ภายใต้แนวคิด “สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และความสนใจของเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) ผ่านกิจกรรมการทดลองแสนสนุก ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยในมีนักเรียนกว่า 3,400 คน จาก 150 โรงเรียน ทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมของโครงการฯ ณ มหาวิทยาลัยและองค์กรเครือข่ายแต่ละแห่งตลอดทั้งปี พร้อมร่วมมือวางแผนขยายการดำเนินงานสู่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศในปี 2560
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก จึงเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ได้ลงมือทำกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกและท้าทาย เสมือนนักเรียนแต่ละคนได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยจริง นับว่าเป็นการจุดประกายความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มในอนาคต โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ก่อนขยายผลไปยังประเทศต่างๆ สำหรับโครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย’ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการนี้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
รศ. ดร. คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกฝังทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มให้แก่เยาวชน เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า วิชาเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเยาวชน และต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยทำประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์ได้อีกนานับประการ ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการนี้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย’ ขึ้นในปีพ.ศ. 2554 เพื่อจุดประกายความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้องในอนาคต ในปี 2559 นี้ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต่างๆและจากภาคเอกชน เพื่อช่วยให้เกิดการผลักดันทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”
ดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า “โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทยปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรจากกิจกรรมต้นแบบของประเทศเยอรมนี ด้วยบริบทของประเทศไทย โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ (hands-on) กิจกรรมทดลองที่สนุกสนานและท้าทาย โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยเป็นวิทยากร และมีพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น นักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยให้คำแนะนำและกระตุ้นกระบวนการคิดและการเรียนรู้ โดยพบว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต การตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ ได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน’ จะจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีรูปแบบและหัวข้อที่หลากหลาย ณ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯต่อไปตลอดทั้งปี โดยตั้งแต่ปี 2559 นี้โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งจะช่วยให้โครงการฯ สามารถดำเนินงานได้อย่างเข้มแข็ง และทั้งยังสามารถขยายสู่เยาวชนในต่างจังหวัด ตามที่ทางโครงการฯ ได้ตั้งใจไว้”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย มาตั้งแต่ต้น โดยทางมหาวิทยาลัยเน้นรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ขาดโอกาส โดยเราให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมทั้งในเรื่องของบุคลากร สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์การทดลอง รวมถึงการเดินทางของนักเรียนและอื่นๆ เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้และสนุกกับวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เกิดความรักและความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและประกอบอาชีพนี้ต่อไปในอนาคต ในส่วนของกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ในปีนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ซึ่งแสดงถึงพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงานในการร่วมกันส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
ไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดเปิดเผยว่า “เชฟรอนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสะเต็ม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะช่วยสร้างรากฐานในการพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็มเพื่อให้เยาวชนเห็นว่าการศึกษาในสาขานี้เป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ เกิดแรงบันดาลใจและสนใจในการศึกษาต่อด้านนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยเชฟรอนประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย และจะทำงานร่วมกันเพื่อขยายขอบข่ายการดำเนินงานไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยจะเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพันธมิตรภายใต้โครงการ Enjoy Science ในจังหวัดต่างๆ อาทิ สมุทรปราการ สงขลา เชียงใหม่ และขอนแก่น โดยคาดว่าจะมีมหาลัยวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 10 แห่ง และสามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้กว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ ภายในปี 2560”
ดญ. อธิชา ฤทธิ์เจริญ หรือ น้องฟ้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเบญมราชรังสฤษฎิ์ 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงความรู้สึกต่อกิจกรรมในงานว่า “ส่วนตัวชอบวิชาวิทยาศาสตร์และการทดลองอยู่แล้ว จึงดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมในวันนี้และรู้สึกประทับใจมาก เพราะได้ทำการทดลองจริงโดยมีพี่ๆ คอยอธิบายและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ทำให้ได้รับทั้งความสนุกและความรู้ไปพร้อมกัน โดยฐานกิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ ‘สายรุ้งในขวดแก้ว’ ซึ่งนำของเหลวต่างชนิดกันเจ็ดสี มาเทลงในขวดแก้ว โดยของเหลวสีต่างๆ แยกชั้นออกจากกันเป็นสายรุ้งสวยงามมาก และได้รับความรู้เพิ่มเติมในเรื่องความหนาแน่นของของเหลวไปพร้อมๆ กับความสนุกสนาน ส่วนในอนาคตหนูอยากเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์และตั้งใจจะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการแพทย์”
ทางด้าน ดช. สิทธิพงศ์ ยาดี หรือ น้องจิว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบางบัว (เพ่งตั้งตรงจิตรวิทยาคาร) กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ผมสนุกกับกิจกรรมในวันนี้มาก เพราะได้ทำการทดลองด้วยตัวเอง ทั้งยังทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สนุกและน่าสนใจมาก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ผมได้เห็นพี่ๆ ใช้อุปกรณ์การทดลองอย่างชำนาญ ก็ทำให้ผมอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์แบบพี่ๆ บ้าง โดยจะกลับไปตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้นครับ”
ทั้งนี้หน่วยงานเครือข่ายของโครงการมหาวิทยาลัยเด็กในปัจจุบัน ประกอบด้วยสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง องค์กรภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) องค์กรภาคประชาสังคมได้แก่ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
ในปี 2559 มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีการจัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตลอดทั้งปี โดยผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมได้ที่เวบไซต์ www.childrensuniversity.in.th