โลกวันนี้อยู่ยากจริงหรือไม่? ทำไมโลกวันนี้จึงอยู่ยาก? แล้วทางออกคืออะไร? แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ให้มุมมองและคำตอบ
หลายคนอาจมองว่าโลกในวันนี้ “อยู่ยาก” ดังนั้น การอยู่กับโลกในวันนี้ต้องมองการแก้ปัญหาอย่าง “ตรงจุด” เพราะหลายคนมักจะมองให้โลกเป็นดั่งใจเขา แต่โลกไม่ได้เป็นอย่างใจเขา เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองโลกอย่างที่โลกเป็น แล้วรู้สึกว่าโลกอยู่ยาก เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมมันได้ยาก เลยทำให้ต้องมา “ตั้งหลัก” กันใหม่ โดยถามว่าจะอยู่กับโลกอย่างไร อย่างคนที่เป็น “นักแก้ปัญหา” ให้ดูว่าปัญหาเป็นเรื่องที่ทำให้เรา “คมขึ้น” ได้หรือไม่ ไม่ใช่ทำให้เรารู้สึก “อ่อนแอ” แต่ปัญหากลับกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายให้เรามีวิธีการ “คิดใหม่” กับสิ่งที่ไม่เป็นดั่งใจเรา ถ้าเราเข้าใจศักยภาพความเป็นมนุษย์ว่าเราเป็นนักแก้ปัญหา เพราะสังคมมนุษย์สอนให้เราเป็น “ผู้แข่งขัน” เพื่อให้เราเติบโต
การที่ในวันนี้ “โลกอยู่ยาก” สำหรับบางคนอาจจะจริง แต่หลายคนไม่จริง หลายคนเลือกจะเป็นมนุษย์ “พันธุ์ขี้เกียจ” และ "ไม่พัฒนา” ตัวเองให้เป็นนักแก้ปัญหา หลายคน “ยอมจำนน" เลยกลายเป็นคน “หนีปัญหา”
ที่จริงโลกก็เป็นไปตาม “วิถี” ของมัน สำหรับคนที่เป็น “นักสู้” จะคิดว่าโลกวันนี้ทำให้เรา “คมขึ้น” เหมือนหินลับมีด ถ้าเราฟันปัญหาได้ เราจะไม่มองว่าอยู่ยากเลย เพราะคนมองต่างกัน “คุณแม่มองว่า โลกวันนี้กำลังสนุก เพราะมองว่าการแก้ปัญหาเป็นการวัดหรือประเมินศักยภาพทางปัญญาของเรา ถ้าเรามีปัญญามาก ปัญหาก็เป็นเหมือนปุ๋ยที่ทำให้เราเติบโต แต่ถ้าเราเป็นมนุษย์พันธุ์ขี้เกียจ เราไม่อยากแก้ปัญหา ปัญหาก็กลายเป็นภาระ”
“อยู่กับเราที่มองด้วยสัมมาทิฐิหรือปัญญาหรือไม่ อยู่กับโลกที่ว่ายากอย่างคนที่มีปัญญาให้มาก ของยากก็ง่ายเป็นปาฎิหาริย์”
เคยถามตัวเองเมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้าหรือไม่ว่า คุณตื่นขึ้นมาด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมอย่างมีกุศลเจตนา ในการที่จะใช้ชีวิตของคุณอย่างคนที่พร้อมจะแก้ปัญหาหรือเปล่า?
