เกษตรอินทรีย์ไทยในปีที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเริ่มกลับเข้าสู่โหมดของการขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวลงเล็กน้อยในปีก่อนหน้า ยกเว้นในส่วนของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ประสบปัญหาอย่างมาก จนผู้ผลิตหลายรายเลิกการขอการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
การผลิตชา-กาแฟ ผลไม้ และฟาร์มผสมผสาน ดูจะมีการเติบโตค่อนข้างดีเป็นพิเศษ ทั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากความมีสเถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ส่งผลให้เกษตรอินทรีย์พลิกฟื้นตัวเองได้อย่างค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดเกษตรอินทรีย์ในต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างสูงมาก (ตลาดออร์แกนิคในสหรัฐอเมริกาในปี 2557 ขยายตัว 11%, ฝรั่งเศส 10%, เยอรมัน 5% แต่ที่มีการขยายตัวมากที่สุด คือ ประเทศสวีเดน 38%)
ในส่วนของการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐ ความพยายามในการผลักดันแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ (ที่สิ้นสุดลงในปี 2554) ก็ยังไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก แต่การที่ภาครัฐไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ กลับดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของเกษตรอินทรีย์เท่าใดนัก ทั้งนี้ก็เพราะเกษตรอินทรีย์ไทยขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนและประชาสังคมเป็นหลัก ตราบใดที่ภาคเอกชนและประชาสังคมยังมีความพร้อมและความเข้มแข็ง เกษตรอินทรีย์ไทยก็ยังคงขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง
แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่าก็คือ บรรยากาศ/สภาพแวดล้อมทางนโยบาย ดังที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ที่รัฐบาลมีมติสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า มีความหละหลวม และจะเกิดผลกระทบโดยตรงต่อขบวนการเกษตรอินทรีย์ในประเทศ แต่ก็เป็นโชคดีว่า รัฐบาลได้ประกาศยุติการเดินหน้าพระราชบัญญัติดังกล่าว หลังจากที่หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
การผลิตเกษตรอินทรีย์ไทย
จากการสำรวจข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 213,183.68 ไร่ ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 235,523.35 ไร่ ในปี พ.ศ. 2557 (เพิ่มขึ้น 9.48%) ในส่วนของจำนวนฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในช่วงเวลาดังกล่าวก็ขยับเพิ่มขึ้นจาก 9,281 ฟาร์มในปี พ.ศ. 2556 เป็น 9,961 ฟาร์ม ในปี พ.ศ. 2557
ตลาดออร์แกนิคไทยคึกคัก
เป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างมากในปี 2558 ที่สำนักงานปลัด กระทรวงพาณิชย์ ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาภาพรวมของตลาดเกษตรอินทรีย์ไทย ทั้งที่จำหน่ายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งยังได้ทำการสำรวจทัศนะและความเข้าใจของผู้บริโภคทั่วประเทศ ซึ่งทำให้มีฐานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยอย่าง ที่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้
จากการศึกษาของโครงการพบว่า ตลาดสินค้าออร์แกนิคไทยในปี 2557 มีมูลค่ารวม 2,331.55 ล้านบาท โดย 1,1817.10 ล้านบาทเป็นตลาดส่งออก (77.9%) และ 514.45 ล้านบาทเป็นตลาดในประเทศ (22.06%) โดยช่องทางตลาดออร์แกนิคในประเทศที่ใหญ่ที่สุด คือ โมเดิร์นเทรด (59.48%) รองลงมา คือ ร้านกรีน (29.47%) และร้านอาหาร (5.85%)
การส่งออกนั้น ในปี 2557 ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเป็นสินค้าออร์แกนิคส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 1,201.00 ล้านบาท/ปี (66.1%) รองลงมาคือ ข้าวออร์แกนิค ซึ่งมีมูลค่าส่งออกราว 552.25 ล้านบาท (30.4%) โดยตลาดออร์แกนิคในภูมิภาคยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดในทุกหมวดสินค้า รองลงมาคือ อเมริกาเหนือ ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน ทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ
ส่วนตลาดออร์แกนิคในรประเทศไทยมีจุดจำหน่ายปลีก (sale point) สินค้าออร์แกนิคประมาณ 251 แห่ง โดยช่องทางของโมเดิร์นเทรด ซึ่งมีอยู่ 8 บริษัท 171 จุดจำหน่าย เป็นช่องทางที่มีจำนวนมากที่สุด มีสินค้าออร์แกนิค 150 - 1,500 รายการในจุดจำหน่าย มีมูลค่าการขายรวม 306 ล้านบาท/ปี รองลงมาคือช่องทางร้านกรีน ซึ่งมีจุดจำหน่าย 33 แห่ง มีรายการสินค้าออร์แกนิคเฉลี่ย 229 รายการ มียอดขายรวม 151.62 ล้านบา/ปี
นอกจากข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยแล้ว ผลการศึกษาอีกเรื่องที่น่าสนใจมากก็คือ ระดับการรับรู้และความเข้าใจของผู้บริโภค ผู้บริโภคในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเคยได้ยินเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ (92% ที่สุ่มสัมภาษณ์ทั่วประเทศ) แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกษตรอินทรีย์อย่างไม่ถูกต้อง (6.51% ของผู้บริโภคทั่วประเทศ ยกเว้นกรุงเทพและปริมณฑล ตอบคำถามถูกต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของคำถาม มีเพียง ส่วนผู้บริโภคในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตอบถูกเกินครึ่งหนึ่งมีเพียง 10.9%)
โดยประเด็นปัญหาที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีเข้าใจคลาดเคลื่อนและเข้าใจผิดพลาด คือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เหมือนกันกับมาตรฐานปลอดภัยจากสารพิษ ผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ, พืชไฮโดรโปนิคเป็นเกษตรอินทรีย์, โลโก้ Q เป็นโลโก้ของสินค้ารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์, และเกษตรอินทรีย์อนุญาตให้ใช้จีเอ็มโอ
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.greennet.or.th/article/411