ม.พะเยา รุกผลิตเภสัชกรสมุนไพร สอดรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พร้อมจับมือ มช.วิจัยสมุนไพรตานคอม้า แก้ปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะสาเหตุคร่าชีวิตคนไทย 38,000 รายต่อปี
ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรเภสัชกรรมสมุนไพร ว่า มหาวิทยาลัยพะเยา โดยคณะเภสัชศาสตร์ กำลังจัดทำหลักสูตรเภสัชกรรมสมุนไพร ร่วมกับสภาเภสัชกรรม โดยจะเปิดรับนักศึกษาได้ในปี 2562 ซึ่งในระหว่างนี้ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำหลักสูตรการอบรมเภสัชกรด้านสมุนไพร ให้มีความหลากหลายตอบรับกับการทำงานของเภสัชกรในโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ 4 เดือน 1 ปี และ 3 ปี
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการศึกษาวิจัยยาปฏิชีวนะจากสมุนไพร "ตานคอม้า" เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิต 38,000 รายต่อปี ซึ่งสมุนไพรดังกล่าวเป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกได้ในประเทศ คาดว่าหากการวิจัยนี้สำเร็จ จะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและสุขภาพ โดยเฉพาะเศรษฐกิจนั้นจะสามารถสร้างงานได้ตั้งแต่รากหญ้าเลยทีเดียว
ทั้งนี้ เป็นตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value-Based Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" โดยเป้าหมายหนึ่งของการขับเคลื่อน คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ที่มีพื้นฐานเกษตรกรรมเข้มแข็ง อีกทั้งยังตอบโจทย์สุขภาพของประเทศ ในเรื่องของสุขภาพ ทั้งในแง่ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังลดการนำเข้ายาที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นมูลค่า 170,265.73 ล้านบาท โดยการขับเคลื่อนให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรเพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบันและการใช้ยาจากสมุนไพรที่เหมาะสม เภสัชกรนับว่ามีบทบาทที่สำคัญ