•ติดตามการขับเคลื่อนนวัตกรรมของเอสซีจี
•บทพิสูจน์องค์กรที่มองการณ์ไกล
•มุ่งตอบโจทย์ท้าทายโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การสร้างนวัตกรรมของเอสซีจี มาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรอย่าง “กานต์ ตระกูลฮุน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ที่มองว่าท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและการแข่งขันของธุรกิจที่เข้มข้นหนักหน่วงแตกต่างจากในอดีต การจะขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืนนาวนานนั้น “นวัตกรรม”เป็นคำตอบสำคัญให้กับโจทย์ในอนาคต
10 ปีแรก... ยุคแห่งการวางรากฐาน
ด้วยแนวคิดของเอสซีจีที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการที่สามารถสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการมีกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำศักยภาพขององค์กรเหล่านั้นมาพัฒนาร่วมกัน ให้เกิดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเร่งให้เอสซีจีสามารถบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้ง สนับสนุนและมุ่งหวังการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากค.ศ.2004 - ค.ศ.2014 นับเป็นยุคแห่งการวางรากฐานหรือระยะเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของเอสซีจีที่มีเป้าหมายชัดเจนและจริงจัง การขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพื่อไปสู่นวัตกรรมของเอสซีจี เห็นได้จากงบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับยอดขายของผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่ม HVA หรือ High Value Added ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป
โดยเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ไปในปีค.ศ.2004 มีเพียง 40 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 2,710 ล้านบาท ในปีค.ศ.2014 ขณะที่ ยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 7,783 ล้านบาท เป็น 169,071 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนยอดขายเพิ่มจาก 4% เป็น 38% ของยอดขายโดยรวม ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบมีมากขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 364 คน ในปีค.ศ.2007 เป็น 1,631 คน ในปีค.ศ.2015
การขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรมของเอสซีจียังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยล่าสุด มีการพิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะ 5 ปีจากนี้ โดยในปีค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) และค.ศ.2017 (พ.ศ.2560) จัดสรรไว้ที่ 6,700 ล้านบาท และ 8,300 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มจาก 4,895 ล้านบาท ในปี 2015เพื่อยืนยันถึงความมั่นใจในแนวทาง
“นวัตกรรมที่เราทำเน้นว่าต้องขายได้ และอยู่ในหมวดของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยิ่งเรามีนวัตกรรมมากขึ้น จะทำให้สินค้าในหมวดนี้มีต้นทุนถูกลงได้ และเป็นสินค้าที่คนอยากจะใช้ แน่นอนว่าการทำ R&D ต้องได้งบประมาณจากผู้นำ และที่สำคัญคือความเชื่อว่าคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเราตั้งใจจริง เช่น ปูนซีเมนต์กิโลละ 2 บาท ตันละ 2,000 บาท ถ้าเป็นงานปูนปาสเตอร์ฉาบสวยๆ กิโลละ 20 กว่าบาท แต่ถ้าพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทันตกรรมอย่างพาสเตอร์หล่อฟันกิโลละ 100 บาท แต่ถ้าอุดฟันกิโลละหนึ่งล้านบาท เราต้องก้าวไปในทิศทางนี้”
นอกจากนี้ เพื่อเน้นถึงความสำเร็จและความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งการฉายภาพการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคตามเทรนด์โลก เอสซีจีจึงจัดงาน SCG Innovative Exposition 2015 ขึ้นบนพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร ที่ SCG Experience เพื่อนำเสนอนวัตกรรมสินค้าและบริการที่ตอบสนองทุกการใช้ชีวิตของผู้คนและสังคม รวมทั้ง กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตื่นตัว โดยเปิดให้ผู้สนใจได้ชมตลอดเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ภายในงานมีการนำเสนอนวัตกรรมจาก 3 ธุรกิจ เริ่มด้วยนวัตกรรมงานออกแบบเพื่อการอยู่อาศัย จากเอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ด้วยการนำเสนอเทรนด์ที่อยู่อาศัย หรือLiving Trend ในปี 2016/2017 โดยรวมนักวิจัย นักการตลาด และนักออกแบบมาทำงานร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ยังจัดแสดงเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ 3 มิติ หรือ 3D Printing ซึ่งตอบสนองการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบไร้ขอบเขต และลดการพึ่งพาแรงงานในการก่อสร้าง รวมทั้ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วย Recycle Aggregate ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การแสดงเทคโนโลยีบ้าน The Nest เพื่อการอยู่อาศัยโดยพึ่งพาเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และระบบ Active Airflow Syatem สร้างความสบายภายในบ้าน
