xs
xsm
sm
md
lg

ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์ พระอัจฉริยภาพ ปราชญ์ด้านน้ำของแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ห้าธันวาคมประณมกร กราบพระภูธรมหาราชา
สำนึกพระมหากรุณา   ราษฎร์นคราด้วยพระทัย
ทรงบำเพ็ญดั่งปณิธาน   เกิดโครงการอันน้อยใหญ่
เพื่อพัฒนาประชาไทย   ชีวิตได้พอเพียงสราญ
แม้สิ้นแล้วซึ่งพระองค์ จักดำรงทุกโครงงาน
สิ่งแวดล้อมต้องตระการ ด้วยดวงมานมั่นทำดี
ขอพระเสด็จสวรรค์ แม้นคืนวันผันราศี
จะตามรอยพระภูมี สถิตที่ดวงใจนิรันคร์


ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน ฉบับ Green Innovation & CSR+
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360๐
(นางพนอ ธรรมเนียมอินทร์ : ร้อยกรอง)


กล่าวกันว่าไม่ว่าแห่งหนตำบลใดในประเทศไทย ไม่มีที่แห่งใดไม่มีรอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรของพระองค์ และการทรงงาน “ด้านน้ำ” ก็ทรงปฏิบัติจนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าทรงมองการณ์ไกลในเรื่องน้ำของแผ่นดินอย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของการทรงงานหนักตรากตรำอย่างไม่ทรงเคยหยุดหย่อน หนึ่งในงานพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่งของพระองค์ คือ งานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ศาสตร์ทั้งปวงที่เกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำ การเก็บกัก การระบาย การควบคุม การทำน้ำเสียให้เป็นน้ำดี ตลอดจนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ย่อมประจักษ์ชัดและได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระองค์นั้นหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไปว่า พระองค์คือปราชญ์ในเรื่องน้ำของแผ่นดิน
แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องน้ำของพระองค์ท่านมีอยู่มากและหลากหลาย นับตั้งแต่แนวความคิดในโครงการเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเกิดจากน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยถึงปัญหาวิกฤตการณ์น้ำที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยในอนาคต คือ ปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นสลับกันอยู่ตลอดเวลา สร้างความสูญเสียอันยิ่งใหญ่แก่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปอยู่เป็นประจำ
จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดสร้างโดยเร่งด่วน เพื่อเป็นแหล่งต้นทุนน้ำชลประทานในการเกษตรกรรมในฤดูแล้ง เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ในภาคกลาง และเพื่อผลประโยชน์ทางอ้อมนานัปการที่จะบังเกิดขึ้น สำหรับในเรื่องนี้ได้เคยมีพระราชกระแสไว้ด้วยความห่วงใยว่า

“...หากประวิงเวลาต่อไปไม่ได้ทำ เราก็ต้องอดน้ำแน่ จะกลายเป็นทะเลทราย และเราก็จะอพยพไปไหนไม่ได้ โครงการนี้คือ สร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือที่แม่น้ำป่าสัก อีกแห่งหนึ่งคือ ที่แม่น้ำนครนายก 2 แห่งรวมกันจะเก็บน้ำเหมาะสมพอเพียงสำหรับการบริโภค การใช้น้ำในเขตกรุงเทพฯ และเขตใกล้เคียงในที่ราบลุ่มของประเทศไทย...”


