xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มมิตรผลสุดปลื้ม! ดัชนีความสุขชาวไร่อ้อย ในโครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข สูงถึง 80%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรรณิกา ว่องกุศลกิจ
กลุ่มมิตรผลยืนยันมุ่งสานต่อทุกมิติของความสุขให้เกษตรกรไทยพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เพราะ “อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่สามารถประสบความสำเร็จและมีความสุขได้ไม่แพ้อาชีพอื่น” คำกล่าวเกษตรกรรายหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ตลอดทั้งปี
ผลลัพธ์แห่งความสุขนี้มาจากการเก็บข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และทำวิจัยประเมินผลโครงการฯ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แปรผลเป็นตัวเลขดัชนีความสุขในครัวเรือนในภาพรวมที่สูงถึง 80% โดยมีคะแนนความสุขในด้านจิตใจสูงที่สุด ตามด้วยความสุขในด้านสุขภาวะ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจตามลำดับ
ดัชนีตัวเลขเหล่านี้จึงสะท้อนถึงความสุขของพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่กับการทำไร่อ้อย การนำองค์ความรู้จากปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น การจัดสรรที่ดิน การทำพิมพ์เขียว การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ การทำบัญชีฟาร์ม มาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม ทำให้สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปีจากกิจกรรมการเกษตรที่หลากหลาย เกิดเป็นความสุขบนความพอเพียง อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และความสุขให้กับเพื่อนเกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วย
จากผลลัพธ์แห่งความสุขในภาพรวมที่สูงถึง 80% นี้ ประกอบด้วยค่าผลลัพธ์แห่งความสุขด้านจิตใจที่สูงถึง 84% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำเกษตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเข้าใจในการใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันเมื่อเกษตรกรได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัย จึงเกิดเป็นผลลัพธ์แห่งความสุขด้านสุขภาวะที่ 80% ต่อมาเมื่อมีผลผลิตเหลือจากการบริโภค จึงได้แบ่งปันอาหารในชุมชน รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ก่อเกิดความสัมพันธ์อันดีในชุมชน เป็นที่มาของผลลัพธ์แห่งความสุขด้านสังคมที่ 77%
นอกจากนี้ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ยังส่งผลให้เกษตรกรทำเกษตรได้อย่างหลากหลาย ระบบนิเวศเกิดความสมดุล ประกอบกับการส่งเสริมวิถีการทำเกษตรอินทรีย์จากโครงการฯ จึงส่งผลเป็นผลลัพธ์แห่งความสุขด้านสิ่งแวดล้อม 76% และเมื่อสามารถผลิตอาหารได้เอง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดหาสารบำรุงพืช บำรุงดิน เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่าย และมีรายได้เสริมจากกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ นอกเหนือจากการปลูกอ้อย สะท้อนเป็นผลลัพธ์แห่งความสุขด้านเศรษฐกิจที่ 74% ตามลำดับ
“กลุ่มมิตรผลรู้สึกภูมิใจที่ความตั้งใจของเราในการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งต่อความสุขให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไทยได้สร้างผลลัพธ์แห่งความสุขที่เป็นรูปธรรมภายใต้แนวคิด ‘ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ’ ตัวเลขดัชนีความสุขในครัวเรือนของเกษตรกรนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าพี่น้องชาวไร่อ้อยและชุมชนในโครงการฯ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และเกิดเป็นความสุขในทุกมิติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กรรณิกา ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน กล่าว

ชริพันธ์ สุขยิ่ง เกษตรกรรุ่นใหม่จากไร่สุขยิ่ง

ผลผลิตปลอดสารจากไร่สุขยิ่ง
ขณะที่เกษตรกรในโครงการอย่าง ชริพันธ์ สุขยิ่ง เกษตรกรรุ่นใหม่จากไร่สุขยิ่ง จังหวัดสุพรรณบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้เคยทำงานในเมืองเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป แต่เนื่องจากคุณพ่อมีปัญหาด้านสุขภาพจึงทำให้คิดที่จะกลับมาช่วยครอบครัวดูแลไร่อ้อย พร้อมกับได้ริเริ่มปลูกผักปลอดสารโดยแบ่งพื้นที่ไร่อ้อยของคุณพ่อประมาณ 5 ไร่ มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ทั้งลงมือปฏิบัติ และต่อมายกระดับเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในโครงการ ‘ทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข’ กับกลุ่มมิตรผล โดยได้รับการถ่ายทอดแนวคิดและแนวปฏิบัติในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มเติมจากการอบรม ทำให้สามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลผลิตปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือน สมาชิกในครอบครัวสุขภาพดีขึ้น นอกเหนือจากการทำไร่อ้อยซึ่งเป็นรายได้หลักรายปีแล้ว ยังได้ต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มจากผลผลิตผักปลอดสารด้วยการแปรรูป เช่น สลัดโรลปลอดสาร มะเขือเทศปลอดสาร และน้ำเก๊กฮวยปลอดสาร เป็นต้น อีกทั้งยังมีความสุขจากการได้แบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนๆ เกษตรกรในชุมชนด้วยกัน เกิดเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ในจังหวัดสุพรรณบุรีที่ถ่ายทอดการทำเกษตรแบบยั่งยืนให้กับคนในชุมชน ส่วนแผนการในอนาคต ก็ต้องการจะส่งต่อความสุขด้วยการเปิดไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือเปิดร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบปลอดสารจากไร่ เพื่อส่งต่อสุขภาพดีให้กับผู้อื่นต่อไป”

พรทิพย์ ทองหล่อ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ  จากจังหวัดสิงห์บุรี
ด้าน พรทิพย์ ทองหล่อ เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ จากจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า “แต่เดิมเคยประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนจะหันมาทำนาและได้เปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งมีรายได้หลักประจำเป็นรายปี แต่เมื่อได้ลองแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ทำสวนเกษตรผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความคิดแรกที่อยากจะมีวัตถุดิบปลอดสารเพื่อสุขภาพไว้บริโภคในครัวเรือน ทำให้มุ่งมั่นพัฒนาการทำเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด อีกทั้งยังได้รับองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกรในชุมชนผ่านการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรโครงการ ‘ทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข’ เช่น การปรับปรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก ทำให้วันนี้ไร่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรไทยปลอดสารคุณภาพดี เช่น ตะไคร้ ที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ ชาตะไคร้ ลูกประคบสมุนไพร เป็นต้น ช่วยสร้างรายได้เสริมเพิ่มขึ้น”
กว่า 3 ปี ของการร่วมสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร ผ่านโครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข กลุ่มมิตรผลได้ถ่ายทอดแนวคิดการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ควบคู่กับการทำไร่อ้อย ร่วมกับปราชญ์ในชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนคุณครูผู้จุดประกายและให้ความรู้ ปัจจุบัน มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 8,000 ราย และศูนย์ปลูก เพ(ร)าะ สุขกว่า 100 แห่ง ร่วมกันปลูกเพ(ร)าะเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตเป็นผลลัพธ์แห่งความสุข 5 ด้าน ที่สัมผัสได้จริง
ต่อจากนี้โครงการฯ จะยังคงเดินหน้าสร้างความสุขที่ยั่งยืนต่อไปผ่านการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรและยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและราคาผลผลิตให้กับเกษตรกร พร้อมขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับชาวไร่อ้อยในกลุ่มมิตรผลทั้งหมดกว่า 40,000 ราย เพื่อส่งต่อความสุขที่ยั่งยืนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไป