xs
xsm
sm
md
lg

โคคา-โคลา ต่อยอดสร้างคุณค่าร่วม “ผู้หญิง” นำร่องเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 2 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, สรวงกนก  ศิริโสม เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยจากอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ร่วมอบรมในโครงการ, สมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม,ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง
ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในรูปแบบสามเหลี่ยมความร่วมมือสู่ความยั่งยืน
เดินหน้าโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ระยะที่ 2 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย นำร่อง 1 ปี ด้วยงบลงทุนโครงการ 4 ล้านบาท มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ให้เป็นห่วงโซ่คุณค่าของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาผ่านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน

‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’ เป็นการต่อยอดของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
หลังจากเปิดตัวโครงการฯ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงเมื่อปีพ.ศ. 2557 ล่าสุด โคคา-โคลา ลงทุน 4 ล้านบาทในโครงการนำร่องเพิ่มศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเงินและทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใน 1 ปี (สิงหาคม พ.ศ. 2559 - กรกฎาคม พ.ศ. 2560) โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการฯ นำร่องไปสู่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยและกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลรายอื่นในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน
พรวุฒิ สารสิน
พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจ โคคา-โคลาฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม กล่าวคือการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จากการเปิดตัวโครงการในระยะแรกในปี 2557 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าของร้านค้าปลีกหญิง จนถึงขณะนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ”

“ในปีนี้ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาฯ ได้ขยายโครงการฯ ไปสู่กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยเราได้ร่วมกับพันธมิตรในการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นในสองหัวข้อหลัก คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน อันเกิดจากการประเมินความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ซึ่งพบว่า กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัวและมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะในสองเรื่องนี้
ทั้งนี้ โครงการฯ ในระยะที่สองนี้ จะไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในการประกอบอาชีพและดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายที่ทำงานในโครงการฯ คือ ส่งเสริมพันธกิจพัฒนาศักยภาพเกษตรกรชาวไร่อ้อยของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งเสริมการผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพของน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ สอดคล้องกับพันธกิจการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing) ของโคคา-โคลา”

ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า “นับเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ที่เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย และได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเตรียมและบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์และปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ไปจนกระทั่งการส่งเสริมการลดการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรสตรีกลุ่มเป้าหมายรวม 600 คน ที่มีศักยภาพในการต่อยอดองค์ความรู้ให้เครือข่ายเกษตรกร เข้าร่วมโครงการฯ และมีเจ้าหน้าที่บริษัทฯ 30 คน เข้ารับการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกับกลุ่มเกษตรกรให้คำแนะนำและติดตามผลตลอดโครงการฯ โดยคาดว่าหลังจากนี้ 1 ปี เกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมโครงการจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20”

ขณะที่ ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “การฝึกอบรมเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อยให้ดีขึ้นผ่านการเสริมสร้างทักษะการทำบัญชีและการบริหารจัดการเงินในครัวเรือน โดยสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นองค์กรซึ่งทำงานด้านนี้มายาวนานกว่า 15 ปี โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยกลุ่มเป้าหมาย และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการการเงิน ที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น ซึ่งเบื้องต้นได้เริ่มทำการอบรมไปแล้วกว่า 200 คน และตลอดการดำเนินโครงการฯ จะมีการติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการหรือปัจจัยต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ คาดว่า ภายหลังเข้ารับการอบรม เกษตรกรสตรีจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และมีระดับความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30”

ด้าน สมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทย เพราะสร้างงานให้เกษตรกรกว่า 600,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศจากการบริโภคในประเทศและส่งออกถึงปีละ 150,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.6 % ของจีดีพี โดยไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล และอันดับ 1 ในเอเชีย และยังเอื้อต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อาหาร พลังงาน ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีพันธกิจขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่ความเป็นเลิศ และจะร่วมผลักดันและประชาสัมพันธ์การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ในโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลาฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
3 เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยที่ร่วมในโครงการ จากอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
การฝึกอบรมการจัดการการเงินให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย
‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา’
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก ‘5by20’ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา ได้แก่ ร้านค้าปลีก ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ผู้แทนจำหน่าย คนเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไป รีไซเคิล และช่างฝีมือที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ภายในปีพ.ศ. 2563
ซึ่งมีที่มาจากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ที่ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คือ การใช้จ่ายทั่วโลกที่เกิดจากผู้หญิงมีมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และแรงงานของผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 66 ของแรงงานทั่วโลก แต่รายได้ของผู้หญิงกลับมีเพียงร้อยละ 10 ของรายได้รวมของทั้งโลก ในขณะที่ผู้หญิงนำรายได้กว่าร้อยละ 90 ไปใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้สามารถเพิ่มรายได้จึงถือเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมในภาพรวม ปัจจุบัน ในระดับโลก โคคา-โคลาได้พัฒนาศักยภาพผู้หญิงไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น