แนวความคิดหลักในเรื่องที่จะต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและป้องกันบรรเทาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากนั้น ก็เนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในเดือนกันยายนและตุลาคมจะมีถึงประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากเป็นฤดูฝน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าปริมาณน้ำเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์ แทนที่จะได้เก็บกักไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรม การอุปโภคบริโภค และอื่นๆ ในฤดูแล้งและช่วยลดความสูญเสียจากอุทกภัยซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำได้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีระบบเก็บกักน้ำที่สมบูรณ์นั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นย้ำหลายครั้งและให้ความสำคัญแก่โครงการนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากหากดำเนินการได้สำเร็จโดยเร็ว ปัญหาและวิกฤตการณ์เกี่ยวกับน้ำในทุกรูปแบบของประเทศไทย ก็จะบรรเทาเบาบางลงได้แน่นอน
นอกเหนือไปจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักแล้ว ทางภาคใต้ของประเทศไทยก็ประสบกับปัญหาของน้ำท่วม น้ำจืด น้ำเปรี้ยว น้ำเค็ม อันเป็นผลทำให้เกษตรกรรมไม่ได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่โดยรอบเขตพรุและที่ใกล้กับเขตดินพรุ เช่น บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและบริเวณลุ่มน้ำบางนรา เป็นต้น
โดยมีหลักการสำคัญให้วางโครงการและก่อสร้างระบบแยกน้ำ 3 รส ออกจากกันคือ สร้างระบบป้องกันน้ำเปรี้ยวจากพรุทำให้พื้นที่เป็นกรด ระบบป้องกันน้ำเค็มบุกรุก และระบบส่งน้ำจืดช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรม และเพื่อการอุปโภคบริโภค เกี่ยวกับโครงการฯ นี้ได้ทรงวางแนวคิดและวิธีการในเรื่องการแยกน้ำแต่ละประเภทในพื้นที่เดียวกันให้แยกออกจากกันด้วยวิธีการที่แยบยล อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในศาสตร์ของน้ำอย่างแท้จริง

แนวคิดทฤษฎีที่ทรงดำเนินการเกี่ยวกับน้ำในลักษณะต่างๆ กัน เช่น แนวคิดเรื่อง “น้ำดีไล่น้ำเสีย” ในการแก้ไขมลพิษทางน้ำ ทรงแนะนำให้ใช้หลักการแก้ไขโดยใช้น้ำที่มีคุณภาพดีจากแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ช่วยผลักดันและเจือจางน้ำเน่าเสียให้ออกจากแหล่งน้ำของชุมชนภายในเมืองตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์และคลองบางลำภู เป็นต้น วิธีนี้จะกระทำได้ด้วยการเปิด-ปิดประตูอาคารควบคุมน้ำ รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงจังหวะน้ำขึ้นและระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในระยะน้ำขึ้นลง
ผลก็คือน้ำตามลำคลองต่างๆ มีโอกาสไหลถ่ายเทหมุนเวียนกันมากขึ้น น้ำที่มีสภาพทรงอยู่กับที่และเน่าเสียก็จะกลับกลายเป็นน้ำที่มีคุณภาพดีขึ้น ด้วยวิธีธรรมชาติง่ายๆ อย่างที่ไม่มีผู้ใดคิดมาก่อนเช่นนี้ ได้มีส่วนทำให้น้ำเน่าเสียตามคูคลองต่างๆ ในกรุงเทพมหานครมีสภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน วิธีการง่ายๆ เช่นนี้ คือการนำระบบการเคลื่อนไหวของน้ำตามธรรมชาติมาจัดระเบียบแบบแผนขึ้นใหม่ เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาที่เรียบง่าย
“ไตธรรมชาติ” ของกรุงเทพมหานครที่บึงมักกะสัน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแนวความคิดในเรื่องการบำบัดน้ำเสียของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้ทรงวางแนวพระราชดำริพระราชทานไว้ว่า เมืองใหญ่ทุกแห่งต้องมี “ปอด” คือ สวนสาธารณะไว้หายใจหรือฟอกอากาศ ขณะเดียวกัน ก็ควรมีแหล่งน้ำไว้สำหรับกลั่นกรองสิ่งโสโครกเน่าเสีย ทำหน้าที่เสมือนเป็นไตธรรมชาติ
จึงได้ทรงใช้ “บึงมักกะสัน” เป็นแหล่งน้ำที่รองรับน้ำเสียจากชุมชนในเขตปริมณฑลและในกรุงเทพมหานคร โดยทรงเปรียบเทียบว่า บึงมักกะสันเป็นเสมือนดังไตธรรมชาติของกรุงเทพมหานคร ที่เก็บกักและฟอกน้ำเสียตลอดจนเป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน และที่บึงแห่งนี้เองก็ได้โปรดให้มีการทดลองใช้ผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้วมาช่วยดูดซับความสกปรก ปนเปื้อน รวมตลอดทั้งสารพิษต่างๆ จากน้ำเน่าเสีย ประกอบเข้ากับเครื่องกลบำบัดน้ำเสียแบบต่างๆ ที่ได้ทรงคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นเองโดยเน้นวิธีการที่เรียบง่ายประหยัด และไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่นั้น
มีพระราชกระแสในเรื่องนี้ว่า “สวนสาธารณะ ถือว่าเป็นปอด แต่นี่ (บึงมักกะสัน) เป็นเสมือนไตฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราก็ตาย อยากให้เข้าใจหลักการของความคิดนี้...”
บึงมักกะสันในปัจจุบันได้ทำหน้าที่ ไตธรรมชาติของกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีส่วนช่วยบรรเทามลพิษทางน้ำ และเป็นแหล่งศึกษาทดลองด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอาชีพ และการนำของเสียมาใช้ให้ก่อประโยชน์ได้อย่างยิ่ง


