xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้อง Organic Tourism?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



๐ เชื่อหรือไม่ว่าการท่องเที่ยวจะช่วยให้เกิด “ระบบอาหารยั่งยืน” ได้
๐ พบคำตอบจาก “แล็บอาหารยั่งยืน” และ “สามพรานโมเดล”
๐ กับผลลัพธ์ที่ได้ในก้าวแรก และการขับเคลื่อนในก้าวต่อไป

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม แต่ “ภาคการเกษตร” ของไทยในภาพรวมยังมีจุดอ่อนและขับเคลื่อนอยู่บนความไม่ยั่งยืน ปัญหาสำคัญอันหนึ่งคือ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพิงกลไกตลาดแบบเดิม ส่งผลต่อความไม่สมดุลใน “ระบบอาหาร” ของประเทศ ขณะที่ “ภาคการท่องเที่ยว” เป็นจุดแข็งของไทย และสร้างรายได้จำนวนมหาศาลเข้าประเทศ รวมทั้งยังช่วยกระจายรายได้สู่ส่วนต่างๆ ในสังคมและชุมชนได้อย่างกว้างขวาง

ด้วยความมุ่งหวังที่จะคืนความสมดุลและสร้างความยั่งยืนให้กับ “ระบบอาหาร” โดยใช้ “อาหาร” และ “การท่องเที่ยว” เป็นเครื่องมือ นำไปสู่การริเริ่มขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เพื่อสร้าง “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” ขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2560 นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและของโลก ภายใต้วิสาหกิจเพื่อสังคมแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) จำกัด ที่มี “อรุษ นวราช” ผู้บริหารสวนสามพราน ผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล และ “ดร.อุดม หงส์ชาติกุล” ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการออกแบบการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง


๐ “สามพรานโมเดล” ต้นแบบขับเคลื่อน
ผ่านเครื่องมือ “โซเชียลแล็บ”

การขับเคลื่อน Organic Tourism เริ่มต้นด้วยการนำ “สามพรานโมเดล” โมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่คำนึงถึงทุกห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งถูกนำไปใช้ที่สวนสามพรานและประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้ว มาใช้เป็น “ต้นแบบ” ในการพัฒนา โดยมีกระบวนการ “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” หรือ Social Lab เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกส่วนมาทดลองทำงานร่วมกัน พร้อมกับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

Organic Tourism ในปีแรก มุ่งขับเคลื่อนใน 2 พื้นที่นำร่อง คือ กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ยังมีความตื่นตัวในเรื่องเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว โดยเน้นไปที่ต้นน้ำและกลางน้ำ ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มเกษตรกร เจ้าของกิจการ ผู้บริหารโรงแรม ร้านอาหาร ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม ฝ่ายจัดซื้อ ส่วนงานขายของสถานประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องความสำคัญของระบบอาหาร หลักพื้นฐานการทำเกษตรอินทรีย์ วิถีการทำเกษตรอินทรีย์และวงจรความเป็นหนี้ ปัญหาสุขภาพของเกษตรกร และมีการลงพื้นที่แปลงเกษตรกรอินทรีย์สวนสามพรานสัมผัสกับวิถีการทำเกษตรกรอินทรีย์จริงๆ ทำให้ทุกคนเข้าใจปัญหา ตระหนักถึงบทบาท และโอกาสที่จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อน

ความท้าทายในการขับเคลื่อนคือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนออกนอกกรอบเดิมๆ เพราะทั้งเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการต่างเคยชินกับสิ่งที่ทำมา จึงต้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน เช่น เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เคยชินกับการผลิตไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าต้องมีผลผลิตต่อเนื่อง ต้องเปลี่ยนมาวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ส่วนทางผู้ประกอบการจากเดิมคุ้นชินกับการสั่งผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมีให้เสมอและต่อเนื่อง ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเชื่อมโยงกันและเข้าใจกัน ที่สำคัญผลผลิตอินทรีย์เป็นไปตามฤดูกาล ผู้ประกอบการจึงต้องยืดหยุ่นและสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้า


