xs
xsm
sm
md
lg

กรองหุ้นดีลงทุนได้ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ก่อนหน้านี้ผมได้เคยกล่าวถึงการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของภาคธุรกิจเอกชน ภาคตลาดทุน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันผลักดันให้สังคมและนักลงทุนมีความตื่นตัวด้วยการเลือกลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เพื่อให้องค์กรเกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ โดยยึดหลักบริหารงานแบบยั่งยืนตามหลักด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Economic-Social-Environment : ESG) โดยทั่วไป ESG ที่ผู้ลงทุนสถาบันอย่างเช่นกองทุนรวมใช้เป็นแนวทางพิจารณานั้น ผู้ลงทุนทั่วไปน่าจะสามารถนำมาปรับใช้ หากต้องการเลือกคัดกรองหลักทรัพย์ที่ดี มีความโปร่งใสในการบริหาร เพื่อนำมาลงทุนด้วยตนเองได้

ลำดับแรกผู้ลงทุนต้องคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติเชิงคุณภาพครบ 3 มิติในแง่ ESG ได้แก่ การบริหารงานมีความโปร่งใส ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นรูปธรรมชัดเจน และมีคุณสมบัติเชิงปริมาณ คือ ผลการดำเนินงานที่ดี นอกจากนี้ การพิจารณาว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมีธรรมาภิบาลที่ดีอย่างชัดเจนหรือไม่นั้น ผู้ลงทุนสามารถพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ได้จากเกณฑ์วัดของหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แก่

1. ระดับคะแนนของหน่วยงานคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ (IOD) ทางหน่วยงานจะใช้จำนวนตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการฯ แสดงระดับการให้คะแนนของแต่ละกลุ่มบริษัท โดยหน่วยงานดังกล่าวจะมีการประเมินคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียนปีละครั้ง และจำนวนโลโก้ที่ได้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างปี หากคณะกรรมการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของคะแนนดังกล่าว

2. ผลการประเมินจากสถาบันไทยพัฒน์ ผลการประเมินดังกล่าวจะสามารถบ่งชี้ความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันของบริษัทจดทะเบียนได้ว่าอยู่ในระดับใด เนื่องจากปัจจุบันสถาบันไทยพัฒน์ได้จัดทำดัชนีชี้วัดความคืบหน้าการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Progress Indicators) เพื่อเป็นการวัดผลเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

3. ระดับคะแนนจากการเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition : CAC) ผลการประเมินบริษัทที่เข้าร่วมปฏิบัติดังกล่าวจะสะท้อนถึงความพร้อมของบริษัทที่จะร่วมต่อต้านการทุจริต ซึ่งผลการสำรวจในปีที่ผ่านมามีบริษัทแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมปฏิบัติ 525 บริษัท แต่มีบริษัทที่ได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตเพียง 133 บริษัท ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ได้ถึงมาตรฐานในการคัดกรองคุณภาพบริษัทที่จะได้รับการยืนยันจากองค์กรเชี่ยวชาญการต่อต้านทุจริตในภาคธุรกิจของประเทศไทย

จากข้อมูลดังกล่าวที่ผมได้นำมาเสนอนั้น ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถหารายชื่อบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ และนำมาใช้ประโยชน์ในการพิจารณาเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีได้ด้วยตนเอง ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า การคัดสรรหลักทรัพย์ที่ดีเน้นความโปร่งใสจะมีความเข้มข้นมากกว่าการเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป แต่ประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือวางใจในเงินลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นจะสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนของบริษัทที่ตนลงทุนได้

อย่างไรก็ดี บทลงโทษจากสังคมต่อบริษัทที่บริหารงานไม่โปร่งใสก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารบริษัทหันมาตระหนักถึงแนวทางการบริหารที่ดีไม่เอาเปรียบสังคม

ในทางกลับกัน หากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักลงทุนเริ่มให้ความสนใจ ให้โอกาสและเลือกลงทุนในบริษัทที่ดีตามเกณฑ์การคัดกรองดังกล่าว ผมเชื่อมั่นว่าในอนาคตรายชื่อบริษัทภาคเอกชนที่เข้าร่วมต่อต้านจะเพิ่มมากขึ้น และผู้ลงทุนจะมีทางเลือกในการลงทุนบริษัทที่ดีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งการส่งเสริมจากผู้ลงทุนจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริหารบริษัทภาคเอกชนตระหนักและหันมาให้ความสำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้นครับ

• “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”


กำลังโหลดความคิดเห็น