xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซี หนุนขับเคลื่อน ESG ตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศักดา จันทราสุริยารัตน์
ปีนี้ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ “เคทีซี” ติด 1 ใน 100 กิจการที่ได้ ESG 100 จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งแสดงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เผยผลสำเร็จจากเป้าหมายใหญ่ “ความยั่งยืน” พร้อมโครงการเด่นด้านซีเอสอาร์ที่ไปหนุน ESG Rating
ศักดา จันทราสุริยารัตน์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร - กำกับดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance) “เคทีซี” เปิดเผย 3 ปัจจัยหลัก ซึ่งเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน เคทีซี ก้าวไปสู่เป้ากิจการที่ยั่งยืนจนกระทั่งติดอยู่เกณฑ์ ESG 100 ของปีนี้ ว่า ประการแรก หน่วยงานรัฐผู้วางกรอบ กติกา กฎเกณฑ์มีความชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุน ประการที่สอง “ตลาด” ที่มีนักลงทุนสถาบันตอบรับกับแนวทางดังกล่าว และประการที่สาม “ตัวเราเอง” ที่มีคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง ขานรับพร้อมวางนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมและสนับสนุนในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล หรือ ESG
“ก่อนหน้านี้ เคทีซี ใช้แบบการเช็คลิสต์ CGR และแบบ 56-1 เช็กลิสต์เป็นไกด์ไลน์ที่ทำให้ “เคทีซี” มุ่งก้าวไปสู่เป้าหมายใหญ่ คือ ความยั่งยืน ไกด์ไลน์ช่วยตรวจสอบตัวเราอยู่เสมอว่า ยังขาดตกบกพร่องตรงจุดใดบ้าง ก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการรับรู้ และปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ให้สอดคล้อง พร้อมกับให้พนักงานเคทีซีทุกฝ่ายทุกคนได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนตนเองโดยเชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ความเข้าใจ และผ่านการเรียนรู้จากแบบทดสอบ E-Learning”
เนื่องจาก เคทีซี มีแนวทางการปฏิบัติตามกรอบของการกำกับดูแลที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงอาศัยการใช้แบบ 56-1 ซึ่งเป็นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ สอบทานความครบถ้วนของข้อมูลที่เปิดเผย
ขณะเดียวกันก็ใช้แบบการเช็คลิสต์ CGR ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นอีกแบบในการประเมิน ซึ่งมีเกณฑ์ตรวจสอบจากหัวข้อหลัก ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
ทั้งสองแบบการเช็กลิสต์ดังกล่าวสอดคล้องกับ ESG Rating โดยสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นแบบการประเมินบริษัทจดทะเบียนทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งสะท้อนถึงผลสำเร็จในการขับเคลื่อนด้านซีเอสอาร์ โดยเน้นการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบอย่างมีคุณภาพ (CSR-in-process)
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน หรือ Compliance ของเคทีซี ทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของทางราชการ รวมทั้งระเบียบข้อบังคับของบริษัท โดยมีทั้งการให้ความรู้ และเข้าไปร่วมปฏิบัติ ตลอดจนกำกับดูแลการปฏิบัติซึ่งเป็นแนวคิดสมัยใหม่ในการบริหารจัดการองค์กรที่ถือว่าใช้มุมมองครบเครื่องที่สุด
โครงการไทยแลนด์ บูติก อวอร์ด
โครงการซีเอสอาร์ สะท้อน ESG Rating
ศักดา กล่าวว่า ทุกโครงการด้านซีเอสอาร์ของเคทีซี มุ่งให้เกิดผลลัพธ์ที่ไปต่อยอดแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการไทยแลนด์ บูติก อวอร์ด ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเปิดโอกาสให้โรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก 3-80 ห้องได้เข้าร่วมเสนอผลงานพร้อมแบ่งเขตการประกวด ตามที่ตั้งเป็น 4 เขต ได้แก่ เขตภูเขาหรือป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ และเมือง เพื่อให้โรงแรมและรีสอร์ตในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน พร้อมวางเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกผลงาน 3 ประเภทด้วยกัน 1. ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ 2. อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. แนวคิดและจริยธรรม ด้วยคอนเซ็ปต์ Colour of Thai เน้นสีสันที่หลากหลายของความเป็นไทย ทั้งในด้านการบริการ การนำวัตถุดิบไทยมาประยุกต์ และการเชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น



โครงการ Learn & Earn ที่จัดมาแล้ว 13 ปี เคทีซีสนับสนุนให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไป เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในการรับผิดชอบและพึ่งพาตนเองด้วยการเข้าร่วมปฏิบัติงานจริง โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านการบริหารเงิน และบริหารเวลาอย่างเหมาะสม มีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือว่าช่วยเตรียมความพร้อมที่ดี สำหรับการใช้ชีวิตการทำงานของนักศึกษาในอนาคต พร้อมกับมีโอกาสได้รับพิจารณาเข้าร่วมงานกับเคทีซีอีกด้วย
ขณะเดียวกัน พนักงานทุกคนของเคทีซี ก็มีความตระหนักการใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การออกไปร่วมทำกิจกรรมให้ความรู้ด้านการบริหารเงิน การใช้บัตรเครดิตอย่างคุ้มค่าให้กับชุมชน หรือการให้พนักงานทุกคนลดการใช้กระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่การใช้กระดาษรีไซเคิล และยังนำกระดาษรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ต่อ โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทย และพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับโฉมหน้า “สมาร์ท ออฟฟิศ” ของเคทีซี ที่มีบรรยากาศการทำงานแบบ “New Working Lifestyle” ลดพื้นที่ทำงานลง เพิ่มพื้นที่ในการพูดคุยกันมากขึ้น และใช้กระดาษน้อยลง (Paperless)
“ด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าสังคมดี เคทีซีย่อมดีไปด้วย จุดมุ่งหมายจึงต้องการให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรในทุกมิติรอบด้าน ทั้งสมาชิก พันธมิตรทางธุรกิจ พนักงาน ผู้ถือหุ้น สังคม และสิ่งแวดล้อม” ศักดา กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น