๐ 2 พื้นที่นำร่อง “กรุงเทพฯ - เชียงใหม่”
ปูพื้นฐาน “การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ”

สำหรับการขับเคลื่อน Organic Tourism ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหารเข้าร่วมอย่างจริงจัง ประกอบด้วย โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก / อะ ลักซ์ชูรีคอลเล็คชั่นโฮเทล / โรงแรม เดอะ สุโกศลกรุงเทพ / โรงแรมอนันตราสยาม กรุงเทพ / โรงแรมดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล / บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) / ร้าน Patom Organic Living (ปฐม) และร้านอาหารสีฟ้า

ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีตลาดจริงใจ มาร์เก็ต / โรงแรมรายาเฮอริเทจ / โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ / โรงแรมวิลล่ามหาภิรมย์ / ครอสทูเชียงใหม่ริเวอร์ไซด์รีสอร์ท / โรงแรม137 พิลลาร์เฮาส์ / ร้านอาหารอิ่มเอม / จินเจอร์ฟาร์ม / อันจะกินวิลล่า / ซาร่าคิทเช่นท์ / เชฟพิชญ์ (The Ironwood) และภัตตาคาร เลอคริสตัล และภายใต้การประสานงานของ “กลุ่มเจียงใหม่ออร์แกนิก” ทำให้เกิดกิจกรรม “เจียงใหม่ออร์แกนิก เชฟเทเบิ้ล” ขับเคลื่อนเชื่อมโยงผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้รู้จักเส้นทางของอาหารอินทรีย์ เพื่อสื่อสารไปยังลูกค้าหรือผู้บริโภค

สำหรับเกษตรกรอินทรีย์ที่มาร่วมขับเคลื่อน แกนหลักเป็นเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายสามพรานโมเดล 16 กลุ่ม อาทิ กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ ตำบลบางช้าง / กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ / กลุ่มป่าละอู และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี ฯลฯ ขณะที่เกษตรกรอินทรีย์ทางเชียงใหม่ที่มาร่วม อาทิ เครือข่ายสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ม่วนใจ๋ / กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ เชียงดาว / วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านห้วยขมิ้น / แม่ทาออร์แกนิก และสวนฮ่มสะหลี นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจาก Rain Forest Resort จ.พิษณุโลก มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปขยายผลในพื้นที่ เกิดการรวมตัวกันภายใต้เครือข่ายสองแควออร์แกนิกเพื่อซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรอินทรีย์


ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) 

ก้าวแรกของการขับเคลื่อน Organic Tourism ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปีได้ก่อให้เกิด “คุณค่าใหม่” ในด้านต่างๆ ต่อ “ระบบอาหารยั่งยืน” ทั้งคุณค่าของสังคมใหม่ ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ และคุณค่าของการออกนอกกรอบเดิมๆ พร้อมกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะ “ต้นน้ำ” คือ “เกษตรกรอินทรีย์” ที่มีกำลังใจเพิ่มขึ้น จากการที่มีแนวร่วม มีคนเข้าใจ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมแก้ปัญหา พร้อมกับการเติบโตของตลาด มีโรงแรมชั้นนำระดับห้าดาวเป็นลูกค้ามากขึ้น รวมถึงมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำไปใช้วางแผนการผลิตได้ดีขึ้นอีกด้วย 

ขณะที่ ”กลางน้ำ” คือ ผู้บริหาร ฝ่ายจัดซื้อ เชฟ ฯลฯ ในภาคการท่องเที่ยว ได้เปิดมุมมองและมีแรงบันดาลใจอย่างมากมาย จากการรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ สรรพคุณ ธรรมชาติของพืชผักตามฤดูกาล พืชผักพื้นบ้าน วิถีการบริโภค วิถีการต่อสู้ การเพาะปลูก ความยากลำบากในการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน นำไปสู่ความร่วมมือใหม่ โดยเริ่มต้นหันมาซื้อผลผลิตอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร ยินดีรับฟังและร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อให้มีผลผลิตอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง หลากหลายและเพียงพอ ทำให้ผู้บริโภคหรือ “ปลายน้ำ” มีโอกาสในการบริโภคที่ดีเพิ่มขึ้น

