xs
xsm
sm
md
lg

ส.เลี้ยงสุกรอีสานไหว้หัวหมู 402 หัว หน้า “ย่าโม” ฮือต้านนำเข้าหมูสหรัฐฯ ชี้ทำลายอาชีพ-ภาคเกษตรไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สมาคมผู้เลี้ยงสุกรอีสาน จัดพิธีไหว้หัวหมู 402 หัว หน้าย่าโม โคราช เสริมสิริมงคลผู้เลี้ยงหมูพร้อมทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึง “นายกฯ ตู่” และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คัดค้านนำเข้าเนื้อหมูจากมหาอำนาจอเมริกา ชี้ล้นตลาด ทำลายอาชีพเกษตรกรและความมั่นคงอาหาร-ภาคเกษตรของไทย เผยทั่วประเทศตัดหัวหมู 4,000 หัว บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอรัฐบาลเห็นใจ


วันนี้ (9 พ.ค.) ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม)อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมานายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีไหว้หัวหมูเสริมสิริมงคล ของผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้มีการนำหัวหมูจำนวน 402 หัวประกอบพิธีเป็นเครื่องเซ่นไหว้ บวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายหลังเสร็จพิธีได้นำหัวหมูทั้งหมดผ่าครึ่งแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาเข้าแถวรอรับจำนวนกว่า 500 คน พร้อมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไปยังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR), สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสหรัฐฯ (NPPC)

โดยมีนายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมพิธี พร้อมได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดนครราชสีมา, เทศบาลนครนครราชสีมา, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF สาขาบ้านประโดก-โคกไผ่ อำเภอเมืองนครราชสีมา, บริษัท เบทาโกร, เกษตรจังหวัดนครราชสีมา, มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน


ทั้งนี้ การจัดพิธีไหว้หัวหมูเสริมสิริมงคลดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ รวม 6 จังหวัด 6 ภาค รวม 4,247 หัว ประกอบด้วย ภาคเหนือ จังหวัดลำพูน จำนวน 499 หัว, ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี จำนวน 1,198 หัว, ภาคตะวันตก จังหวัดราชบุรี จำนวน 1,189 หัว, ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 559 หัว, ภาคกลางตอนบน จังหวัดสระบุรี จำนวน 400 หัว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 402 หัว

วัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลได้เห็นภาพการเลี้ยงสุกรทั่วไทยที่เป็นหนึ่งในเสาหลักและห่วงโซ่การเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตสูงเป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ และสร้างความอยู่ดีกินดีของพลเมืองไทย รวมถึงคัดค้านการกดดันจากสหรัฐอเมริกาให้ไทยรับสินค้าเนื้อสุกรจากเกษตรกรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการกดดันเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรสหรัฐอเมริกา จึงเป็นมุมมองที่รัฐบาลไทยต้องปกป้องผู้เลี้ยงสุกรไทย เพราะการผลิตสุกรไทยเกินกว่าความต้องการการบริโภคและการตลาดของไทย และเพื่อสร้างความสามัคคีของผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยให้มีเอกภาพและเกิดการรวมตัว การช่วยเหลือกันและกัน และสร้างความมีส่วนร่วมในท้องถิ่น เพื่อความสามัคคีของพลเมืองไทยให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างกิจกรรมที่เป็นสิริมงคลต่ออาชีพการเลี้ยงสุกรและผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทย และยังเป็นการส่งเสริมการบริโภคเนื้อสุกร

โดยจำนวนหัวหมูที่ใช้ในกิจกรรมมาจากจำนวนสุกรที่รองรับความต้องการบริโภคในประเทศกว่า 40,000 ตันต่อวัน หลังเสร็จกิจกรรมจะทำการแจกจ่ายหัวหมูให้ประชาชนนำกลับไปบ้านไปบริโภค


นายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การไหว้หัวหมูเพื่อความเป็นสิริมงคลทั่วไทย 6 ภาคน นอกเหนือจากจะเป็นการให้กำลังใจกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรและประชาสัมพันธ์มาตรฐานอาหารโปรตีนจากสุกรไทยแล้ว เกษตรกรประสงค์ให้รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคเกษตรปศุสัตว์ไทย ความเป็นอยู่ของสังคมไทยตลอดจนอาชีพการเกษตรไทยที่เป็นสัมมาชีพของคนไทยกว่า 25% ที่ทุกภาคส่วนของไทย ทั้งรัฐบาลไทย และเอกชนไทยต้องร่วมกันพัฒนาผลักดันและปกป้องอาชีพ เพื่อเป็นเสาหลักเศรษฐกิจคู่กับประเทศไทยให้เป็นอาชีพตกทอดต่อไปยังรุ่นลุกรุ่นหลาน

สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ส่งออกเนื้อสุกรอันดับ 1 ของโลก มีพัฒนาการส่งออกสุกรสูงนับจากปี 2532 เริ่มส่งออกได้เพียง 0.15 ล้านตัน ระยะเวลาเกือบ 30 ปีเติบโตจนคาดว่าปี 2561 นี้จะส่งออกได้ถึง 2.7 ล้านตันสร้างเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งพืชเกษตรอาหารสัตว์ ประกอบด้วย ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ขนาดใหญ่ การส่งออกสุกรของสหรัฐฯเป็นความหวังของสหรัฐฯที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลต่อเนื่องมหาศาลของประเทศ จึงมีการทำตลาดในลักษณะกดดันนานาประเทศให้รับสินค้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ รวมทั้งการกดดันรัฐบาลไทย

ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่เคยตอบสหรัฐฯ ในเรื่องดังกล่าวนี้แบบตรงๆ ทั้งๆที่เป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถแสดงจุดยืนได้ว่า ประเทศไทยมีการผลิตสุกรเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยทุกครั้งจะมีการหยิบยกเพียงประเด็นด้านสุขอนามัยและแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมต่างๆ เข้ามาพิจารณาทำให้ปัญหาความเสี่ยงต่อการเข้ามาของผู้ที่แข็งแรงกว่า ทั้งต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า 50-60% ของต้นทุนการผลิตสุกรไทย และความสามารถทางการตลาดในรูปของบริษัทข้ามชาติที่มีต้นทุนในการทำการตลาดมหาศาล อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และองค์กรกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรของสหรัฐฯเอง จึงเป็นที่มาของการทำกิจกรรมครั้งนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น