ถ้าคุณตั้งคำถามเป็น คุณก็จะดำเนินชีวิตในแต่ละขณะอย่างมี “กุศลเจตนา” ประคับประคองว่าอะไรเกิดขึ้นมันไม่มีบังเอิญ อะไรเกิดขึ้นมันเป็น “ความท้าทาย” อะไรเกิดขึ้นเราจะผ่านไปให้ได้ ยากเท่าไรก็ไม่ยอมจำนน แม้จะยอมรับมัน เราจะแก้ปัญหานั้นอย่าง “ไม่ยอมจำนน” เท่านี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว
ที่จริงโลกเปลี่ยนทุกวัน แต่คุณไม่เคยเปลี่ยนแปลงตัวเองเลย เราต้องตื่นขึ้นมาด้วยเจตนาว่าเราจะต้องคมขึ้น โลกก็จะอยู่ง่ายขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีความฉ้อฉล ผิดศีลธรรม มีค่านิยมประหลาดๆ เช่น อยากได้เงินง่ายๆ แต่เป็นเพียงส่วนน้อย เพราะการได้มาง่ายนั้นมีความเสี่ยงที่หากเกิดขึ้นก็จะสูญเสียอย่างมาก
คุณแม่คิดว่า “เราเลือกได้” มันขึ้นอยู่กับเรา ชีวิตเป็นสิ่งที่เราเลือกว่าเราจะอยู่ตรงไหน จะทำอะไร ทำอย่างไร ควรจะ”ตั้งเป้าหมาย”เอาไว้ เพื่อให้ก้าวแต่ละก้าวสามารถพาไปถึงเป้าหมายนั้น ถ้าเราไม่เคยตั้งเป้าหมายเลยว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร? มันก็ไหลไปสู่ความไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้ง่าย โดยธรรมชาติของจิตที่ไม่ได้ฝึกจะไหลลงสู่ที่ต่ำ มีเหตุผลข้างๆ คูๆ หรือในที่สุดก็มีเหตุผลอ้างว่าเขาก็เป็นกันอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่า “เราเลือกที่จะเป็นอย่างไร”
ในวิธีการที่เราเลือก มันจะทำให้เรารู้จักการประมาณในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภค การหาสังคมที่เราอยู่ เราจะเห็นว่าการใช้ชีวิตของเรา เราจะสอดส่องว่า ตาเราจะเห็นอะไร หูเราจะได้ยินอะไร ถ้าเรากำลัง “หลอกตัวเอง” ว่าเราต้องเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ตาเราก็อยากเห็นคนที่ยอมรับเรา หูเราก็อยากได้ยินเสียงคนสรรเสริญเรา แต่ถ้าเราเลือกที่จะเป็นคนที่ “เห็นคุณค่า” ของตัวเอง เราก็จะไม่นำชีวิตของเราไปยุ่งเกี่ยวกับราคาที่คนอื่นให้ แต่เราจะเป็นคนที่พัฒนาคุณค่าด้านใน เพราะเราเลือกที่จะมีแสงสว่างแห่งปัญญา ในการที่จะจัดการชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะในการที่จะขัดเกลาตัวเราให้เกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่โลกกำลังเชียร์ให้มี
เมื่อเรามีศรัทธาในการ “ขัดเกลา” ตัวเราให้มีความสามารถในการอยู่กับโลกอย่าง “พ้นได้” พ้นจากวิกฤตที่กำลังสะท้อน “ความจริง” ว่า เมื่อโลกนี้มี “ความเห็นแก่ตัว” สังคมของการอยู่ร่วมกันก็มี”ความหวาดระแวง” เรายิ่งต้องอยู่ในสถานะที่มีสติปัญญาในการ “เฝ้าระวัง” และมีชีวิตอยู่ด้วยการ “รู้จักประมาณตน” หรือการ ”ภาวนา” เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น
"การภาวนา" คือ "การพัฒนา" โลกนี้มีไม่เกิน 4 ภาวนา “กายภาวนา” เป็นการฝึกอบรมกาย ให้กุศลธรรมงอกงาม ให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญ “สีลภาวนา” เป็นการพัฒนาความประพฤติ การฝึกอบรมศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อนเสียหาย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ด้วยดี เกื้อกูลแก่กัน “จิตภาวนา” เป็นการพัฒนาจิต การฝึกอบรมจิตใจ ให้เข้มแข็งมั่นคง เจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา ขยันหมั่นเพียร อดทนมีสมาธิ และสดชื่น เบิกบาน เป็นสุขผ่องใส และ“ปัญญาภาวนา” เป็นการพัฒนาปัญญา การฝึกอบรมปัญญา ให้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง รู้เท่าทัน เห็นโลกและชีวิตตามสภาวะ การมีสติสัมปชัญญะ ไม่ประมาท แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยปัญญา เมื่อทำได้คนๆ นั้นจะ “คม” สามารถ “ตัด” ปัญหาท้าทายได้ทุกอย่าง และอยู่กับโลกอย่าง “พ้นโลก”