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืนที่ใช้การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ เป็นเครื่องมือพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนจากห่วงโซ่อาหารได้ประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงการบริโภคอาหารที่ดี มีสุขภาพดี แต่ทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วมใน Organic Tourism ล้วนได้ประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ มีจิตใจที่ดี มีมิตรไมตรี มีสังคมที่ดี เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในปีแรกนับเป็นก้าวสำคัญของการปูพื้นฐานแนวทางการขับเคลื่อน Organic Tourism ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ปีต่อไปจะสามารถขยับขั้นยกระดับการพัฒนาระบบอาหารยั่งยืนไปในทิศทางที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น


๐ ยกระดับการขับเคลื่อน ด้วย “Thai Organic”
บนเทคโนโลยี “Digital Platform”

งานประจำปีเพื่อการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ “งานสังคมสุขใจ” ในปีนี้ เตรียมจัดเป็นครั้งที่ 6 วันที่ 13 ธันวาคมนี้ ณ สวนสามพราน ภายใต้คอนเซ็ปต์ ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์..สู่ชีวิตที่สมดุล “ช้อปเปลี่ยนโลก” โดย สามพรานโมเดล ร่วมกับ ททท. มูลนิธิสังคมสุขใจ สวนสามพรานและเซ็นทรัล

อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานสังคมสุขใจ กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานนี้เป็นงานประจำปีของการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ว่า ต้องการให้เครือข่ายสังคมอินทรีย์ได้แสดงออกถึงพลังความร่วมมือ ร่วมผลักดัน และสร้างการมีส่วนร่วมของห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งระบบ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

ปีนี้เราเน้นการเปิดพื้นที่ หรือช่องทางให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนมากขึ้น โดยการประกาศแนวทางยกระดับการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการเปิดตัว “สมาพันธ์ผู้บริโภคอินทรีย์” พร้อมการเปิดตัวแอปพลิเคชัน Thai Organic Platform ทั้งบนโมบายและบนเว็บไซต์ ให้เป็นช่องทางเชื่อมต่อของผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อการยกระดับการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์

สำหรับ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม Thai Organic Platform เราได้ทุนจากเอ็นไอเอ (สนช.) ด้วยจุดประสงค์ให้การขับเคลื่อนข้อมูลทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการขยายผลอย่างมีประสิทธิภาพ คงไม่เหมือนแพลตฟอร์มโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มการขับเคลื่อนที่มีการเชื่อมโยงต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ล้อไปกับการขับเคลื่อนอย่างที่สามพรานโมเดลทำกันอยู่แล้ว คือ เกษตรกรอินทรีย์ต้องมีการจดบันทึก เช่นการบันทึกกิจกรรมแปลง ปัจจัยการผลิต ผลิตมาแล้วขายให้ใคร เป็นต้น ดังนั้น พอมีแพลตฟอร์มก็จะทำให้การเก็บข้อมูลต่างๆ ง่าย และสะดวกต่อการนำไปใช้วางแผนและต่อยอด


อรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานสังคมสุขใจ

ตอนนี้เรากำลังให้เกษตรกรในสามพรานโมเดลทดลองใช้ก่อน พอถึงวันเปิดตัวจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรอินทรีย์กลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นแพลตฟอร์มกลาง เราพัฒนาให้ทุกกลุ่มใช้ และร่วมเป็นเจ้าของ คาดว่าในระยะเริ่มต้นถ้าได้ความร่วมมือสักครึ่งหนึ่งจากทุกกลุ่มก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ และในปีหน้า เกษตรกรที่เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ จะต้องมีระบบการทำงานขั้นต่ำพีจีเอส คือมีระบบรับรองการมีส่วนร่วม

ส่วนขั้นที่สอง แพลตฟอร์มนี้จะพัฒนาให้ผู้ประกอบการนำไปใช้งาน อย่างเช่นตอนนี้ผู้ประกอบการที่ซื้อของโดยตรงจากเกษตรกรสามพราน เช่น โรงแรมสุโกศล สีฟ้า เอสแอนด์พี ไบเทค ชื่อของผู้ประกอบการเหล่านี้ก็จะอยู่บนแพลตฟอร์ม พร้อมเปิดเผยข้อมูลปริมาณการซื้อขายให้ประชาชนเห็น เพราะเป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้ คือ ความโปร่งใส เพื่อทำให้ทุกคนเกิดความเชื่อมั่น เราจึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด อย่างข้อมูลที่ผู้ประกอบการซื้อกับข้อมูลเกษตรกรขายต้องตรงกัน และทุกคนก็เห็นอีกว่า เกษตรกรอินทรีย์มีอยู่ที่ไหนบ้าง
และขั้นที่สาม เป็นแพลตฟอร์มให้กับผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคเป็นสมาชิกแพลตฟอร์ม จะดูข้อมูลแล้วรู้ได้ทันที เช่น ในรัศมี 100 กิโลเมตร ว่ามีเกษตรกรอินทรีย์อยู่ที่ไหนบ้าง มีร้านอาหาร โรงแรมใดบ้างที่ใช้อาหารเกษตรอินทรีย์ แล้วเป็นอาหารอินทรีย์จากที่ใดก็ทราบ

ปัญหาของผู้บริโภคอาหารอินทรีย์ คือไม่รู้จะหาซื้อที่ไหน สิ่งเหล่านี้จะพบบนแพลตฟอร์ม บางคนบอกว่าอินทรีย์ราคาแพง แต่คงไม่ทราบว่าที่แพง เพราะไม่ได้ซื้อตรง รวมถึงอาหารอินทรีย์จะเชื่อถือได้แค่ไหนว่าอินทรีย์จริง สิ่งเหล่านี้บนแพลตฟอร์มจะมีโปรแกรมเทรนนิ่งให้กับผู้บริโภคด้วย ผู้บริโภคที่เข้ามาสามารถเรียนรู้ มองเห็นปฏิทิน อย่างสามพรานโมเดล เราก็เปิดให้ผู้บริโภคเข้ามาร่วมได้ มันจะเห็นการทำงาน

เช่น การประชุมกลุ่มทุกเดือน มีการตรวจแปลง เยี่ยมแปลง หรือผู้ประกอบการต้องการให้ผู้บริโภคมาเยี่ยมแปลง หรือเพื่อโฆษณาโฮมสเตย์ หรือจะมีกิจกรรมที่มาจากผู้บริหารแพลตฟอร์ม ซึ่งเราจะมีผู้บริหารแพลตฟอร์ม เช่น เทรนนิ่งให้ผู้บริโภคเป็นผู้ตรวจ ซึ่งจะมีทุก 3 เดือน เป็นกิจกรรม Official Activity ของแพลตฟอร์ม หรือจะอบรมเรื่องสารเคมี มีกิจกรรมกลุ่มเชียงดาวที่รักษาป่าต้นน้ำ ให้ทุกคนสนับสนุนเลิกปลูกข้าวโพด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนได้ และมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง หรือทำอะไรดีๆ แก่สังคม

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มเพื่อผู้บริโภค เราอยากเห็นผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้ตรวจแปลงด้วย เพื่อยกระดับผู้บริโภคให้เป็น Active Consumer ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญในการสร้างแรงผลักดันสังคมอินทรีย์ ก้าวไปสู่ระบบอาหารยั่งยืน เพราะถ้าผู้บริโภคยังไม่เข้าใจ ผู้ผลิตก็คงเติบโตยาก


2 ตัวอย่างโรงแรม-ร้านอาหาร
แกนนำการเปลี่ยนแปลง

การขับเคลื่อน Organic Tourism ที่ผ่านมาในปีแรกได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวทั้งโรงแรมและร้านอาหารจำนวนไม่น้อย ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เห็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจและสามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ สำหรับ “โรงแรม เดอะ สุโกศล” และ ”เอส แอนด์ พี ซินดิเคท” เป็นสองตัวอย่างที่มีเรื่องราวและประสบการณ์แตกต่างกัน แต่ทั้งสองมีเป้าหมายเดียวกันคือเป็นกลุ่มแกนนำที่ทำให้เกิด “ระบบอาหารยั่งยืน”

๐ “โรงแรม เดอะ สุโกศล”
ต้องมีใจ ค่อยๆ ปรับ เริ่มทีละเมนู

“โรงแรม เดอะ สุโกศล” เป็นโรงแรมของคนไทย ที่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องของความยั่งยืน และให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องกว่า 20 ปี มีกิจกรรมซีเอสอาร์ มีการเชื่อมโยงและดูแลชุมชน สังคมรอบข้างอยู่เสมอ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โรงแรมเริ่มซื้อข้าวจากเกษตรกรอินทรีย์โดยตรงที่ จ.อำนาจเจริญ ภายใต้โครงการ Farm to Functions โดย “อรุษ นวราช” ผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล ได้ชักชวน “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ในบทบาทประธานด้านสิ่งแวดล้อมของสมาคมโรงแรมไทย ไปรู้จักเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ เปิดโอกาสให้ผู้บริหารโรงแรมอีกกว่า 20 แห่ง ที่ได้รับการชักชวนต่อไปร่วมด้วย และหลายแห่งมีการซื้อข้าวอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

“ตอนแรกไม่เข้าใจว่าการเชื่อมโยงกับเกษตรกรอินทรีย์คืออะไร แล้วมันท้าทายอย่างไร พอลงพื้นที่ไป ก็ได้เรียนรู้ว่า แนวคิดเรื่องนี้ มันไม่ใช่การไปช่วยเกษตรกร แต่เป็นการร่วมมือกัน ขณะที่กระแสผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกมาแรง ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้คนสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น เริ่มซื้อข้าวโดยตรงกับเกษตรกรที่อำนาจเจริญ เป็นโครงการแรก เพราะข้าวสต๊อกง่าย มาส่งเดือนละ 2 ครั้ง ตอนนี้ก็เริ่มเรื่องผัก ผลไม้ ซื้ออาทิตย์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว”

จันทราณิศก์ ประนันติ๊บ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เล่าว่า “เราไปได้ความรู้มา ได้เจอเพื่อนๆ องค์กรอื่นๆ รู้สึกมีแรงผลักดัน อยากให้เกิดขึ้นในองค์กรของเรา จึงเริ่มพาทีมงานลงพื้นที่ไป 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกรุ๊ปเชฟ กลุ่มที่สองเป็นทีม F&B กลุ่มที่สาม เซลล์ PR เพื่อให้ไปเห็นวิถีชีวิตเกษตรกรและรู้จักพืชออร์แกนิก ว่าที่แท้จริงว่าเป็นเช่นไร จากเดิมทุกคนบอกว่าไม่เอาวัตถุดิบอินทรีย์ เพราะต้นทุนสูง แต่พอเขาได้เห็นด้วยตัวเอง ก็บอกว่าเข้าใจแล้ว”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเชื่อมโยงกับเกษตรกรอินทรีย์เพื่อซื้อผลผลิตตรงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีทีมวิสาหกิจเพื่อสังคมสุขใจออร์แกนิก สามพรานโมเดล ช่วยประสานพร้อมจัดส่งให้ “เดิมสั่งจากพ่อค้าคนกลาง อยากได้อะไรก็สั่งไป แต่การซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ต้องดูลิสต์ผลผลิตของเขาก่อนว่ามีอะไรบ้าง แล้วต้องวางแผนกัน จะสั่งวันไหน เวลาไหน พอรับวัตถุดิบมาเชฟก็ปรับเมนูตาม แรกๆ เข้าใจคลาดเคลื่อนกันบ้าง คุยกันว่าอาจไม่ได้ 100% ค่อยๆ ปรับไป เมื่อทุกคนเข้าใจ และคุณมาริสาสนับสนุนเต็มที่ ทำให้ลงตัวกันได้”

