xs
xsm
sm
md
lg

โลกธรรม 8 : สัจธรรมประจำโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


ตามนัยแห่งคำสอนของศาสนาพุทธ ความจริงซึ่งมีอยู่คู่กับโลกคือ หมู่สัตว์เรียกว่า โลกธรรมมีอยู่ 8 ประการคือ

1. มีลาภ 2. เสื่อมลาภ 3. มียศ 4. เสื่อมยศ 5. สรรเสริญ 6. นินทา 7. สุข 8. ทุกข์
ใน 8 ประการนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ

1. ฝ่ายดีหรือฝ่ายกุศล ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข

2. ฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายอกุศล ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

โลกธรรม 8 ประการนี้ เกิดขึ้นได้และเสื่อมสลายไปได้
ส่วนว่าการเกิดขึ้น และเสื่อมสลายไปจะเกิดขึ้นกับใคร และเมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย 2 ประการดังต่อไปนี้

1. การประกอบกุศลกรรม และอกุศลกรรมในปัจจุบัน

2. ผลแห่งกุศลกรรม และอกุศลกรรมในอดีตชาติตามมาให้ผลในปัจจุบัน

ปัจจัย 2 ประการข้างต้น มีอรรถาธิบายขยายความดังต่อไปนี้

ปัจจัยข้อที่ 1 หมายความว่า โลกธรรมฝ่ายกุศลคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ปุถุชนคนมีกิเลสแสวงหาเพื่อให้ได้มาเป็นของตนหรือเกิดขึ้นกับตน เป็นผลของการประกอบกุศลกรรมทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต

ส่วนโลกธรรมฝ่ายไม่ดีหรือฝ่ายอกุศล ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์เกิดจากการประกอบอกุศลกรรม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจที่เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต

ปัจจัยข้อที่ 2 หมายความว่า โลกธรรมฝ่ายกุศล อันมีลาภ เป็นต้น เกิดจากผลของกุศลกรรมในอดีตชาติ โดยที่บุคคลผู้ได้รับมิได้กระทำกุศลกรรมใดๆ ในปัจจุบัน

ส่วนโลกธรรมฝ่ายอกุศล มีการเสื่อมลาภเป็นต้น เกิดจากผลของอกุศลกรรมในอดีตชาติ โดยที่บุคคลผู้เสื่อมลาภ เป็นต้น มิได้กระทำอกุศลกรรมใดๆ ในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ ถ้าท่านผู้อ่านได้เห็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ลาภ ได้ยศ เป็นต้น โดยที่บุคคลนั้นมิได้ประกอบกุศลกรรมใดๆ ในปัจจุบัน ก็พึงเข้าใจว่านั่นเป็นเพราะกรรมเก่าฝ่ายกุศลให้ผล ในทางกลับกัน ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมีลาภ มียศ และภายหลังเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นต้น โดยที่เขาผู้นั้นมิได้ประกอบอกุศลกรรมใดๆ ในปัจจุบัน ก็พึงเข้าใจว่านั่นเป็นเพราะผลแห่งอกุศลกรรมในอดีตชาติตามมาให้ผล

เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะเห็นจากเรื่องของพระเจ้าทัฬหเนมิ ซึ่งมีที่มาปรากฏในจักกวัตติสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 11 ทีฆนิกาย ปฏิกวัคค์ มีเนื้อความโดยย่อดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ นครมาตุลา แคว้นมคธ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้พึ่งตนพึ่งธรรม และเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้วตรัสเล่าเรื่องรัตนะ 7 ประการของพระเจ้าทัฬหเนมิ คือ

1. จักร (ลูกล้อรถ) แก้ว (จักกรัตนะ)

2. ช้างแก้ว (หัตถิรัตนะ)

3. ม้าแก้ว (อัสสรัตนะ)

4. แก้วมณี (มณีรัตนะ)

5. นางแก้ว (อิตถีรัตนะ)

6. ขุนคลังแก้ว (คหปติรัตนะ)

7. ขุนพลแก้ว (ปริณายกรัตนะ)

พระเจ้าทัฬหเนมิตรัสสั่งบุรุษคนหนึ่งให้คอยดูว่า จักรแก้วเคลื่อนจากฐานเมื่อใดให้มาบอก จำเนียรกาลล่องมา เมื่อจักรแก้วเคลื่อนจากที่ บุรุษนั้นก็ไปกราบทูล พระองค์จึงตรัสเรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ มอบราชสมบัติให้ แล้วปลงพระเกศา และพระมัสสุ ทรงผ้ากาสายะ (ผ้าย้อมฝาด) ออกผนวชเป็นฤาษี ครั้นออกผนวชได้ 7 วัน จักรแก้วอันตรธานหายไป

พระราชา (พระองค์ใหม่) ก็ทรงเสียพระราชหฤทัยเข้าไปเฝ้าพระราชฤาษี เล่าความถวายพระราชฤาษี ก็ตรัสตอบว่า จักรแก้วเป็นของให้กันไม่ได้ และทรงแนะนำให้บำเพ็ญจักกวัตติวัตรคือ ข้อปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ และเมื่อได้ปฏิบัติแล้ว จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำตั้งพัน มีกงอุดมสมบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง จักปรากฏขึ้นแก่พระราชาผู้รักษาอุโบสถในวัน 15 ค่ำ ผู้ขึ้นสู่ปราสาท จึงทูลถามว่า วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิเป็นอย่างไร ตรัสตอบว่า “จงอาศัยธรรมสักการะเคารพนับถือธรรมให้ความคุ้มครอง อันเป็นธรรมแก่มนุษย์ และสัตว์ ไม่ยอมให้ผู้ที่กระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นไปได้ (คือเกิดขึ้นและดำรงอยู่) ในแว่นแคว้นเป็นประการแรก ผู้ใดไม่มีทรัพย์ ก็มอบทรัพย์ให้ เป็นประการที่สอง และเข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความมัวเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ (ความอดทน) โสรัจจะ (ความสงบเสงี่ยม) และถามถึงสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรเสพ ไม่ควรเสพ อะไรที่ทำแล้วเสียประโยชน์ เป็นทุกข์ตลอดกาล และอะไรทำแล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุขตลอดกาล เมื่อฟังแล้วก็รับเอาสิ่งที่เป็นกุศลมาปฏิบัตินี่แล คือวัตรอันประเสริฐของพระเจ้าจักรพรรดินั้น”

เมื่อพระราชา (ผู้เป็นพระราชบุตร) กระทำตามจักรแก้วก็ปรากฏขึ้นตามที่พระราชฤาษีทรงกล่าวไว้ พระราชาจึงทรงถือเต้าน้ำด้วยพระหัตถ์ซ้าย ทรงหมุนจักรแก้วด้วยพระหัตถ์ขวา รับสั่งว่า จักรแก้วอันเจริญจงหมุนไป จงมีชัยเถิด แล้วยกกองทัพติดตามไปทั้ง 4 ทิศ จนจดมหาสมุทรสั่งสอนพระราชาในทิศนั้นๆ ให้ตั้งอยู่ในศีล 5 แล้ว ให้ครอบครองสมบัติต่อไปตามเดิม (เพียงยอมแพ้) เมื่อได้ชัยชนะแล้วก็เสด็จกลับสู่ราชธานีตามเดิม

จากเนื้อหาสาระของพระสูตรนี้ เป็นการยืนยันว่า โลกธรรมฝ่ายกุศล อันได้แก่ ลาภ ยศ เป็นต้น เกิดจากการประกอบกุศลกรรมของบุคคลนั้นๆ ด้วยตนเอง จะแบ่งปันหรือเป็นมรดกตกทอดหาได้ไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น