหมดในหัวข้อ 2 ก็ต้องย้อนไปดู ข้อ 1”
เป็นบทวิเคราะห์ที่ตรงเผงชนิดไม่สามารถแก้ตัวได้
อย่างไรก็ดี ในการประชุม “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีบทสรุปที่น่าสนใจคือ รัฐบาลจะเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายให้มากขึ้น โดยจะมีการตั้ง “วอร์รูม” ที่กรมควบคุมมลพิษเพื่อแจ้งให้ประชาชนได้รู้ว่าแต่ละวันค่า PM2.5 อยู่ที่เท่าไร เป็นรายชั่วโมง
ขณะที่แต่ละจังหวัดจะมี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็น “ซิงเกิลคอมมานด์” คือ “มีอำนาจสูงสุด” ในการสั่งการ และถ้าเกิดวิกฤต “นายกรัฐมนตรี” จะลงมาเป็นประธานบัญชาการด้วยตัวเอง
มติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานที่ผ่านมามีปัญหาจริงๆ เพราะแม้คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบกับมาตรการที่กรมควบคุมมลพิษเสนอมา 12 ข้อในการแก้ไขสถานการณ์ แต่ถ้าระบบสั่งการและระบบติดตามยังมีปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ก็ได้แต่หวังว่า ในปีหน้าที่ PM 2.5 จะกลับมามีปัญหาตามวัฏจักร รัฐบาลจะทำงานได้ดีกว่าที่ผ่านมา
ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ และถ้าจะประสบความสำเร็จเหมือนที่เมืองใหญ่ๆ ในโลกนี้ทำงาน เช่น จีนหรือสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจะต้อง “บังคับใช้กฎหมาย” อย่างเข้มงวด และทำอย่างจริงจัง มิใช่ทำแบบขอไปที เพื่อ “รอลมว่าว” ให้เข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์
12 มาตรการของรัฐบาลในรับมือฝุ่นพิษ PM 2.5
1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯจากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก
2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ.63
3. ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ
4. กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ
5. ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ
6. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆเป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร บริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง
7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา
8. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง
9. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย
10. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน
11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง
และ 12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง