xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 29 เม.ย.-5 พ.ค.2561

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.พรรคการเมืองจวกยับ คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ทำยอดสมาชิกแต่ละพรรคลดฮวบ ด้าน “กกต.” เตือน พท.แห่พบ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ระวังถูกยุบพรรค!
นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปีคดีทุจริตจำนำข้าว
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่พรรคการเมืองต่างๆ เปิดให้ประชาชนแจ้งยืนยันความเป็นสมาชิกตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่ให้พรรคสามารถดำเนินการทางธุรการทางการเมืองได้ เช่น จดแจ้งจัดตั้งพรรค และยืนยันสถานะสมาชิกพรรค ปรากฏว่า ยอดสมาชิกของแต่ละพรรคลดลงจากที่เคยมีอย่างฮวบฮาบ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เคยมีสมาชิก 2.5 ล้านคน ปรากฏว่า มีผู้มายืนยันความเป็นสมาชิกแค่ 1 แสนกว่าคน, พรรคเพื่อไทย เคยมีสมาชิก 1.3 แสนคน แต่มีผู้มายืนยันเป็นสมาชิกแค่ 1 หมื่นกว่าคน, พรรคชาติไทยพัฒนา มีสมาชิก 24,710 คน แต่มีผู้มายืนยันเป็นสมาชิกประมาณ 3,000 คน, พรรคภูมิใจไทย มีสมาชิก 1.2 แสนคน แต่มีผู้มายืนยันเป็นสมาชิกไม่ถึง 2,000 คน เป็นต้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้พูดถึงอุปสรรคที่ทำให้ยอดสมาชิกลดลงอย่างมากว่า 1.เนื่องจากพรรคไม่สามารถประชาสัมพันธ์และทำกิจกรรมได้ เพราะไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่อยู่ดีๆ มีคำสั่งให้ไปยืนยัน 2.มีหลายรายที่ไปพบ บางคนบอกว่า เคยชำระค่าบำรุงให้พรรคตลอดชีวิตไปแล้ว จะมาเอาเงินอีก ไม่รู้จะทำอย่างไร อธิบายไม่ได้

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงยอดสมาชิกพรรคลดลงอย่างฮวบฮาบว่า เห็นได้ชัดว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างรุนแรง มิใช่เป็นไปเพื่อปฏิรูปการเมืองอย่างที่อ้าง กลับเป็นการทำลายพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ทุกๆ พรรคแบบถ้วนหน้า สมาชิกพรรคเหลืออยู่ไม่ถึง 10% สาขาพรรคยุบสลายหมด เป็นการสร้างภาระให้ประชาชนเกินเหตุ และให้เวลาสั้นๆ เพียง 30 วันในการแจ้งเป็นสมาชิก ไม่มีระบบอำนวยความสะดวกใดๆ ที่จะทำให้ง่ายๆ

ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงยอดสมาชิกของพรรคที่ลดลงอย่างมากว่า มีสมาชิกมายืนยันประมาณ 3,000 คน คิดเป็น 12% จากยอดที่มีอยู่เดิม 24,710 คน ซึ่งถือว่าแย่มากถ้ามองจากตัวเลขเดิมของตัวเอง แต่ถ้านำยอดที่ได้ไปเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ก็ถือว่าไม่เลวซะทีเดียว เพราะทุกพรรคตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันหมด และว่า จำนวนสมาชิกที่เหลืออยู่ของแต่ละพรรคจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการทำไพรมารีโหวต เพื่อส่งผู้สมัคร ส.ส.ให้ครบ 350 เขตทั่วประเทศ เพราะการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 นั้น จะต้องใช้สมาชิกเป็นตัวกำหนด ทั้งตัวแทนประจำจังหวัดที่จะต้องมีจังหวัดละไม่น้อยกว่า 100 คนขึ้นไป และสาขาพรรคที่จะต้องมีสมาชิกประจำสาขาไม่น้อยกว่าสาขาละ 500 คนขึ้นไป รวม 4 ภาค ซึ่งในทางปฏิบัติ พรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำดังกล่าวเผื่อไว้อีกประมาณ 10-20% ด้วย เมื่อนำตัวเลขดังกล่าวมารวมกัน ก็เท่ากับว่า แต่ละพรรคต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 10,000 คน ถึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ครบ 350 เขตเลือกตั้งได้

นายนิกร กล่าวด้วยว่า “อยากให้ผู้มีอำนาจใช้มาตรา 44 งดเว้นการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไปก่อน แต่ถ้าจะงดเว้นให้โดยยื่นเงื่อนไขว่า จะต้องขยับโรดแมปเลือกตั้งออกไป ผมไม่เอา จะลำบากก็สู้ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

ขณะที่นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคลดฮวบว่า เป็นผลมาจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้มีการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน “บางพรรคที่มีสมาชิกเป็นล้านหรือแสนคน เขาไม่ได้หาสมาชิกได้ภายใน 30 วัน แต่หาเป็นปีๆ จะให้ยืนยันสมาชิกใน 30 วันได้อย่างไร ขั้นตอนนี้เหมือนต้องการเซตซีโร่ แต่ไม่กล้าโซตซีโร่โดยตรง ท้ายที่สุด ผลลัพธ์ออกมาก็ใกล้เคียงกับการเซตซีโร่ เพราะแต่ละพรรคเหลือสมาชิกไม่เท่าไหร่ นอกจากนี้ การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในอดีตไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่วันนี้ต้องเสีย ถ้าการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีการเสียเงิน คงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเข้าใจได้”

มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ช่วงปลายสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่สองของเดือน พ.ค. นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปีคดีทุจริตจำนำข้าว จะเดินทางจากเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มายังประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานบิทคอยน์ที่ทางสิงคโปร์จัดขึ้น จึงมีรายงานว่า พี่น้องและครอบครัว รวมถึงแกนนำและสมาชิกพรรคเพื่อไทย จะทยอยเดินทางไปพบนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยคาดว่า ประเด็นหนึ่งที่แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องการไปหารือนายทักษิณก็คือ การจัดแบ่งพื้นที่และการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งหน้า

มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่า การปรากฏตัวอีกครั้งของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในช่วงที่มีกระแสข่าวว่า ส.ส.ในพรรค ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น รวมถึงกลุ่มทุนที่เคยให้การสนับสนุนพรรคมาก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเชื่อว่าจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับตัวบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แม้จะมีชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ ส.ส.กทม. เป็นตัวเลือกอยู่ก็ตาม

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปพบนายทักษิณ ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า คสช. กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถทำได้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามบุคคลออกนอกราชอาณาจักรแล้ว ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิเดินทางได้ แต่ไม่ทราบว่าการปรากฎตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คน จะเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่

ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าว สามารถเอาผิดพรรคเพื่อไทยได้ โดยมีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค หากมีผู้ร้องเรียน เพราะมีลักษณะให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาครอบงำพรรค ชี้นำ หรือให้เงินทุน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็จะถูกตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งด้วย

2.พม.ไล่ออก ผอ.-หน.ฝ่ายฯ ศูนย์คนไร้ที่พึ่งขอนแก่น เซ่นทุจริตเงินคนจน ผลสอบพบ “ปลัด-รองปลัด พม.” และอีก 9 ขรก.เอี่ยวด้วย จ่อลงโทษ!
นางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น (ล่างซ้าย) นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) (ล่างขวา) นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม.
ความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เผยว่า ตามที่ พส.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงผู้บริหารศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นและเชียงใหม่นั้น ในส่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น คณะกรรมการได้สอบสวนเสร็จเมื่อวันที่ 27 เม.ย. โดยพิจารณาโทษไล่ออกนางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมรวม 2 คน และเตรียมเสนอที่ประชุมคณะอนุกรรมการสามัญ(อ.ก.พ.) ประจำกระทรวง พม.ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน ในวันที่ 4 พ.ค. เพื่อพิจารณาต่อไป หากที่ประชุม อ.ก.พ.เห็นชอบ พส.จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบทางละเมิด เพื่อคำนวณความเสียหายที่ผู้ถูกกล่าวโทษจะต้องชดใช้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาพิจารณา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

