xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ ต้นแบบพันธมิตรเอสซีจีด้านนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอสซีจีร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว”ศูนย์วิจัยด้านวิศวกรรม เอสซีจี - จุฬาฯ” หรือ “SCG - Chula Engineering Research Center” หลังจากการร่วมมือกันด้านการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปีค.ศ.2007 มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 9 ปี โดยมีงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจคือ เคมี ซีเมนต์ และเยื่อกระดาษ กับผลงานที่ดีมาโดยตลอด เช่น งานวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับปิโตรเคมี งานวิจัยด้านน้ำเสียจากโรงงานเยื่อกระดาษ งานวิจัยด้านการพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น ซึ่งมาจากศักยภาพที่มีทั้งห้องทดลอง เครื่องมือวิเคราะห์และอุปกรณ์วิจัยขั้นสูง พร้อมทั้งบุคลากรที่มีองค์ความรู้และความสามารถในการทำงานวิจัย

ที่ผ่านมา เอสซีจีได้มอบทุนสนับสนุนงานวิจัยให้นิสิตและอาจารย์ระดับปริญญาโทและเอก รวมทั้ง ปรับปรุงห้องปฎิบัติการและเครื่องมือวิจัย จนถึงปัจจุบัน มีนิสิตสำเร็จการศึกษาจากโครงการความร่วมมือดังกล่าว 50 คน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติกว่า 15 ฉบับ และสิทธิบัตร 12 ฉบับ ขณะเดียวกัน เพื่อการพัฒนาบุคลากรให้แข็งแกร่งขึ้นจุฬาฯ ได้จัดทำหลักสูตรการจัดการด้านพลังงานให้กับเอสซีจี โดยมีบุคลากรจากเอสซีจีเข้าร่วม 15 คน และเกิดความร่วมมือจากหลักสูตรดังกล่าว 12 โครงการ
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบของการสร้างงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เอสซีจีทำร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการสร้างความร่วมมือที่ดีต่อไปในอนาคตกับพันธมิตร หรือหน่วยงานภายนอกองค์กร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่มีการพัฒนาด้านการวิจัยระหว่างเอสซีจีกับจุฬาฯ มาอย่างยาวนานพอสมควร ในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญระหว่างเอสซีจีกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบของสถาบันการศึกษาชั้นนำกับเอสซีจีซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ ด้วยการที่ทั้งสององค์กรมีเป้าหมายและความมุ่งมั่นเดียวกันในการช่วยพัฒนาประเทศผ่านการวิจัย

นี่คือก้าวสำคัญของความร่วมมือ ซึ่งต่อไปจะมีการเปิดกว้างให้คณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ฯลฯ เนื่องจากจุฬาฯ มีศาสตร์ต่างๆ มากมายถือเป็นสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary) ที่สามารถเชื่อมโยงความร่วมมือไปยังศาสตร์ต่างๆได้ ให้องค์กรเอกชนหรือบริษัทต่างๆ ได้มาเข้าร่วม อย่างไรก็ตาม นี่เป็นจุดเริ่มให้คณะต่างๆ เข้าร่วมกับเอสซีจี จากเดิมซึ่งนักวิจัยมักจะพึงพอใจกับการมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยเท่านั้น แต่เมื่อคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเห็นร่วมกันว่าในภาวะที่ประเทศชาติต้องการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงมีการกระตุ้นให้นักวิจัยร่วมมือต่อยอดงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชน ไม่ใช่จบการวิจัยเมื่อได้รับการตีพิมพ์เท่านั้น ซึ่งเอสซีจีเป็นต้นแบบหนึ่งที่ดีกับการที่ได้ร่วมมือกันเช่นนี้

ยิ่งกว่านั้น ยังมีแนวโน้มที่นิสิตเริ่มให้ความสนใจมาเป็นนักวิจัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตการเป็นนักวิจัยมักจะเป็นงานที่มีรายได้ไม่จูงใจ แต่เมื่อเอสซีจีมีการสนับสนุนการวิจัยอย่างมากและต่อเนื่อง จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างยิ่ง ทำให้นิสิตที่อยากจะเป็นนักวิจัยได้เห็นอนาคตของตนเองว่ามีโอกาสก้าวหน้า ขณะที่ ในส่วนของมหาวิทยาลัยมีการกระตุ้นนิสิตที่เข้ามาศึกษาตั้งแต่ปีแรก ให้รับรู้ถึงโครงการเช่นนี้และชี้ให้เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งต่อตัวนิสิตเองและที่สำคัญยิ่งขึ้นคือต่อประเทศชาติ

ความร่วมมือกับเอสซีจีทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีการต่อยอดไปเป็นทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและที่สำคัญคือได้พัฒนานักวิจัยร่วมกัน จะเห็นว่าทั้งสององค์กรมีจุดอ่อนและจุดแข็งซึ่งเมื่อได้นำมาร่วมมือกันเสริมสร้างจุดแข็งซึ่งกันและกัน นับเป็นความต้องการอย่างยิ่งของประเทศชาติ สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ที่ย้ำว่านักวิชาการหรือนักวิจัยอย่าทำงานคนเดียว และโจทย์วิจัยควรมีการปรึกษาหารือร่วมกันกับภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม จึงจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และเป็นความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานวิจัยในการใช้แนวรุกด้วยการกระตุ้นให้นักวิจัยนำเสนองานหรือแนวคิดในการวิจัยไปสู่ภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาแนวทางให้เกิดความร่วมมือกัน เช่น เอสซีจีเป็นตัวอย่างที่ดีมากด้วยการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ที่มีการพัฒนาสร้างศูนย์วิจัยร่วมกัน จากเดิมที่เป็นแนวรับคือการรอให้ภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมเข้ามาหาเท่านั้น

“สมัยก่อนเรารอให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาหาเรา แต่ปัจจุบันเรากระตุ้นให้อาจารย์และนักวิจัยของเราออกไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อบกว่าเรามีองค์ความรู้อะไรบ้าง จะร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ทำให้เกิดการสร้างแล็บวิจัยกันในวันนี้ ทำนองเดียวกัน เราอาจจะไปทำงานวิจัยที่เอสซีจีเพราะมีแล็บที่นั่นด้วย”

นอกจากเอสซีจี เมื่อมองในภาพรวมอุตสาหกรรมยังมีความร่วมมืออีกมาก เช่น อุตสาหกรรมยาที่ร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์และเภสัชศาสตร์ ซึ่งมองว่าน่าจะยังก้าวไปได้อีกไกล โดยเฉพาะสมุนไพรไทย เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนอื่นไม่มีแต่เรามีและเราไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ หรืออุตสาหกรรมพลังงาน เช่น น้ำมัน มีความร่วมมือกันอย่างหลากหลาย และน่าจะมีการต่อยอดต่อไปได้

สำหรับอุปสรรคของการร่วมมือ เนื่องจากมีการพูดคุยกันแบบพี่น้องและดูข้อกำจัดร่วมกันทำให้สามารถแก้ปัญหาไปได้มาก ขณะที่ ในส่วนของภาครัฐ ในวันนี้มีการสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งเมื่อการผลักดันงานวิจัยสามารถทำได้ต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นหนทางสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น