เคยสังเกตมั้ยว่า สองสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราโดยเราจะไม่รู้ตัวคือ ความตาย และความโง่เขลา
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์สามารถประเมินคนรอบตัวว่า คนนั้นเก่ง คนนี้ดี อย่างรวดเร็วง่ายดาย แต่ใช้เวลาค่อนชีวิตกว่าจะรู้ว่าอะไรที่ดีกับชีวิตของเราจริง ๆ
บางคนมองตัวเองว่าฉลาด บางคนไม่มั่นใจในตัวเองเอาซะเลย แต่เป็นไปไม่ได้ที่ตั้งเต่เกิดมาจนปัจจุบันเราจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรา จากการเห็น ได้ยิน เจอเอง การยึดมั่นถือมั่นความความคิดตัวเองโดยมาจากเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่ทำให้เราได้ใช้ความฉลาดของตัวเอง เพราะทำให้เราขาดการเรียนรู้ต่าง ๆ อีกมาก ที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง คนอื่นมากขึ้น
สังคมมนุษย์นิยมคนเก่ง ซึ่งคำว่า "เก่ง" หรือ "ดี" เป็นคำที่กว้างมาก เป็นไปได้ว่า กว้างเกินกว่าที่ความสามารถของมนุษย์จะนิยาม ผิดของเราก็ไม่เหมือนผิดของคนอื่น ถูกของเราก็ไม่ได้ถูกใจของทุกคน ดังนั้นหากเราเข้าใจให้ลึกลงไปอีกของการประเมินคนอื่น สิ่งรอบตัว จะดีไม่น้อยเลย ในการช่วยการบริหารงานของเราและพัฒนาชีวิต
ค่านิยมของคนสมัยนี้ เรานิยมคนดี คนเก่ง คนดัง คนประสบความสำเร็จ เพราะกว่าจะได้มาต้องใช้ความสามารถ ครอบครัวต่าง ๆ พยายามอบรมลูกให้เป็นคน "ขยัน" "เป็นคน "เก่ง" หากเรียนไม่เก่งก็ขอให้เป็นคนดี
Angela Lee นักจิตวิทยาที่ผันตัวมาเป็นคุณครูสอนคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ได้สังเกตจากการสอนเด็กเกรด 7 ว่า เด็กนักเรียนที่สอบได้คะแนนมากเทียมเมฆ ไม่จำเป็นต้องมีไอคิวสูงล้ำ และเด็กฉลาดดหลายคนชีวิตก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก ในขณะที่ก็มีเด็กบางส่วนที่เรียนก็เก่ง ชีวิตก็ดี ได้ทำงานที่ตัวเองรักและพัฒนาชีวิตไปเรื่อย ๆ อย่างมีความสุข
อะไรที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จในชีวิต และมีความสุข
คำตอบที่ได้นั้นคือ ความเพียร (Grit)
การเรียนในสิ่งที่หนักและเข้าใจยาก ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ ภาษา หรือแม้แต่ศิลปะ อาจารย์ Angela Lee ให้ความคิดว่า จริง ๆ นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จนไปสู่ระดับเก่ง หากตัวนักเรียนมีระบบความคิดที่ถูกต้องและมีความพยายามให้หนักและนานพอ
ความเพียร คือการฝักใฝ่ ทุ่มเท ทรหด อดทน มุ่งมั่นที่จะไปข้างหน้า ไม่เพียงแค่สัปดาห์ ไม่เพียงแค่เดือน แต่เป็นปี และทำมันอย่างหนัก เพื่ออนาคตที่ฝันจะเป็นจริง การเพียรคือการใช้ชีวิตแบบมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น ในแง่ของการศึกษาเรามักให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยที่โรงเรียน ว่าเป็นเครื่องวัดสติปัญญา เด็กสอบได้อันดับต้น ๆ ในห้อง มักได้รับการเชิดหน้าชูตา โดยจริง ๆ แล้ว เด็กหลายคนที่ได้เกรดสูงๆ ก็สอบเข้าคณะที่สำคัญกับชีวิตเขาไม่ได้ ด้วยสาเหตุที่เด็กไม่กล้า "เพียร" มองแล้วหนักเกินไป เหนื่อยแน่ ๆ ท้ายที่สุดจึงไปเรียนสาขาที่เข้าง่าย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่มีใจรัก
หากเรียนในสิ่งที่ใจรัก มันจะผลักดันให้เด็กมีความบากบั่น อดทน แข็งแรงทางความคิดไปเรื่อย ๆ จนวันที่เด็กเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ อุปสรรคในชีวิตเด็กเหล่านี้จะรับมือได้ ในอนาคตที่เขาประสบความสำเร็จมากๆโดยไม่มีเรา
เด็กที่มีความเพียรมากกว่ามีแนวโน้มมากกว่าที่จะประสบความสำเร็จ มีความสุขในบั้นปลายชีวิต
รายได้ครอบครัว ความรู้สึกของเด็กเองถึงความปลอดภัย ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในระยะยาว
แต่คนรู้จักความเพียรน้อยไป เราพยายามเพาะบ่มให้ลูกเป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนสะอาด เป็นมิตร แต่เราอาจลืมเพาะบ่มให้ลูกเป็นคนเพียรหรือเปล่า เพราะความเพียรคือสิ่งที่จะสร้างชีวิตที่แข็งแรงให้เค้าในระยะยาว และสิ่งที่น่าสนใจคือ ความอัจฉริยะ ไม่ได้สร้างความเพียรเสมอไป คนมีพรสวรรค์มากมาย ไม่ทำภาระผูกพันธ์ของตนให้บรรลุผล นักวิทยาศาสตร์พบว่า พรสวรรค์บางทีสวนทางกับความเพียรด้วยซ้ำ
Carol Dweck นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้พัฒนาความคิดว่า ความสามารถในการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัวและปรับเปลี่ยนไปตามความพากเพียรของคุณเอง สมองจะมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตตามความเพียร
คนเพียรจะเป็นไปได้สูงที่จะบากบั่น เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าความล้มเหลวเป็นสภาพที่ถาวร
โลกเราไม่ได้ต้องการคนเก่ง คนรวย มีพรสวรรค์ แต่โลกใบนี้ต้องการคนพากเพียรไม่ย่อท้อ อดทน คิดริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาสังคมและมนุษย์ต่อไป
ครูฮ้วง
-----------------
ครูฮ้วง-เสาวลักษณ์ ลี้รุ่งเรืองพร เจ้าของสถาบัน Campus Genius Center ผู้สอนหลักสูตรติวเข้มเพื่อการสอบ SAT ด้วยแนวคิดแบบ Critical Thinking ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถยื่นคะแนนเข้าเรียน และประสบความสำเร็จในการเรียนคณะอินเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