ในขณะที่เราพูดคุยกัน เราสื่อสารกัน เราตั้งคำถามให้ใฝ่ดีใฝ่รู้ รู้จักนำ “ความท้าทาย” นี้ มาขัดเกลาตัวเราให้ “คม” ในสถานการณ์ที่ท้าทายว่าโลกอยู่ยากจริงหรือ? ซึ่งไม่จริงเลย สำหรับบางคนโลกอยู่ง่ายขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะมันทำให้เราเห็นว่าถ้าเราไม่ฝึกฝน ถ้าเราไม่ภาวนาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เราจะไม่สามารถอยู่กับโลกอย่างเหนือโลก หรือตอบคำถามท้าทาย
ถ้าตั้งคำถามไม่เป็น ตอบไม่ได้ ก็ให้คนอื่นไม่เป็นด้วย แต่เมื่อเราคิดจะเริ่มตั้งคำถาม ตื่นตอนเช้าเราบอกตัวเองเลยว่า ชีวิตไม่ได้มีของฉัน โลกนี้ไม่ใช่ของฉัน เมื่อมีเวลาที่ความตายเดินมาถึงเรา แต่เราจะอยู่อย่างไรที่ไม่ตายทั้งเป็น เพราะเดี๋ยวเราก็ต้องไปแล้ว เพราะฉะนั้น การอยู่ของเราแต่ละก้าว ในทุกลมหายใจ ทุกความคิด ทุกการกระทำ ทุกคำพูด เราจะทิ้งมรดกอะไรไว้ ในฐานะที่เราอยู่ในฐานะที่ให้มรดกได้
ในช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต ความเข้มแข็งของเราในการให้คือให้คนอย่างคนที่พึ่งตัวเองได้ และให้คนอื่นเป็น การให้ของเราไม่ทำลายศักยภาพการเรียนรู้ของคนที่เราเข้าไปให้ คุณคิดที่จะได้หรือคุณคิดที่จะให้? ถ้าคุณคิดที่จะได้คุณก็ต้องทำตัวอย่างที่คนอื่นอยากให้คุณเป็น แต่ถ้าคุณคิดที่จะให้คุณก็ต้องโดดเด่นขึ้นมาเพื่อจะให้โลกได้ ถ้าเลือกที่จะให้ ก็ต้องคิดว่าจะให้อย่างไรที่จะไม่ผลักคนตกเหว ไม่ทำลายการเรียนรู้ของผู้รับหรือไม่ทำให้การเรียนรู้ของคนรับไม่เติบโต
การฝึกตั้งคำถามกับตัวเองจะทำให้เรา “ไม่งอมืองอเท้า” การตั้งคำถามเป็นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อประโยชน์อะไร? ก็เพื่อทำให้เรา “พึ่งตัวเองได้ ให้คนอื่นเป็น” เพราะเราก็จะลุกขึ้นมาขวนขวายและเปลี่ยนจากการได้อะไร เป็นให้อะไร และเมื่อเราตั้งคำถามบ่อยๆ จะทำให้เราเกิดปัญญาในการจัดการ ในการตอบคำถามที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นคำถามจริงๆ ที่ชีวิตจะต้องตอบให้ได้ ว่าการเกิดของคุณได้ทำให้โลกนี้ผาสุกงดงามตามการกระทำของคุณอย่างไรได้บ้าง?
ถ้าคุณมีปัญญาในการตั้งคำถาม คุณก็ใช้การท้าทายตนเองที่จะตอบคำถามอย่างมีปัญญา ใช้ชีวิตอยู่กับโลกอย่างที่โลกเป็น และใช้กรณีศึกษาให้เป็นไปเพื่อเอาตัวเองให้รอดจากการไม่ขวนขวาย ไม่ดิ้นรน มักง่ายไปกับการไม่ให้เกียรติตัวเองด้วยการตั้งประเด็นที่ตัวเองตอบว่า “ฉันทำไม่ได้หรอก” เพราะบางครั้งคนเราไม่รู้ว่ากำลังหลอกตัวเอง หรือเข้าข้างตัวเอง
จะเห็นว่านักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จผ่านการแก้ปัญหาอย่างคนที่ใช้ปัญญา เขามองว่าการแก้ปัญหา การถูกปฏิเสธ การไม่ได้รับการยอมรับ กลับเป็นความท้าทาย เป็นแรงเสียดทาน ดังนั้น เขามีศรัทธาอย่างคนที่จะอยู่อย่างไม่รอคอยว่าใครต้องให้เขา แต่เขาบอกตัวเองว่า จากการที่เขาสามารถเป็นคนที่พึ่งตัวเองได้ แก้ปัญหาเป็น เขาจะเห็นศักดิ์ศรีของความเป็นผู้ให้ เหตุการณ์น้ำท่วมที่อุบลฯ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รอคอย ดูคุณยายที่ขอแค่กระทะใบเดียว ของอย่างอื่นก็เป็นภาระด้วยซ้ำไป
การ “อยู่ยาก” หรือ “อยู่ง่าย” ขึ้นกับการเลือกสังคมของเราด้วย การไม่เลือกเอาเวลาไปอยู่กับสิ่งไร้สาระ เพราะโลกมีความไร้สาระอยู่รอบๆ เรา มันจึงง่ายในการที่เราจะ “เลือก” หรือ “สืบค้น” ในสิ่งที่เราเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ทำให้เราเสียเวลา เสียประโยชน์ แต่เป็น “โอกาส” ที่เราจะ “เข้มแข็ง” ขึ้น เหมือนเรา “เข้มงวด” กับตัวเรา