นวัตกรรมพลาสติกเพื่อวงการแพทย์ จากเอสซีจี เคมิคอลส์ ด้วยความใส่ใจกับทุกช่วงชีวิตแม้เมื่อเจ็บป่วย โดยนำพลาสติกมาเป็นวัสดุทางเลือกเพื่อใช้ทางการแพทย์ ให้เกิดความสะดวก สะอาดและปลอดภัยมากขึ้น เช่น “เฝือกพอลิเมอร์” ที่ออกแบบให้เข้ากับสรีระผู้ป่วยและลักษณะการบาดเจ็บ ทำให้รู้สึกสบายและได้ประสิทธิภาพในการรักษา มีสารป้องกันแบคทีเรียช่วยลดกลิ่นจากความอับชื้น และวัสดุลดแรงกระแทก นอกจากนี้ ยังพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดโรคพังผืดรัดเส้นประสาทข้อมือ “Mini-Sure Kit“ เพื่อให้แพทย์ใช้งานง่ายขึ้น และลดโอกาสติดเชื้อ รวมทั้ง พัฒนาภาชนะอาหารที่ออกแบบพิเศษเพื่อผู้สูงอายุ รูปทรงจับถนัดมือ น้ำหนักเบา สะดวกกับการใช้
นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จากเอสซีจี แพคเกจจิ้ง ให้ความปลอดภัยและใช้ง่าย เช่น “บรรจุภัณฑ์ลูกฟูกลอนไมโครสำหรับใส่อาหาร” สามารถอุ่นได้โดยตรงในเตาอบไมโครเวฟ แข็งแรง น้ำหนักเบา ง่ายต่อการจับ และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ “Peel&Clear Lid Film” ฟิล์มใสเพื่อบรรจุภัณฑ์อาหาร สะดวกในการเปิดโดยฟิล์มไม่ติดหรือขาด ไม่มีฝ้าหรือไอน้ำ ทำให้มองเห็นอาหารด้านใน รักษาความสดและรสชาติได้นานขึ้น “Eazysteam” บรรจุภัณฑ์ระบายอาหารได้เองเมื่ออุ่นในเตาอบไมโครเวฟ ไม่ต้องตัดหรือเจาะบรรจุภัณฑ์ก่อนนำไปอุ่น ช่วยป้องกันการปนเปื้อน ตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภคปัจจุบันที่นิยมอาหารสำเร็จรูปและใส่ใจในความสะอาด
การก้าวมาถึงวันนี้ได้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า กุญแจแห่งความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรมคือ หนึ่ง ผู้นำองค์กรต้องทุ่มเทให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ แนวทาง และเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจนและทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง สอง วัฒนธรรมองค์กรต้องสอดรับกับเรื่องนี้ เพื่อหลอมรวมบุคลากรให้ไปในทิศทางเดียวกัน และสาม อย่าคิดทำเอง ต้องใช้การร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งต้องมีทั้งความเข้าใจและความไว้วางใจต่อกัน
10 ปีต่อไป... ยุคแห่งการร่วมมือ
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ 3 หน่วยธุรกิจ คือ เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เคมิคอลส์ และเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มุ่งมั่นให้เกิดผลคือการพยายามต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้ได้รากฐานที่มั่นคง ดังนั้น ก้าวต่อไปของการสร้างนวัตกรรมคือการมุ่งเน้นให้เกิด Breakthrough Innovation หรือนวัตกรรมที่เป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นการพลิกโฉมไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มากกว่านวัตกรรมที่เป็นเพียงการปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดีกว่าของเดิมเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Incremental Innovation
โดยในระยะ 10 ต่อไป นับตั้งแต่ปี 2015 จะเป็นยุคแห่งความร่วมมือ หรือ collaboration เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล สิ่งสำคัญคือการประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง เพื่อเลือกว่าจะสร้างนวัตกรรมใดด้วยตนเอง เช่น core technology หรือร่วมมือกับพันธมิตรรายใดที่เหมาะสม โดยใช้การสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยต่างๆ รวมทั้ง คู่ค้าทางธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วม และเกิดผลลัพธ์ที่ดีในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวต่อไปนั้น เอสซีจีมีหน่วยงานที่มีหน้าที่เสาะหาบุคลากรทั่วโลกที่มีความเก่งในแต่ละสาขาวิชาเพื่อให้เข้ามาร่วมกันสร้างนวัตกรรม โดยมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างวิจัย การจ้างทดสอบ หรือร่วมกันทำวิจัย พร้อมทั้ง การมีกฎเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยและรองรับในเรื่องของการรักษาความลับของงานวิจัยได้อย่างดี ในรูปแบบที่ช่วยให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย หรือ win-win collaboration
นอกจากนี้ เอสซีจียังมีความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก เพราะมีการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า หรือ value chain ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ด้วยการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ เช่น ในกลุ่มธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีการเพาะพันธุ์ต้นยูคาลิปตัสที่นำไปปลูก เพื่อมาผลิตเป็นกระดาษ จนถึงการสร้างสรรค์เป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการวิจัยและพัฒนาต้องลงลึกตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเช่นกัน