“เจเรอมี” เชฟใหญ่ผู้ดูแลเมนูอาหารของโรงแรมฯ เล่าว่า “ในช่วงปรับตัวนั้นมีความยุ่งยากบ้าง แต่สำหรับเชฟหน้าที่คือส่งมอบอาหารที่ดีที่สุด และมีความปลอดภัย ให้ลูกค้าเสมอ การเลือกสรรวัตถุดิบคุณภาพปลอดภัย เป็นความรับผิดชอบต่อสังคม การตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น เราอยากเป็นผู้นำเรื่องนี้ จึงเลือกสนับสนุนเกษตรกรอินทรีย์ในท้องถิ่น ที่มีความตั้งใจและไม่ใช้สารเคมี การใช้วัตถุดิบออร์แกนิก ไม่ได้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หากเรารู้จักการบริหารจัดการที่ดี และที่สำคัญพืชผักออร์แกนิกเก็บได้นานกว่าพืชผักทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด”

ห้องอาหารหลักๆ ที่นำวัตถุดิบอินทรีย์ไปใช้คือ ห้องอาหารนานาชาติปทุมมาศ มีข้าวอินทรีย์อยู่ในเมนูตลอด ส่วนพืชผักผลไม้ เช่น ผักสลัด ฝรั่ง ผัดผักบุ้ง อยู่ในบุฟเฟ่ต์ แต่ละจุดที่มีอาหารออร์แกนิก มีป้ายบอกแหล่งที่มาพร้อมภาพเกษตรกร

รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล บอกถึงก้าวต่อไปของโรงแรมฯ ว่า คือการวางแผนการสื่อสาร เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ ชวนลูกค้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น “เราต้องแชร์ให้เกิดประโยชน์ เราอยากเป็นต้นแบบ เพื่อให้โรงแรมอื่นๆ ที่สนใจทำแบบเราทำได้ด้วย ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป ผู้บริหารต้องโน้มน้าวพนักงานจนมีใจรัก ไม่ใช่บังคับ ความสำเร็จของเรามาจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกระดับ”

ผู้ประสานการขับเคลื่อนหลัก “จันทราณิศก์” ย้ำถึงแนวทางขับเคลื่อนว่า “ต้องค่อยๆ ปรับ เริ่มทีละเมนู เริ่มในผลิตภัณฑ์ที่เกษตรกรมีก่อน ไม่ใช่เริ่มในสิ่งที่เราต้องการ และอย่าอยู่ที่เก้าอี้หรือโต๊ะอย่างเดียว ให้ลุกไปดูสถานที่จริง ดูของจริง ที่สำคัญอย่าท้อ ถ้าเราคิดว่าจะทำให้สำเร็จ แต่ละฝ่ายอย่าสร้างกำแพงให้กับตัวเอง ต้องหันมาพูดคุยกัน ทุกปัญหาแก้ไขได้ สำคัญที่สุดคือ ให้ตระหนักว่าเรื่องสุขภาพและอายุเราไม่รอ เพราะฉะนั้น เมื่อคิดว่าดีกับสุขภาพแล้ว ขอให้เริ่มเลย”


๐”เอส แอนด์ พี ซินดิเคท”
เรียนรู้-เข้าใจ-แก้ปัญหาด้วยกัน

ร้านอาหาร เอส แอนด์ พี (S&P) มุ่งมั่นรักษามาตรฐานอาหาร ให้มีคุณภาพ และรสชาติอร่อยที่สุด มากว่า 45 ปีแล้ว และภายใต้กลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน “Healthier Family, Happier World” หนึ่งในแผนงานปี 2562 ของ S&P คือ การเพิ่มเมนูสุขภาพในร้านอีก 5% ของเมนูทั้งหมด และเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ 20% เพื่อส่งมอบสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภค สอดรับกับเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคที่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้น

กำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P กล่าวว่า “เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของอาหาร เราต้องการพัฒนาสังคมและชุมชนในประเทศไทย เราอยากสนับสนุนเกษตรกร เพราะประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องการเกษตร โดยเฉพาะการรวมตัวทำเกษตรอินทรีย์ทั้งชุมชน ยิ่งควรสนับสนุน”

S&P เริ่มโดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจ และสร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้บริหาร และทีมงานภายในองค์กรเป็นอันดับแรก มณีสุดา ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ของ S&P เล่าว่า “อยากให้ทุกหน่วยในบริษัทเกิดความเชื่อมั่นว่า เราต้องการเอาของดีๆ มาให้ลูกค้า จึงจัดเป็นทริป 3-4 ทริป พาหน่วยงานต่างๆ ใน S&P คือ จัดซื้อ จัดการหน้าร้าน มาร์เก็ตติ้ง R&D และผู้บริหารระดับสูง ไปครบเลย ได้ไปรู้ไปเห็นสวนแบบออร์แกนิก และแปลงปลูกที่บ้านเกษตรกร ไปเก็บผักเก็บไข่เป็ดมาทำอาหาร มี workshop ได้เรียนรู้ว่า อะไรคือออร์แกนิก ดีอย่างไร สารธรรมชาติที่เขาใช้ดีหรือไม่ อย่างไร”

“เมื่อผู้บริหารและพนักงานอินกับเรื่องนี้ การโปรโมทสินค้าก็จะง่ายขึ้น การนำสินค้าดีๆ ไปให้ลูกค้าจะราบรื่น เพราะถ้าไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่อิน ก็อาจจะเฉยๆ และไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น แต่การที่ทุกคนเห็นด้วย อยากจะทำ ก็ทำให้ไปได้เร็ว เพราะทุกคนช่วยกัน”

ในที่สุดจึงสามารถนำเสนอ “น้ำฝรั่งออร์แกนิก ฝรั่งออร์แกนิก และน้ำมะพร้าวปั่นออร์แกนิก” จากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ตำบลบางช้าง ในเครือข่ายสามพรานโมเดล เข้าไปในเมนูของ ร้าน S&P โดยเฉพาะ “น้ำฝรั่งอินทรีย์” ที่สามารถเข้าไปให้บริการใน 150 สาขา ในกรุงเทพและปริมณฑล

กุญแจสำคัญคือ นอกจากผู้บริหารระดับสูงได้ลงพื้นที่พบเกษตรกรด้วยตนเอง อีกสิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้และคุณค่าสังคมใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่าง S&P กับเกษตรกร นอกจากนี้ S&P ยังนำซัพพลายเออร์ ลูกค้า ลูกหลานของลูกค้า มาลงพื้นที่ เรียนรู้สร้างความเข้าใจคุณค่าอาหารออร์แกนิก ที่ไม่เพียงดีต่อสุขภาพ แต่ยังดีต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

“ทุกคนบอกว่า เหมือนมีสังคมใหม่ เกษตรกรก็ได้เรียนรู้จากทีมงานของเรา ว่าธุรกิจเป็นแบบนี้เอง ต้องมีมาตรฐาน ส่วนทีมงานเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากเดิมอาจทำหน้าที่สั่งอย่างเดียว ไม่มีโอกาสออกไปรู้จักเกษตรกร ไม่เคยเห็นว่าเขาต้องสู้กับโรคแมลง ไม่รู้ว่าต้องลำบากขนาดนี้ ก็เกิดเป็นความเข้าใจ และเห็นใจ อันไหนที่พอรับได้ ขนาดลูกฝรั่ง อาจจะไม่ได้ตรงตามที่เราอยากได้ แต่เรารู้ว่าเกษตรกรปลูกแบบอินทรีย์จริงๆ ทุกคนก็พยายามช่วยกัน ส่วนราคาก็เน้นว่าจะต้องเป็นราคาที่เหมาะสม ราคาที่ทำให้ทุกคนมีความสุข ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือคนปลูก ร้าน และผู้บริโภค ตรงนี้มีความสำคัญ เพราะการแบ่งปันความสุข มีค่ามากกว่าการแบ่งปันกำไร”


กำลังโหลดความคิดเห็น