นางนภากล่าวถึงพฤติการณ์การทุจริตของ ผอ.ศูนย์และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมด้วยว่า มีการปลอมแปลงเอกสาร และการจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายไม่ครบ ซึ่งชัดเจนเรื่องการทุจริต ไม่ใช่เรื่องการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนเงินที่ทุจริตไปไหนหรือส่งให้ใครเป็นเงินทอนนั้น ผลสอบคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้ชี้ชัดว่ามีเงินทอนไปถึงบุคคลใด เพียงแต่ระบุว่าชาวบ้านได้เงินไม่ครบ คงต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงชุดใหญ่ที่สอบระดับผู้บริหาร พม. อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คนได้ถูกพักราชการไปตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการใดๆ ตั้งแต่นั้น และโทษไล่ออกจากราชการ ก็ทำให้ไม่ได้รับอะไรเลย

สำหรับพนักงานราชการอีก 2 คนของศูนย์ฯ ขอนแก่น ที่ถูกสอบวินัยไม่ร้ายแรง ขณะนี้ผลสอบยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงใหม่ คาดว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจะสรุปผลการพิจารณาโทษได้ภายในเดือน พ.ค.นี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้เป็นประธานการประชุม อ.ก.พ.ประจำกระทรวง ซึ่งที่ประชุมมีมติตามข้อสรุปของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยให้ไล่นางพวงพยอม จิตรคง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม ออกจากราชการ

นอกจากนี้ อ.ก.พ.ยังมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. พร้อมข้าราชการระดับสูงอีก 9 คน ฐานทำผิดวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง ส่วนข้าราชการอีก 15 คน ที่ถูกสอบสวนเช่นกัน พบว่าไม่มีความผิด ดังนั้นจะกันไว้เป็นพยาน

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า หลังจากนี้จะให้เวลาผู้ถูกกล่าวหา 15 วันเพื่อชี้แจง หากฟังไม่ขึ้น จะมีโทษตามระเบียบคือ ไล่ออก หรือปลดออกจากตำแหน่งข้าราชการ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลปลายเดือนนี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง 76 ศูนย์ พบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 67 จังหวัด รวมวงเงิน 129,507,000 บาท โดยพฤติการณ์ทุจริต คือ การปลอมเอกสารเบิกจ่าย, ลงลายมือชื่อปลอม, มีการแก้ไขจำนวนเงิน, ให้ลงลายมือรับเงินล่วงหน้า, มีการเวียนนำรายชื่อมาเบิกเงิน, การยักยอกเงินสงเคราะห์ โดยผู้มีรายชื่อรับเงินไม่ได้รับเงินหรือได้รับไม่ครบถ้วน ขณะที่ผู้มีรายชื่อรับเงินอุดหนุนสงเคราะห์หลายรายขาดคุณสมบัติ

ซึ่ง ป.ป.ท.ได้ส่งข้อมูลบุคคลที่ถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ พส.แล้ว 2 ครั้ง จำนวน 35 แห่ง มีผู้ถูกกล่าวหา 156 คน โดยในจำนวนนี้ มีบุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย 20 คน ส่วนที่เหลืออีก 136 คน จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

3. “บิ๊กตู่” วอนภาค ปชช.เชียงใหม่อย่าขีดเส้นแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการใน 7 วัน ส่ง “สุวพันธุ์” ลงพื้นที่หารือ 6 พ.ค.!
(บนขวา) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (บนซ้าย) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ล่าง) ภาคประชาชนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
ความคืบหน้ากรณีภาคประชาชนใน จ.เชียงใหม่คัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการและข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พร้อมเรียกร้องให้รื้อบ้านดังกล่าว ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปพูดคุยหาทางออก และส่งข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล เพื่อตัดสินใจ โดยคาดว่าจะรายงานให้นายกฯ รับทราบในวันที่ 29 เม.ย. ขณะที่ฝ่ายตุลาการยืนยันความถูกต้องในการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว แต่พร้อมให้นายกฯ เป็นผู้ตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไร ด้านเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้นัดชุมนุมเพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลทราบความต้องการอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณว่าอาจมีการตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขอีกครั้งนั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย.เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ได้ชุมนุมที่บริเวณลานประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมกว่า 2,000 คน จากนั้น นายธีระศักดิ์ ได้อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ยืนยันว่าต้องคืนผืนป่าดอยสุเทพเท่านั้น “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องตัดสินใจเร่งแก้ไขโดยด่วนทันที ให้มีการประกาศคำมั่นสัญญาจะคืนผืนป่าดอยสุเทพกลับคืน ...ขอประกาศยืนยันเจตนาอันแน่วแน่ที่จะดูแลรักษาป้องกันมิให้ผู้ใดมาทำลายดอยสุเทพ ...พวกเราจะยืนหยัดสู้ เพื่อรักษาเจตนานี้ โดยไม่ท้อถอย เราต้องการป่าดอยสุเทพที่สมบูรณ์ ไม่ต้องการป่าแหว่ง”

นายธีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เครือข่ายจะให้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ขอให้นายกฯ รีบตัดสินใจ และให้คำตอบคนเชียงใหม่โดยเร็ว

ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ได้สำรวจว่า คนไทยคิดอย่างไรกับโครงการสร้างบ้านพักตุลาการศาลบริเวณดอยสุเทพ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.20 เห็นว่าการสร้างบริเวณดอยสุเทพไม่เหมาะสม เพราะเป็นการทำลายป่าไม้ ทำลายธรรมชาติ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปใช้ทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.84 ยังเห็นด้วยกับการรื้อถอนบ้านพักตุลาการบริเวณดอยสุเทพออกทั้งหมด

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยื่นคำขาดให้นายกฯ แก้ปัญหาบ้านพักตุลาการใน 7 วันว่า ตนเองไม่สบายใจและกังวลใจมาตลอด ขอร้องว่าอย่าใช้คำว่ายื่นคำขาดเลย เพราะรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่แล้ว และว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานโดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ลงไปพูดคุย ทราบว่ามีผลการพูดคุยในทางที่ดี

ขณะที่นายสุวพันธุ์เผยในวันต่อมา 2 พ.ค.ว่า วันที่ 6 พ.ค.นี้ จะลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะให้ผู้ตรวจประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการหารือกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน และจะพยายามให้ได้ข้อยุติในวันนั้นเลย แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากต้องมีการหารือกันก่อน “การไปหารือไม่ใช้การรับฟังความเห็น เพราะที่ผ่านมา รับทราบข้อเสนอแนะครบถ้วนแล้ว รวมถึงรับรู้ความเห็นของประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียจำนวนมากแล้ว มีความเห็นที่หลากหลาย แต่การหารือครั้งนี้ จะเป็นการพูดคุยในภาคปฏิบัติว่าจะทำเรื่องใดก่อนหลัง แต่ยังไม่สามารถพูดตรงนี้ได้ว่ามีอะไรบ้าง”

นายสุวพันธุ์เผยด้วยว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ และเชื่อว่า เรื่องนี้จะจบด้วยความรวดเร็ว แต่ในการหารือวันที่ 6 พ.ค. บางเรื่องอาจได้ข้อสรุป แต่บางเรื่องอาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก “ไทยคู่ฟ้า” ได้เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพเมื่อวันที่ 1 พ.ค. โดยมีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 2 หมื่นความเห็น และมียอดแชร์กว่า 6,300 ครั้ง ซึ่งความเห็นที่ออกมาหลากหลาย มีทั้งสนับสนุนให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ต้องการให้ป่ากลับมาเป็นเหมือนเดิม และเสนอให้ดำเนินการกับผู้ที่เซ็นอนุมัตโครงการ รวมถึงให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแหล่งศึกษาพืชพันธุ์และป่าไม้เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติ

ด้านนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ออกมายืนยันข้อเสนอเดิมคือ ขอป่าคืนกลับมาดังเดิม และอย่าไปรุกเพิ่ม “การจะได้ป่าคืน มันจะต้องรื้อเอาสิ่งก่อสร้างออกไป ไม่อย่างนั้นป่าจะไม่ฟื้น และเราเข้าไปฟื้นฟูไม่ได้ สู้คืนป่า ยอมเจ็บตอนนี้ ตัดไปเลย 500-600 ล้านบาท เราก็รื้อหลังคา รื้อหน้าต่าง อุปกรณ์ออกมา ก็จะเหลือแค่โครงสร้างกับถนน แค่คืนป่าให้ จบเลย เราไม่ต้องการทะเลาะกับสำนักงานศาลหรือใครทั้งสิ้น คนเชียงใหม่ขอป่าคืนมา”

