ดีแทค-มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด หนุนเกษตรอินทรีย์ เปิดเวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดพ.ศ. 2562 ภายใต้แนวคิด 'เกษตรกรรุ่นใหม่ใส่ใจผู้บริโภค' พร้อมนำเทคโนโลยีเข้าไปให้คำแนะนำให้ทำการเกษตรอย่างแม่นยำ หลังรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในไทยเป็น 1.3 ล้านไร่ภายในปี 2565
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่าโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ต้องการขยายแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรที่ปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ อันได้แก่ชุมชนสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง
'ที่ผ่านมาดีแทคได้ตอกย้ำในเรื่องของการเดินหน้าไม่หยุด ทั้งการขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมเหล่าเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงให้ความรู้ในเรื่องของสมาร์ทฟาร์มเมอร์ตลอดมา เพราะอยากให้เกษตรกรไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างในนอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศที่เกษตรกรไม่ต้องกังวล เพราะมีสมาพันธ์ของรัฐช่วยดูแลเรื่องการค้าขาย และเป็นตัวอย่างที่วันหนึ่งถ้าภาครัฐไปดูแบบจริงจัง และสนับสนุน จะตอบโจทย์ให้แก่เกษตรกรยุคใหม่ได้'
ขณะเดียวกันด้วยการที่ประชากรโลกมีจำนวนกว่า9พันล้านคน ทำอย่างไรเกษตรอินทรี ก็ไม่สามารถเพาะปลูกให้เพียงพอได้ ดังนั้นจึงควรที่จะเข้าไปสนับสนุน และผลักให้เพื่อให้ไทยสามารถเติบโตได้เพราะจริงๆแล้วในประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญที่สามารถสร้างรายได้อย่างการท่องเที่ยวและวัตถุดิบสำหรับการทำอาหาร
เนื่องจากความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารจานด่วน อาหารแปรรูปและอาหารปรุงแต่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและยากต่อการคัดเลือกวัตถุดิบดังนั้นการเลือกบริโภคอาหารที่มีวัตถุดิบอินทรีย์ถือเป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารของคนเมืองเพื่อการรับประทานที่อุดมไปด้วยโภชนาการและปราศจากสารปนเปื้อนนอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนและเป็นกำลังใจสำคัญให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเกษตรวิถีอินทรีย์ ที่ต้องใช้ความวิริยะ อุตสาหะและความประณีตอย่างสูง เพื่อสร้างอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค
'กว่าทศวรรษที่เราดำเนินโครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดเราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เชิดชูเกษตรกรต้นแบบที่มีศักยภาพ จนเกิดเป็นเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับแผ่นดิน ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชน สังคมและเศรษฐกิจของประเทศให้มั่งคั่งยั่งยืน'
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคกล่าวว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก และการเปลี่ยนรูปแบบของวิถีชีวิตจากชนบทสู่เมืองที่เพิ่มมากขึ้น (Urbanization) โดยประชากรเมืองจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 66% ภายใน 30 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ 50% ของประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดความตระหนักในความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งสามารถติดตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตได้ (Traceability)
'แนวโน้มความต้องการของโลกที่เน้นความยั่งยืนทางอาหารมากขึ้น ประเทศไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้ห่วงโซ่ทางการเกษตรมีประสิทธิภาพผ่านการทำเกษตรอย่างแม่นยำ (Precision farming) ซึ่งผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data) ที่ได้จากแปลงเกษตรจริง ทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ลดการพึ่งพาสารเคมี สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค'
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2565
สำหรับเวทีประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดพ.ศ.2562ดำเนินมาถึงปีที่11ภายใต้แนวคิด 'เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจผู้บริโภค' โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่เป็นมิตรต่อทุกชีวิต มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้บริโภคโดยเริ่มจากการสร้างความยั่งยืนให้กับตนเองแล้วส่งต่อให้กับผู้อื่น ด้วยการเกษตรวิถีอินทรีย์แบบครบวงจรตั้งแต่ กระบวนการปลูก การแปรรูปเพิ่มมูลค่า การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการบริหารจัดการด้านการตลาด โดยยึดหลักสำคัญทั้ง 4 ประการ คือ สุขภาพ (Health) นิเวศวิทยา (Ecology) ความเป็นธรรม (fairness) และการดูแลเอาใจใส่ (Care) นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ตั้งแต่กระบวนผลิต การขนส่ง การบริโภค ไปจนถึงการจัดการและกำจัดของเหลือใช้ในฟาร์ม
ทั้งนี้ ผลการตัดสินเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด พ.ศ.2562ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศได้แก่ นายปรีชา หงอกสิมมาจ.ขอนแก่น เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและเป็นแบบอย่างของการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยนำความรู้พื้นฐานด้านเกษตรที่ร่ำเรียนบวกกับความชอบเรื่องระบบนิเวศน์ป่าและธรรมชาติมาวางแผนในการทำแปลงโดยเน้นเรื่องป่าไม้ควบคู่กับการทำเกษตร ด้วยแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่โดยแบ่งพื้นที่14ไร่เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการผสมผสานกิจกรรมทางการเกษตรอย่างครบวงจร ได้แก่ ธนาคารต้นไม้ พื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ ฟาร์มไก่ไข่อารมณ์ดี การแปรรูปสมุนไพรและพื้นที่ที่จัดสรรเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นอกจากนี้ ยังได้นำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งผลิตพืชผักและสมุนไพรอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ 'WANAPHANW' (วนพรรณ) พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลักสามารถเลือกปลูกผลผลิตนำมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรได้ ทำน้อยได้มาก สร้างรายได้ให้ทั้งตัวเองและชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน