ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ชื่นมื่น! เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ล้อมวงเจรจารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หาทางออกกรณีปัญหา “บ้านป่าแหว่ง” เบื้องต้นได้ข้อตกลงเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันแล้วว่าจะไม่มีการเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่อย่างแน่นอน และคืนพื้นป่าให้ดอยสุเทพดังเดิม โดยเตรียมให้ธนารักษ์เร่งทำการรังวัดพื้นที่ยึดแนวเขตป่าเดิมคลุมพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง รอรับคืนพื้นที่จากศาลแล้วส่งมอบต่อให้อุทยานฯ หรือป่าไม้ ฟื้นฟูป่าร่วมกับภาคประชาชน ส่วนจะรื้อหรือไม่รื้อบ้านพักต้องตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาการจัดการสิ่งปลูกสร้าง ขณะที่ภาคประชาชนเผยพอใจและถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้น แต่ยังคงต้องรณรงค์และจับตาดูอย่างใกล้ชิด พร้อมขอบคุณประชาชนทั่วประเทศที่ร่วมแสดงพลัง
วันนี้ (6 พ.ค. 61) เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บริเวณด้านหลังศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางร่วมประชุมกับตัวแทนกว่า 50 องค์กร ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เพื่อเจรจาพูดคุยหาทางออกร่วมกันกรณีปัญหาโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ ขณะที่บริเวณโดยรอบมีประชาชนนำริบบิ้นสีเขียวสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวมาผูกติดไว้หลายจุด ตามต้นไม้และเสาไฟฟ้า เพื่อร่วมแสดงออกการเรียกร้องในครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวที่เป็นแบบปิด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้พูดเจรจาร่วมกับแกนนำเครือข่ายนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีข้อสรุป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยหลังการเจรจาว่า การเจรจาพูดคุยครั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้นโยบายการแก้ไขปัญหาว่าจะต้องไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าดั้งเดิม, การเร่งฟื้นฟูสภาพป่า และประเด็นใดที่ยังหาข้อตกลงกันไม่ได้ให้มีการพูดคุยหารือร่วมกัน ซึ่งจากการเจรจาในครั้งนี้ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยจากนี้จะให้ทางธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ไปดำเนินการรังวัดพื้นที่ทันที ยึดแนวเขตป่าดั้งเดิมที่จะครอบคลุมพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง เพื่อทำการฟื้นฟู โดยหลังจากที่การก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการส่งมอบจากผู้รับเหมาแล้ว ศาลจะส่งคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์ และธนารักษ์จะส่งมอบพื้นที่ต่อให้อุทยานหรือป่าไม้ดูแลฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพพื้นที่ป่าดังเดิมต่อไป ส่วนการหาพื้นที่ใหม่และจัดหางบประมาณก่อสร้างบ้านพักใหม่ให้แก่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น ทางรัฐบาลรับภาระที่จะไปดำเนินการให้
ขณะที่ประเด็นการรื้อบ้านพักและอาคารที่พักนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสิ่งปลูกสร้างต่อไป อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ยืนยันว่าจะมีการดำเนินการให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วที่สุดและมีการยืดเยื้ออย่างแน่นอน ส่วนการฟื้นฟูสภาพื้นที่นั้น สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้ทันที โดยเบื้องต้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนการฟื้นฟู ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ที่จะให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกันในการดูแลฟื้นฟู โดยให้มีกรรมการระดับจังหวัดเข้ามาดูแล ทั้งนี้ในวันที่ 27 พ.ค. 61 ทางมณฑลทหารบกที่ 33 เตรียมจะนำประชาชนเข้าทำการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ดังกล่าวเนื่องในวันวิสาขบูชา ส่วนการผลักดันให้มีการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยการพิจารณาดำเนินการทั้งหมดนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ขัดข้อง เพราะให้รัฐบาลเป็นผู้แก้ไขปัญหาให้และพร้อมจะยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาล
ด้านนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า จากการเจรจาในครั้งนี้ระหว่างตัวแทนเครือข่ายกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้บรรลุข้อตกลงหลักร่วมกันและเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะมีการคืนพื้นที่บริเวณโครงการให้กลับมาเป็นป่าดังเดิม โดยเบื้องต้นจะเร่งทำการฟื้นฟู เริ่มต้นด้วยการที่ธนารักษ์ดำเนินการรังวัดพื้นที่โดยยึดแนวป่าดังเดิมซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และอาคารที่พัก 9 หลัง เพื่อเตรียมการสำหรับการให้ศาลส่งมอบพื้นที่คืนให้ธนารักษ์ แล้วธนารักษ์มอบให้อุทยานหรือป่าไม้ รับผิดชอบดูแลในการฟื้นฟูร่วมกับภาคประชาชนต่อไปให้ป่ากลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม
ส่วนการจัดการกับสิ่งปลูกสร้างนั้นจะมีการตั้งกรรมการร่วมกันขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องการจัดการสิ่งปลูกสร้างและฟื้นฟูป่าต่อไป ซึ่งในส่วนของการรื้อนั้น ยอมรับว่ายังมีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ที่จะต้องให้กรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาหาทางออก แต่ในส่วนของการฟื้นฟูเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที หากมีการฟื้นฟูจนสภาพป่ากลับมาในท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าบ้านพักและอาคารที่พักจะต้องถูกทำให้หายไปอย่างแน่นอน
สำหรับกรอบเวลาในการดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกว่า เบื้องต้นตกลงกันว่าจะมีการดำเนินการโดยเร็วที่สุด ซึ่งในส่วนของเครือข่ายจะมีการเฝ้าติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยจะให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานสักระยะหนึ่ง พร้อมทั้งแสดงความขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวนี้และพยายามหาทางออกร่วมกับภาคประชาชน อย่างไรก็ตามจะขอบคุณยิ่งขึ้นหากนายกรัฐมนตรีกำชับติดตามและเร่งรัดให้การแก้ไขปัญหานี้เสร็จสิ้นลงได้โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ นายธีระศักดิ์ย้ำว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องของเครือข่ายดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเท่านั้น ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาแอบแฝงเกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากนี้จะยังคงมีการรณรงค์และทำกิจกรรมต่อเนื่องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาดอยสุเทพ และต้องขอบคุณชาวเชียงใหม่ รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศที่ร่วมกันรณรงค์และแสดงพลัง โดยการเคลื่อนไหวจนประสบความสำเร็จเบื้องต้นในครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จร่วมกันของภาคประชาชน ซึ่งอาจเรียกการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ว่า “ดอยสุเทพโมเดล” ที่จะเป็นบทเรียนและบรรทัดฐานว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐนอกจากทำถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลและจารีตประเพณี รวมทั้งความรู้สึกของประชาชนด้วย