นายธีระศักดิ์ ย้ำด้วยว่า เราขอให้รื้อ ไม่จำเป็นต้องรื้อวันพรุ่งนี้หรืออาทิตย์หน้า ขอแค่ว่า เรามาทำข้อตกลงร่วมกัน ประกาศเลยว่า ส่วนที่ล้ำแนวป่าดั้งเดิม คือ คอนโดมิเนียม 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง จะไม่มีข้าราชการเข้าไปใช้งาน ตัดน้ำ ตัดไฟ เอารั้วมากั้นไว้เลย ห้ามคนไปอยู่ เอาแค่นี้ก่อน ส่วนผู้รับเหมาให้เข้าไปทำงานกลางวันได้ เอาให้จบส่งงวดสุดท้าย ไม่มีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องกันแล้ว เราก็ว่ากัน จะรื้อไม่รื้อ รัฐบาลกับประชาชนมาคุยกัน

4.คกก.สรรหาเคาะ 5 ว่าที่ กกต.แล้ว เตรียมชง สนช.สอบประวัติ 10 พ.ค.!
โฉมหน้า 5 ว่าที่ กกต. ที่คณะกรรมการสรรหาลงมติคัดเลือก เพื่อเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาเป็นรอบที่สอง หลังจาก 5 ว่าที่ กกต.ชุดแรกไม่ได้รับความเห็นชอบจาก สนช.
เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน และได้เรียกบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวม 24 คนเข้าแสดงวิสัยทัศน์ ก่อนพิจารณาและลงมติเลือกผู้เหมาะสมจำนวน 5 คน เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้ความเห็นชอบ

สำหรับผู้ได้รับคัดเลือก 5 คน ประกอบด้วย 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ 4.นายพีรศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด และ 5.นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ จะส่งทั้ง 5 รายชื่อดังกล่าวให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. พิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิป สนช.) เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช. ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ เพื่อเริ่มขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ก่อนจะนำกลับมาให้ที่ประชุม สนช. ลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่

ส่วนบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้แต่งตั้งเป็น กกต. อีก 2 คน ที่มาจากสายศาลนั้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติยืนยันส่งชื่อเดิมที่ สนช.เคยมีมติไม่ให้ความเห็นชอบในรอบที่แล้ว คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

5.ศาลพิพากษาประหาร 6 มือระเบิดปัตตานีปี 59 จำคุกตลอดชีวิตอีก 3 !
10 ผู้ต้องหาคดีวางระเบิดหลายจุดใน จ.ปัตตานี
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำทีมผู้เกี่ยวข้องแถลงข่าวกรณีศาลจังหวัดปัตตานีมีพิพากษาลงโทษ 10 ผู้ต้องหาคดีระเบิดเมืองปัตตานี โดยระบุว่า คดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมะซัน หรือฮากิบ สาและ กับพวกรวม 10 คน ในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ก่อให้เกิดระเบิด ความผิดต่อชีวิตทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน จากกรณีคนร้ายลอบวางระเบิดร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม หน้าตลาดโต้รุ่ง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.59 ระเบิดร้าน JP เฟอร์นิเจอร์ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 ระเบิดเรือประมง 2 ลำ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.59 ระเบิดหน้าร้านศรีปุตรีข้างมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.59 และขยายผลตรวจยึดอาวุธปืนพก และอุปกรณ์ประกอบระเบิดหลายรายการ รวม 6 คดี โดยเหตุทั้งหมดเกิดในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีในเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2559

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดปัตตานี ได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 10 คน โดยพิพากษาประหารชีวิต 6 คน ประกอบด้วย นายอิบรอเฮง ยูโซ๊ะ นายอัมรีย์ ลือเย๊าะ นายสันติ จันทรกุล นายอายุบ เปาะลี นายอิสมาแอ ตุยง และนายนิรอนิง นิเดร์ จำคุกตลอดชีวิต 3 คน ประกอบด้วย นายมะซัน สาและ นายอับดุลเลาะ หะยีอูมาร์ และนายรูสรัน แวหะยี โดยจำเลยทั้ง 3 คน ให้การที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ศาลจึงลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต สวนจำเลยอีก 1 คน คือ นายฮามิด เจะมะ ศาลพิพากษาจำคุก 39 ปี 12 เดือน

พ.อ.ปราโมทย์กล่าวด้วยว่า พฤติกรรมของจำเลยทั้ง 10 คน ได้ร่วมกันก่อเหตุถึง 6 คดี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้รับบาดเจ็บกว่า 20 ราย และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้ง 10 คน ยังมีสิทธิ์ยื่นขออุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น