แก้ปัญหาน้ำตามรอยพ่อ
ย้อนไปในปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมหาศาล แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าระยะเวลาผ่านมาเพียงไม่กี่ปีคือในปี 2557-2558 ประเทศไทยก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำอีกระลอก ทว่า ครั้งนี้เป็นปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อพื้นที่เกษตรกรรมและต่อการอุปโภคบริโภค จากเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญของระบบและแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยที่ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดินฟ้าอากาศ สภาพพื้นที่และความต้องการของชุมชน
โครงการศึกษาวิจัยเรื่องน้ำ โดย ดร.รอยล จิตดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสร้างความพอเพียงทางทรัพยากรให้แก่ประชาชน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งที่ประชาชนสามารถเติบโตก้าวหน้าด้วยการพึ่งตนเองตามหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
โดยยึดหลักสำคัญคือ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งควบคู่กัน ด้วยการพัฒนาพื้นที่ในเขตชลประทานให้เกิดความมั่นคงด้านน้ำ การพัฒนาโครงสร้างขนาดเล็กและการจัดการน้ำของชุมชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนด้วยยุทธศาสตร์และมาตรการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่เอื้ออำนวยก็สามารถบูรณาการการพัฒนาทั้งด้านน้ำเกษตรและพลังงานร่วมกันไปอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือ การดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่น ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดความสมดุลและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
จากการศึกษาของโครงการฯ พบว่าประเทศไทยควรจะนำแหล่งน้ำขนาดเล็กหรือแก้มลิงที่ตื้นเขิน มาพัฒนาเป็นแหล่งน้ำใหม่ของทั้งประเทศรวมถึงการเพิ่มจำนวนแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งใช้เวลาและงบประมาณน้อยกว่าการสร้างแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่
ทั้งนี้ การจัดการน้ำควรเน้นให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการและดูแลกันเอง โดยที่ผ่านมาได้ทำโครงการร่วมกับเกษตรกรให้มีแหล่งน้ำของตนเองและประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว 341 ชุมชนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีชุมชนตัวอย่างด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนที่เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศที่โดดเด่น
กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2554 และ 2557 คือชุมชนบ้านลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ที่ชาวบ้านกว่า 6,000 คนรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนลิ่มทอง” ยอมสละที่ดินส่วนตัวเพื่อทำแก้มลิงของชุมชน
พร้อมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และยึดถือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “น้ำคือชีวิต” มาใช้ จนสามารถเก็บกักน้ำจากการทำแก้มลิงและคลองส่งน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดปียังประโยชน์ให้กับชาวบ้านกว่า 2,200 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกว่า 52,000 ไร่
ที่มา - มูลนิธิชัยพัฒนา , สารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น