สำหรับตัวอย่างความร่วมมือเพื่อสร้างนวัตกรรมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงของเอสซีจีกับพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และคู่ธุรกิจ จากทั้งในและต่างประเทศมีมากมาย
ยกตัวอย่าง ความร่วมมือกับคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์นวัตกรรมปูนพลาสเตอร์ หรือ Anti-Microbial Dental Plaster สำหรับงานทันตกรรมรักษาฟัน งานฟันเทียม และงานจัดฟัน , ความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กับเอสซีจี แพคเกจจิ้ง เพื่อศึกษาบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แนวโน้ม (Trend) ในอนาคตของการเป็น Smart&Active Packaging เช่น บรรจุภัณฑ์ยืดอายุผลไม้ เพื่อชะลอการสุกและการสูญเสียคุณภาพสินค้าระหว่างการขนส่ง
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกากับเอสซีจีซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกันคิดค้น “บลูม” หรือ “Bloom : The Room for Living” นวัตกรรมซีเมนต์ โดยใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์มาออกแบบ ผลิตด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับเอสซีจี เคมิคอลล์ เพื่อพัฒนาการวิจัยโพลิโอเลฟินส์ โดยงานวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาหรือแคตทาลิสต์ ที่พัฒนาร่วมกันได้รับการจดลิขสิทธิ์แล้ว และงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีกำลังขยายผลสู่การปรับใช้จริงกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจนี้ รวมทั้ง ความร่วมมือระหว่างบริษัท Norner Holding AS ประเทศนอร์เวย์ กับเอสซีจี เคมิคอลส์ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพอลิเมอร์ระดับโลก เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยที่จะสามารถนำไปต่อยอดสู่นวัตกรรมสินค้าและบริการที่หลากหลายเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น
แน่นอนว่าการร่วมมือกับพันธมิตรในส่วนต่างๆ จะขยายออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมกับการสร้างความเข้มข้นของความร่วมมือ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นต้นแบบของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา โดยสิ่งที่ได้คือการได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีพันธกิจหรือหน้าที่หลักในการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้สู่สาธารณะ ซึ่งต่างจากธุรกิจหรือบริษัทเอกชนที่ต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจและต้องการเก็บองค์ความรู้เป็นความลับ จึงต้องหาแนวทางทำงานร่วมกันให้ได้อย่างกลมกลืน ทั้งวิธีการทำงาน กระบวนการทำงาน และความเข้าใจซึ่งกันและกัน นั่นคือต้องมีโจทย์วิจัยที่ให้ผลลัพธ์ในเชิงพาณิชย์ด้วย และการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยการรักษาความลับให้สมดุลกับการเผยแพร่
สำหรับพันธมิตรอื่นๆ เช่น สถาบันวิจัยของรัฐ ในตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ต้องมีการพัฒนาความร่วมมือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ค่อนข้างมาก เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเริ่มเห็นผลแล้วและมีแนวโน้มที่ดี แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดบางอย่างเพื่อให้สอดรับกับภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น การเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ เป็นต้น
ส่วนคู่ค้าที่เป็นเอกชนซึ่งมีภารกิจเหมือนกัน เนื่องจากเอสซีจีมีการพัฒนาและยกระดับด้านความสามารถในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมทำให้การร่วมมือกับพันธมิตรในส่วนนี้ทำได้ดีขึ้น จากเดิมที่ไม่มีองค์ความรู้หรือความสามารถมากพอที่จะแลกเปลี่ยน
“เดิมเรามีความรู้น้อยกว่า ไม่มีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนกับเขาได้อย่างไรแต่ตอนนี้เราสามารถจะติดต่อกับบริษัทชั้นนำระดับโลกได้แล้ว โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดร่วมกันให้เกิดเป็นนวัตกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือต้องดูเทรนด์โลก ดูความเก่งของเรา และดูว่าใครเก่งอะไร จากนั้นเราจึงไปร่วมมือได้อย่างถูกต้อง”
ในเรื่องกฎหมายต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม และในส่วนของตลาดที่มีอยู่รอบๆ เช่น ตลาดอาเซียนสามารถสร้างนวัตกรรมสำหรับประชากร 600 ล้านคน ซึ่งเอสซีจีมีเครือข่ายอยู่ทั่วเอเชียมีลูกค้ามากมายสำหรับสินค้านวัตกรรมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จึงมีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น
ขณะที่ข้อดีของประเทศไทยคือการมีกรอบความคิดในเรื่องการร่วมมืออยู่แล้ว สามารถใช้จุดเด่นหรือวัฒนธรรมของคนไทยที่มีความเป็นมิตรให้เป็นประโยชน์ในแง่การขับเคลื่อนวัตกรรม เพราะการสร้างนวัตกรรมไม่ได้ทำได้ด้วยคนๆ เดียว ดังนั้น การมีเพื่อนมากจึงมีโอกาสได้เปรียบ จึงควรใช้ประโยชน์จากการเป็นมิตรกับทุกคนทุกประเทศสร้างเพื่อนและพัฒนานวัตกรรม