xs
xsm
sm
md
lg

ต่อยอด มหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย ที่ มศว. จุดประกายการเรียนรู้สู่สายอาชีพสะเต็ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมและเยี่ยมชมกิจกรรมโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย 2559” ณ งาน มศว วิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ร่วมด้วย รศ. ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด, ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย, ดร. รูดอล์ฟ เฮอร์เบอร์ และ นางไฮดี สตาร์ก นักวิชาการจากห้องปฎิบัติการทอยโทแลป (Teutolab) มหาวิทยาลัยบีเลเฟล ประเทศเยอรมนี วิทยากรที่ปรึกษาโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก, ศาสตราจารย์ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คืบหน้าโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุน ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย เดินหน้าจัดกิจกรรมในโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้แนวคิด “สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน”
นับว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และความสนใจของเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) ผ่านกิจกรรมฐานวิทยาศาสตร์แสนสนุก ณ งาน มศว วิชาการ

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก จัดขึ้นเป็นโครงการนำร่องในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางรากฐานที่ดีให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้นของไทยให้ได้แรงบันดาลใจและประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการลงมือทำและการฝึกฝน
ผ่านการทดลองกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการปรับใช้หลักสูตรจากโครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก’ ของมหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ ประเทศเยอรมนี ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เกิดความรักและความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและประกอบอาชีพนี้ต่อไปในอนาคตเพื่อจุดประกายให้เกิดความสนใจและสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบๆ
ตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งภายหลังที่เชฟรอนประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนภายใต้ โครงการ ‘Chevron
Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กก็ได้ขยายความร่วมมือจนในปัจจุบันมีหน่วยงานเครือข่าย 20 หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ในการจัดกิจกรรมให้เข้าถึงนักเรียนในภูมิภาคต่างๆ
ทั่วประเทศ”
ด้าน รศ. ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาครูทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแนวนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการสอนสะเต็ม โดยจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ‘มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย’
สืบเนื่องจากการที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็น 1 ใน 20 หน่วยงานเครือข่าย ที่ประกอบไปด้วยองค์กรภาครัฐ 2 องค์กร และสถาบันการศึกษา 18 แห่งเพื่อจุดประกายความคิดให้เด็กและเยาวชนเกิดแรงบันดาลใจและมีทัศนคติที่ดีในการทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุก และมีความสุขด้วยบรรยากาศเสมือนอยู่ในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย โดยได้เชิญ Prof. Dr. Rudolf Herbers ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบีเลเฟลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มาให้ความรู้เรื่องรูปแบบของการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ที่สอดแทรกความรู้ด้านคณิตศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปกับการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงการจัดแสดงโครงงานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกและน่าติดตามซึ่งจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมากต่อผู้เข้าร่วมงาน รวมถึงครู และอาจารย์ในการไปปรับใช้เพื่อการส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กไทยที่เป็นอนาคตของประเทศต่อไป”
ขณะที่ อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเสริมว่า “การดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 นั้น สอดคล้องกับเป้าหมายในการดำเนินการโครงการ ‘Chevron Enjoy Science:สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็มให้เยาวชนเห็นว่าการศึกษาในสาขานี้เป็นเรื่องสนุก น่าสนใจเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและสนใจในการศึกษาต่อด้านนี้เพิ่มมากขึ้นอันจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศได้อย่างยั่งยืนโดยเชฟรอนประเทศไทยได้ร่วมดำเนินงานในโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทยนี้ และได้ขยายความร่วมมือในการจัดกิจกรรมไปสู่จังหวัดอื่นๆ โดยประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเครือข่ายในจังหวัดพื้นที่ของ Enjoy Science ในจังหวัดต่างๆ อาทิ สมุทรปราการ สงขลา เชียงใหม่และขอนแก่น และได้สถาบันการศึกษามาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติมอีก 10 แห่ง จากเดิมที่มีหน่วยงานเครือข่ายจัดกิจกรรมนำร่อง 10 หน่วยงานในกรุงเทพมหานคร และคาดว่าจะสามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนเข้าร่วมได้กว่า 10,000 คนทั่วประเทศ ภายในปี 2560 นี้”
ด้าน ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ในฐานะผู้บริหารโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิดเพื่ออนาคต กล่าวว่า “ปัจจุบันความต้องการบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะช่วยเพิ่มบุคลากรในสาขาสะเต็มได้เป็นอย่างดีโดยแต่ละมหาวิทยาลัยและองค์กรเครือข่ายได้ดำเนินการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นกระบวนการลงมือปฎิบัติไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 24 กิจกรรม มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในจังหวัดสงขลาจำนวน 5,308 คน โดยคาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะสามารถสร้างความตระหนักไปสู่เยาวชนเหล่านั้นให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ จนเกิดแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพสาขาสะเต็มในอนาคต”


อนึ่ง กิจกรรมโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย” ณ งาน มศว วิชาการ ประกอบด้วยฐานวิทยาศาสตร์แสนสนุก อาทิ ฐานไฟฟ้าชีวภาพฐานสนุกคิดกับวิทยาศาสตร์หรรษา และฐานตามรอยเท้าพ่อซึ่งมีแต่ละฐานกิจกรรมจะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สัมผัสกับแง่มุมและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่แตกต่างกันไป โดยมีนิสิตของ มศว.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำแก่เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมได้ที่เวบไซต์ www.childrensuniversity.in.th
ทั้งนี้ โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมีการจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยและองค์กรเครือข่ายแต่ละแห่งซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนลงมือทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายและสัมผัสกับบรรยากาศเสมือนได้เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจริงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มในอนาคตเพื่อวางรากฐานในการผลิตบุคลากรในสาขาสะเต็มอันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืนโดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี ก่อนจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยภายหลังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการนี้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น